ข่าว

3เหล่าทัพบูรณาการน้ำท่วม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงานพิเศษ : '3 เหล่าทัพบูรณาการน้ำท่วม' โดย ทีมข่าวความมั่นคง

          วิกฤติน้ำท่วมในปีนี้สร้างความเสียหายอย่างหนัก เพราะไม่เพียงพืชสวนไร่นาเท่านั้น แต่นั่นหมายรวมถึงความเป็นอยู่ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องที่พักพิงของประชาชนกว่าหลายแสนครอบครัวด้วย แม้ว่าทุกส่วนราชการจะพยายามผนึกกำลังในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนแล้วก็ตาม โดยเฉพาะการเข้าไปอุดช่องโหว่ของสันเขื่อนที่สุ่มเสี่ยงเพื่อต้านปริมาณน้ำที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

          กองทัพถือเป็นกำลังสนับสนุนชั้นดีให้แก่รัฐบาลในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพิษภัยน้ำท่วมในครั้งนี้อย่างมาก โดยล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เตรียมเสนอแผนการจัดการบริหารน้ำ รวมถึงแผนระยะยาวในการป้องกันน้ำท่วม ด้วยการขยายโครงการแก้มลิง และการสร้างแนวสันเขื่อนในพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม

          ขณะเดียวกันยังได้สั่งการไปยังทุกกองทัพภาค ให้ดำเนินการจัดทำแผนเพื่อป้องกันน้ำท่วมในแต่ละจังหวัด โดยร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเสนอต่อรัฐบาลต่อไป แต่ทั้งหมดทั้งมวลในการแก้ไขปัญหาอยู่ที่การผนึกกำลังของทุกส่วนราชการ เพราะหากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่ร่วมมือกันอาจจะยิ่งเป็นการ “ซ้ำเติม” ปัญหาในขณะนี้ก็เป็นได้

          สำหรับการผนึกกำลังของ “กองทัพ” ครั้งนี้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้สั่งการตรงไปยัง พล.อ.ดุลกฤต รักษ์เผ่า ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จัดยุทโธปกรณ์ และสรรพกำลังพลหน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ทุกกองทัพภาคลงไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนน้ำท่วมอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการซ่อมประตูระบายน้ำบางโฉมศรี

          ขณะที่กองทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการให้เตรียมสถานที่พักพิงให้แก่ประชาชนในพื้นที่ค่ายทหาร 9 แห่ง สามารถรองรับประชาชนได้กว่า 6 หมื่นคน รวมถึงให้หน่วยระดับกองพันนำชุดสูทกรรมของหน่วยออกไปตั้งจุดประกอบอาหารในพื้นที่น้ำท่วม กรมแพทย์ทหารบก จัดยารักษาโรคที่จำเป็นแจกจ่ายประชาชน พร้อมจัดชุดแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการอย่างต่อเนื่อง

          นอกจากนี้ได้มอบให้กรมการขนส่งทหารบกจัดรถยนต์บรรทุกเพื่อเตรียมการขนส่งประชาชนในพื้นที่ กทม. หากเกิดน้ำท่วมและรถยนต์ขนาดเล็กไม่สามารถสัญจรไปมาได้ และใช้เฮลิคอปเตอร์บินสำรวจสภาพพื้นที่ใน กทม. และปริมณฑล เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำและรายงานสภาพการจราจรผ่านสถานีวิทยุและโทรทัศน์ในเครือกองทัพบกให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

          ปัจจุบันกองทัพบกจัดส่งเรือไฟเบอร์กลาส 380 ลำ ชุดเครื่องครัว 400 ชุด และถุงยังชีพ 1,100 ชุด ไปเสริมการช่วยเหลือน้ำท่วมวิกฤติใน จ.พระนครศรีอยุธยา, ลพบุรี และนครสวรรค์ ปัจจุบันกองทัพบกได้ใช้กำลังทหารจำนวน 14,765 นาย รถยนต์บรรทุก 923 คัน เรือท้องแบน 420 ลำ เรือยนต์ผลักดันน้ำ 10 ลำ รถครัวสนามเคลื่อนที่ 5 คัน ชุดแพทย์เคลื่อนที่ ชุดประปาสนาม เข้าให้การช่วยเหลือโดยบูรณาการร่วมกับส่วนราชการและภาคเอกชน

          ขณะที่กองทัพเรือ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้สั่งการด้วยการจัดกำลังพลพร้อมยุทโธปกรณ์เร่งกู้ประตูระบายน้ำบางโฉมศรี เพราะถือเป็นจุดหนึ่งที่สำคัญในการป้องกันน้ำไม่ให้เข้ามาท่วมในพื้นที่ กทม. ซึ่งกองทัพเรือได้จัดเรือระบายพลขนาดเล็ก (LCVP) จากกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ และกองเรือลำน้ำ กองเรือยุทธการ จำนวน 2 ลำ และรถชานต่ำ จำนวน 2 คัน

          นอกจากนี้กองทัพเรือยังได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยบูรณาการการปฏิบัติของหน่วยต่างๆ ในการผลักดันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ให้มวลน้ำที่ไหลมาจากตอนเหนือของประเทศไหลออกสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด โดยได้จัดกำลัง ได้แก่ เรือหลวงแสมสาร เรือหลวงมารวิชัย เรือหลวงกลึงบาดาล เรือขนส่งทางน้ำ เรือบรรทุกน้ำ วางกำลังในพื้นที่ต่างๆ เช่น คลองลัดโพธิ์ (ด้านเหนือและด้านใต้) สะพานพุทธยอดฟ้า และจัดกำลังพลสนับสนุนการดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง

          ทั้งนี้กองทัพเรือโดยการมอบหมายของรัฐบาลผ่านกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้สั่งการและอำนวยการปฏิบัติของหน่วยต่างๆ ที่มาร่วมในการผลักดันน้ำ  ได้แก่ กรมเจ้าท่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กองทัพบก การท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเป็นเอกภาพ ทั้งนี้กองทัพเรือโดยกรมอุทกศาสตร์ ได้คำนวณกระแสน้ำและปริมาณห้วงเวลาที่เหมาะสมในการผลักดันน้ำ โดยได้สั่งการให้หน่วยต่างๆ ดำเนินการในแต่ละห้วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป

          สำหรับกองทัพอากาศ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศ และหน่วยขึ้นตรงกองทัพอากาศทั่วประเทศ ออกช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ที่ประสบความเดือดร้อนจากอุทกภัย โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้ที่ตั้งหน่วยของกองทัพอากาศ นอกจากนี้ยังได้เตรียมกำลังพล ยานพาหนะ เรือท้องแบน ตลอดจนอากาศยาน พร้อมอุปกรณ์ช่วยเหลือไปยังพื้นที่ประสบภัยอย่างเร่งด่วนเมื่อได้รับการร้องขออีกด้วย

          โดยในห้วงที่ผ่านมา ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศ และกองบินต่างๆ ทั่วประเทศ ออกช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ยุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การใช้เฮลิคอปเตอร์บินนำอาหารสำเร็จรูปบรรจุใส่กล่องโฟมไปหย่อนให้แก่ประชาชนที่ถนนถูกตัดขาด เพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการเบื้องต้น การสนับสนุนภารกิจสำรวจพื้นที่ประสบภัยทางอากาศเพื่อดูปริมาณและเส้นทางน้ำ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ