คอลัมนิสต์

แก้ก.ม.'ติดอาวุธ'บนเรือปราบโจรสลัด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกาะติด'หมู่เรือปราบปรามโจรสลัด'เล็งชงแก้ก.ม.'ติดอาวุธ'บนเรือสินค้า : ตะลุยกองทัพ โดยปัญญา ทิ้วสังวาลย์

            พลันที่คณะรัฐมนตรียุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อนุมัติให้กองทัพเรือจัด "หมู่เรือปราบปรามโจรสลัดชุดที่ 2" เพื่อออกไปปฏิบัติภารกิจปราบปรามกลุ่มโจรสลัดในอ่าวเอเดน ประเทศโซมาเลีย ที่ออกปล้นสะดมเรือสินค้าไทยและต่างชาติ ที่สร้างมูลค่าความเสียหายนับล้านล้านบาท พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ จึงจัดกำลังของกองทัพเรือเข้าร่วมภารกิจดังกล่าวทันที

             หมู่เรือปราบปรามโจรสลัดชุดที่ 2 ประกอบด้วย เรือหลวงสิมิลัน เรือหลวงนราธิวาส รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ และชุดปฏิบัติการพิเศษจากศูนย์สงครามพิเศษทางเรือ 2 ชุด มีกำลังพลรวมทั้งสิ้น 349 นาย เริ่มปฏิบัติภารกิจตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม
 
             ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12-13 กันยายน พล.ร.อ.เถกิงศักดิ์ วังแก้ว เสนาธิการทหารเรือ พร้อมด้วย พล.ร.อ.สุวิทย์ ธาระรูป ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ และคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมและให้กำลังใจการทำหน้าที่ของเหล่าราชนาวีไทย

             น.อ.ธานินทร์ ลิขิตวงศ์ ผู้บังคับการหมู่เรือปราบปรามโจรสลัด (มปจ.) เผยว่า ในห้วง 2 เดือนที่ผ่านมา อุปสรรคเท่าที่พบของ มปจ.คือ "สภาพอากาศ" ที่ช่วงนี้มีคลื่นลมรุนแรง แต่ก็ทำให้โจรสลัดลงมือน้อยลงไปด้วย และได้ปรับเปลี่ยนเป้าหมายจากเรือขนาดเล็กเป็น "เรือขนาดใหญ่" แทน และเปลี่ยนมาลงมือ "ใกล้ชายฝั่ง" มากขึ้น จากปกติที่มักจะลงมือในจุดที่ห่างชายฝั่งมากๆ

             "ช่วงนี้เหตุปล้นเรือส่วนใหญ่จะเกิดใกล้ชายฝั่งอ่าวเอเดนประมาณ 20-30 ไมล์ รวมทั้งพื้นที่ทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลใกล้ชายฝั่งประเทศเยเมน เพราะบริเวณดังกล่าวไม่ใช่ทะเลหลวง ทำให้เรือรบต่างชาติไม่มีอำนาจเดินเรือเข้าไปได้"

             น.อ.ธานินทร์กล่าวถึงมาตรการป้องกันโจรสลัดในขณะนี้ว่า การป้องกันเรือสินค้าจะต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งสองฝ่าย ซึ่งกองกำลังนานาชาติจะเน้นเรื่องการทำ "คู่มือ" ให้เรือสินค้าให้ปฏิบัติตาม เช่น การทำ "ห้องนิรภัย" หรือขึงลวดหนามไว้รอบเรือ เป็นต้น

             นอกจากนี้ เรือสินค้าส่วนหนึ่งได้พยายามจัดระบบรักษาความปลอดภัยบนเรือสินค้าเอง เช่น การจ้าง "อาร์มการ์ด" ไว้บนเรือ อย่างไรก็ตาม หากเป็นเรือสินค้าขนาดใหญ่จะต้องใช้อาร์มการ์ดเป็นจำนวนมาก และย่อมทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามไปด้วย

             ดังนั้น มาตรการที่ปลอดภัย และประหยัดที่สุด คือ การปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ และวางแผนการติดต่อสื่อสารร่วมกับ "เรือรบ" ส่วนอาร์มการ์ดเป็นเพียง "มาตรการเสริม" เท่านั้น

             สำหรับเรือสินค้าไทยนั้นกำลังดำเนินการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จะสามารถใช้อาร์มการ์ดได้แค่ไหน ซึ่งอาจจะต้องมีการ "แก้ไขกฎหมาย" ให้สามารถนำอาวุธขึ้นมาบนเรือสินค้าได้ด้วย

             “กองทัพเรือได้เตรียมกำลังพลไว้เช่นกัน หากกฎหมายออกมาชัดเจนก็สามารถจัดกำลังออกไปปฏิบัติภารกิจดังกล่าวได้ ทั้งนี้ พ.ร.บ.เกี่ยวกับการปราบปรามโจรสลัด ปี 2534 ได้กำหนดเฉพาะเจ้าหน้าที่ทหารเรือเป็นผู้มีอำนาจ แต่อาวุธที่ใช้ได้แค่ปืนลูกซอง เพราะเป็นเรือที่ไม่ใช่เรือรบ ดังนั้น อาวุธที่ใช้ได้จะต้องเป็นอาวุธในการป้องกันตนเองเท่านั้น ไม่ใช่ใช้อาวุธทำลายล้าง ขณะที่กลุ่มโจรสลัดกลับใช้อาวุธร้ายแรง เช่น จรวดอาร์พีจี” ผบ.มปจ.กล่าวถึงอุปสรรคสำคัญในการติดอาวุธสู้โจรสลัด

             น.อ.ภราดร พวงแก้ว ผู้บังคับการหน่วยเรือปราบปรามโจรสลัด (นปจ.) กล่าวถึงข้อควรระวังในการปฏิบัติหน้าที่ว่า ในการใช้กำลังติดตามกลุ่มโจรสลัดต้องทิ้งระยะห่างไว้ประมาณ 1,000 หลา ซึ่งเป็นระยะทำการของ "จรวดอาร์พีจี" ที่เป็นอาวุธสำคัญของโจรสลัด ขณะที่การปฏิบัติงานของหน่วยเฮลิคอปเตอร์ก็จะต้องระมัดระวังการโจมตีจากกลุ่มโจรสลัดด้วยเช่นกัน

             อย่างไรก็ตาม กำลังมีความหวั่นเกรงว่าโจรสลัดจะใช้อาวุธตอบโต้ที่รุนแรงมากขึ้น หลังกลุ่มโจรสลัดมีการใช้อาวุธ "ภาคพื้นสู่อากาศ" ในพื้นที่ชายฝั่ง แต่ยังไม่ได้มีการนำมาใช้กับปฏิบัติการทางเรือ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงปืนอาก้า และจรวดอาร์พีจีเท่านั้น

             ส่วนจุดลงมือของโจรสลัดเริ่มมีการเข้าไปปล้นเรือที่ "เมืองซาลาลาห์" ประเทศโอมาน โดยเน้นเรือขนสารเคมีกับน้ำมันที่มีมูลค่าสูง ประกอบกับจุดดังกล่าวเป็นจุดที่มีการวางกำลังของเจ้าหน้าที่น้อย และเริ่มมีการ "จับตัวประกัน" เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ติดตามหรือใช้กำลัง

             "ปัจจุบันมีตัวประกันที่โจรสลัดจับกุมไว้ประมาณ 322 คน และมีเรือสินค้าประมาณ 12 ลำ โดยจะนำเรือไปจอดไว้ที่ชายฝั่งโซมาเลียด้านทิศใต้ เมื่อออกมาปฏิบัติการก็มักจะนำตัวประกันมาเป็นข้อต่อรองด้วย ดังนั้น เจ้าหน้าที่จะทำอะไรมากก็ไม่ได้"

             ส่วน "ผลงาน" บางส่วนของหมู่เรือปราบปรามโจรสลัด เช่น การแจ้งเตือนให้เรือ THOR HARMONY เรือสินค้าสัญชาติไทย ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดที่เกิดเหตุปล้นเรือให้เร่งความเร็วเข้าหา ร.ล.สิมิลัน ให้เร็วที่สุด ก่อนที่ มปจ.จะคุ้มกันเรือดังกล่าวไปส่งยังจุดที่ปลอดภัย หรือกรณีที่ ร.ล.สิมิลัน เข้าคุ้มกันเรือสินค้า MSC NAMIBIA II สัญชาติไลบีเรีย ซึ่งถูกเรือโจรสลัดระดมยิงด้วยจรวดอาร์พีจี และปืนเล็ก เป็นต้น

             นี่เป็นเพียงตัวอย่างผลงานเพียงเสี้ยวเล็กๆ ของ "หมู่เรือปราบปรามโจรสลัด" ชุดที่ 2 ที่สะบัดธงราชนาวีไทยคุ้มครองผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของเรือสินค้าไทย และเรือสินค้านานาชาติให้ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ