ข่าว

"น้ำตาล-ป้อนข้าว" เข้าเรือนจำ ลุ้นประกัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"น้ำตาล-ป้อนข้าว" พริตตี้-โบรกเกอร์ เข้าเรือนจำลุ้นผลประกัน สู้อุทธรณ์โอนหุ้นเสี่ยชูวงษ์ 

 

               "วันเพ็ญ" พี่สาวเสี่ยชูวงษ์ ขอบคุณรักษาความเป็นธรรม ชูวงษ์ไม่เสียชื่อเสียง ส่วนพริตตี้-โบรกเกอร์ ยื่น 3-5 ล้านประกัน ศาลส่งศาลอุทธรณ์สั่งให้-ไม่ให้ประกัน

 

อ่านข่าว ด่วน จำคุก 8 ปี บรรยิน ปลอมเอกสารโอนหุ้นเสี่ยชูวงษ์

 

               20 มี.ค.63 - ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง 63  เมื่อเวลา 09.00 น. ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีปลอมเอกสารโอนหุ้นของนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง หรือเสี่ยจืด นักธุรกิจรับเหมาหมื่นล้าน วัย 50 ปี นับ 300 ล้านบาท (คดีหมายเลขดำ อ.305/2561 , อ.3352,อ.3354/2559 รวมพิจารณาทั้งหมดเป็นคดีเดียวกัน) ที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เป็นโจทก์ และนางศิริรัตน์ แซ่ตั๊ง อายุ 55 ปี ภรรยาของนายชูวงษ์ ในฐานะผู้จัดการมรดกสามี ผู้เสียหาย เป็นโจทก์ร่วม

 

               ยื่นฟ้อง น.ส.กัญฐณา หรือน้ำตาล ศิวาธนพล อายุ 30 ปี อดีตพริตตี้ , น.ส.อุรชา หรือป้อนข้าว วชิรกุลฑล (ชื่อปัจจุบัน น.ส.วัชรียา หรือน้ำมนต์ วัชรประยงค์วุฒิ) อายุ 29 ปี เจ้าหน้าที่การตลาด หรือโบรกเกอร์บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง และคนสนิทของ พ.ต.ท.บรรยิน, พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อายุ 57 ปี อดีต รมช.พาณิชย์ และ น.ส.ศรีธรา พรหมา อายุ 56 ปี มารดาของ น.ส.อุรชา เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 , ลักทรัพย์ 334, 335 วรรคหนึ่ง (5) (7) กับวรรคสาม , รับของโจร 357

 

               คดีนี้อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 1 ก.พ.61 ส่วนครอบครัวนายชูวงษ์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 13 ต.ค.59 ซึ่งพฤติการณ์คดีกล่าวหาร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและโอนหุ้น มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ของนายชูวงษ์ไปโดยมิชอบ ก่อนที่นายชูวงษ์จะเสียชีวิตจากเหตุรถยนต์หรูยี่ห้อเลกซัสสีดำ ทะเบียน ภฉ 1889 กทม. ของนายชูวงษ์ ซึ่ง พ.ต.ท.บรรยิน เป็นผู้ขับ เกิดเสียหลักไปชนกับต้นไม้ที่ริม ถ.เฉลิมพระเกียรติ ร.9 ระหว่างซอย 48 กับซอย 50 แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กทม. ช่วงปี 2558

 

               ซึ่งพฤติการณ์คดีได้กล่าวหา น.ส.กัญฐณา จำเลยที่ 1 ที่รู้จักกับนายชูวงษ์ กับ พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 3 ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ไปดำเนินการถอนและโอนหลักทรัพย์ของนายชูวงษ์ ต่อบริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี โอเอสเค ประเทศไทย ขณะที่ น.ส.อุรชา จำเลยที่ 2 โบรกเกอร์ซึ่งเป็นคนสนิทของ พ.ต.ท.บรรยิน นั้น ร่วมกับ พ.ต.ท.บรรยิน ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ไปดำเนินการถอนและโอนหลักทรัพย์ของนายชูวงษ์ ต่อบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน)

 

               สำหรับคดีที่ครอบครัวนายชูวงษ์ยื่นฟ้องนั้น กล่าวหาว่ามีการจัดทำใบขอถอน/โอนหลักทรัพย์ด้วยปากกาพิเศษที่สามารถลบได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระงับสิทธิระหว่างนายชูวงษ์ กับบริษัทหลักทรัพย์ (AEC จก.) วันที่ 5 มิ.ย. 2558 จำเลยร่วมกันนำเอกสารนั้น-สำเนาบัตร ปชช.นายชูวงษ์ ไปยื่นโอนหุ้นมูลค่า 38,050,000 บาทกับบริษัทหลักทรัพย์ไปโดยทุจริต

 

               และกรณีกล่าวหาจัดทำใบขอถอน/โอนหลักทรัพย์ด้วยปากกาพิเศษที่สามารถลบได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระงับสิทธิระหว่างนายชูวงษ์ กับบริษัทหลักทรัพย์ (RHB) วันที่ 22 มิ.ย. 2558 จำเลยร่วมกันนำเอกสารนั้น-สำเนาบัตร ปชช.นายชูวงษ์ ไปยื่นโอนหุ้นมูลค่า 228 ล้านกับบริษัทหลักทรัพย์ไปโดยทุจริต ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ และได้ประกันตัวไปด้วยหลักทรัพย์ 3-5 ล้านบาท ระหว่างพิจารณา ส่วน พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 3 เพิ่งถูกเพิกถอนการประกันตัวเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2563 เนื่องจากปรากฏเหตุว่า พ.ต.ท.บรรยิน กำลังถูกสอบสวนคดีมีคนร้ายลักพาตัวพี่ชายของผู้พิพากษาอาวุโสเจ้าของสำนวนคดีโอนหุ้นนายชูวงษ์ เพื่อบังคับกดดันผลคดีให้ยกฟ้อง กระทั่งพี่ชายผู้พิพากษานั้นเสียชีวิต

 

               โดยวันนี้ อดีตพริตตี้ จำเลยที่ 1, อดีตโบรกเกอร์ และมารดา จำเลยที่ 2, 4 ที่ได้ประกันตัวมาศาลตามนัด ด้าน พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 3 ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ศาลไม่ได้เบิกตัวมาศาล โดยได้อ่านคำพิพากษาให้ฟังผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ด้วยระบบปฏิบัติการออนไลน์แอพพลิเคชั่น Cisco Jabber (ซิสโก้ แจ๊บเบอร์) จากห้องพิจารณาคดีของศาลถ่ายทอดสดไปยังเรือนจำ โดยนายวรภัทร์ ตั้งภากรณ์ บุตรชายของ พ.ต.ท.บรรยิน ก็ได้เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาในส่วนของบิดาด้วย

 

               ขณะที่ฝ่ายครอบครัวของนายชูวงษ์ มีนางวันเพ็ญ ธนธรรมสิริ พี่สาวของนายชูวงษ์ พร้อมคนใกล้ชิด มาศาลร่วมฟังคำพิพากษา

 

               สำหรับบรรยากาศการพิจารณาคดี มีผู้พิพากษาขึ้นนั่งบัลลังก์ 5 คน พร้อมถ่ายทอดภาพวิดีโอ พ.ต.ท.บรรยิน จากเรือนจำ โดยบริเวณห้องพิจารณามีเจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือคอร์ทมาแชล (Court Marshall) ร่วมรักษาความปลอดภัยเข้มงวด ขณะที่ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษาโดยละเอียดกว่า 3 ชั่วโมง

 

               โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของพนักงานอัยการโจทก์ที่ 1 และนางศิริรัตน์ ภรรยาของนายชูวงษ์ โจทก์ที่ 2 ประกอบพยานจำเลยทั้งสี่แล้วเห็นว่า เอกสารใบคำขอ/ถอนโอนหลักทรัพย์ทั้งสองบริษัทที่โอนหุ้นไปให้ น.ส.กัญฐณาหรือน้ำตาล อดีตพริตตี้ จำเลยที่ 1 และ น.ส.ศรีธรา มารดาของอดีตโบรกเกอร์ จำเลยที่ 4 และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายชูวงษ์ มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความ

 

               อีกทั้งการโอนไม่ได้เป็นไปตามระเบียบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทหลักทรัพย์ 2 แห่งตามที่เจ้าหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเจ้าหน้าที่ของบริษัท อาร์เอชบี โอเอสเค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) เบิกความ

 

               นอกจากนี้จากพยานบุคคล , พยานเอกสาร และวัตถุพยานซึ่งเป็นบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิด รับฟังได้ว่า น.ส.กัญฐณาหรือน้ำตาล อดีตพริตตี้ จำเลยที่ 1 กับ พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 3 และ น.ส.อุรชาหรือป้อนข้าว อดีตโบรกเกอร์ จำเลยที่ 2 กับ พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 3 มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเป็นพิเศษมากกว่านายชูวงษ์ ไม่มีเหตุที่นายชูวงษ์จะโอนหุ้นจำนวนมากให้แก่ น.ส.กัญฐณาหรือน้ำตาล อดีตพริตตี้ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นมารดาของอดีตโบรกเกอร์

 

               โดยทั้ง น.ส.กัญฐณาหรือน้ำตาล อดีตพริตตี้ จำเลยที่ 1 และน.ส.อุรชาหรือป้อนข้าว อดีตโบรกเกอร์ จำเลยที่ 2 มีหน้าตาที่ดี พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 3 ชอบพอ จึงร่วมกันยักย้ายหุ้นของนายชูวงษ์ ซึ่งจำเลยร่วมกันไปรับประทานอาหาร , ตีกอล์ฟ , เที่ยวประเทศอังกฤษ โอนหุ้นให้น.ส.กัญฐณาหรือน้ำตาล อดีตพริตตี้ จำเลยที่ 1 และน.ส.อุรชาหรือป้อนข้าว อดีตโบรกเกอร์ จำเลยที่ 2 ไปซื้อทรัพย์สินฟุ่มเฟือย ซึ่ง น.ส.อุรชาหรือป้อนข้าว จำเลยที่ 2 ตั้งครรภ์ แพทย์เบิกความผลการตรวจว่าเด็กในครรภ์มีการปฏิสนธิ ประมาณเดือน มิ.ย.- ต้นเดือน ก.ค.58 ก่อนนายชูวงษ์เสียชีวิตวันที่ 28 ก.ค.58 เป็นเวลาไม่นาน ซึ่งพยานหลักฐานไม่พบว่านายชูวงษ์ มีพฤติกรรมสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1-2 ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง

 

               ส่วนการโอนหุ้นที่ น.ส.อุรชาหรือป้อนข้าว อดีตโบรกเกอร์ จำเลยที่ 2 อ้างว่าไม่สามารถรับโอนหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนเองได้ เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ ต้องให้น.ส.ศรีธรา จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นมารดารับโอนแทน ขณะที่โทรศัพท์ที่ใช้ในการยืนยันการโอนหุ้นอยู่ในความครอบครองของ พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 3 เสียงพูดโทรศัพท์ที่ยืนยันการโอนหุ้นไม่ใช่เสียงของนายชูวงษ์ ซึ่งพยานที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับนายชูวงษ์และ พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 3 ก็ยืนยันว่าเป็นเสียงจำเลยที่ 3

 

               โดยก่อน-หลังการโอนหุ้นจากการตรวจสอบการใช้โทรศัพท์และภาพจากกล้องวงจรปิดในสถานที่ต่างๆ พบว่า พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 3 กับน .ส.กัญฐณาหรือน้ำตาล อดีตพริตตี้ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 กับน.ส.อุรชาหรือป้อนข้าว อดีตโบรกเกอร์ จำเลยที่ 2

 

               จำเลยที่ 2 ได้พบปะและพูดคุยบ่อย รวมทั้งภาพระหว่างที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ไปเบิกเงินจากที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ที่รับโอนมา

 

               จึงทำให้เชื่อว่าในการโอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 มารดาของอดีตโบรกเกอร์นั้น นายชูวงษ์ไม่มีส่วนรู้เห็น แต่ พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับน.ส.กัญฐณาหรือน้ำตาล อดีตพริตตี้ จำเลยที่ 1 และน.ส.อุรชาหรือป้อนข้าว อดีตโบรกเกอร์ จำเลยที่ 2 ร่วมกันปลอมใบคำขอถอน/โอนหลักทรัพย์และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายชูวงษ์ แล้วโอนหุ้นบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) จำนวน 9.5 ล้านหุ้น มูลค่า 228 ล้านบาท รวมทั้งร่วมกันโอนหุ้นของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) , บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (CPN) หลักทรัพย์ของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) รวมมูลค่า 35,050,000 บาท ให้แก่ น.ส.ศรีธรา จำเลยที่ 4 มารดาของอดีตโบรเกอร์

 

               ส่วน น.ส.ศรีธรา จำเลยที่ 4 ศาลเห็นว่า ขณะที่บุตรสาวคือ น.ส.อุรชาหรือป้อนข้าว อดีตโบรกเกอร์ จำเลยที่ 2 กับ พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 3 ร่วมกันปลอมคำขอถอน/โอนหลักพรัพย์และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายชูวงษ์นั้น จำเลยที่ 2-3 เป็นคนดำเนินการ โดยจำเลยที่ 2 แจ้งกับมารดาจำเลยที่ 4 ว่าคนรักของตนเป็นคนดำเนินการโอนหุ้นให้เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ และจะเปิดบัญชีรับเองไม่ได้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่จำเลยที่ 4 ที่เป็นมารดาย่อมเชื่อ

 

               พยานหลักฐานจึงยังฟังไม่ได้ว่า น.ส.ศรีธรา จำเลยที่ 4 มีส่วนร่วมในการปลอมใบคำขอถอน/โอนหลักทรัพย์และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายชูวงษ์ดังกล่าวตามฟ้อง เพียงแต่เข้ามาเกี่ยวข้องหลังจากจำเลยที่ 2-3 โอนหุ้นเข้ามาในบัญชีหลักทรัพย์ที่เปิดไว้ในชื่อจำเลยที่ 4 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2-3 ร่วมกันขายหุ้นที่รับโอนมาเข้าบัญชีแล้วให้จำเลยที่ 4 เป็นคนเบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าว ซึ่งในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยที่ 4 ว่าร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจรแต่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง แม้นางศิริรัตน์โจทก์ที่ 2 ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2,3,4 ว่าร่วมกันลักทรัพย์และรับของโจรเงินที่ได้จากการขายหุ้นดังกล่าวด้วย แต่ศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าข้อหาดังกล่าวไม่มีมูล ซึ่งคดีถึงที่สุดไปแล้ว

 

               จึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-3 มีความผิดฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ให้จำคุก น.ส.กัญฐณา หรือน้ำตาล อดีตพริตตี้ จำเลยที่ 1 และ น.ส.อุรชา หรือป้อนข้าว อดีตโบรกเกอร์ จำเลยที่ 2 คนละ 4 ปี

 

               ส่วน พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 3 ให้จำคุก 2 กระทงๆ ละ 4 ปี รวมจำคุก 8 ปี โดยให้ยกฟ้อง น.ส.ศรีธรา มารดาของอดีตโบรกเกอร์ จำเลยที่ 4

 

               ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว ทนายความของ น.ส.กัญฐณา หรือน้ำตาล อดีตพริตตี้ จำเลยที่ 1ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เดิม 5 ล้านบาท ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี ส่วน น.ส.อุรชาหรือป้อนข้าว อดีตโบรกเกอร์ จำเลยที่ 2 ยื่นหลักทรัพย์เดิม 3 ล้านบาท

 

               ขณะที่ศาลพิจารณาแล้ว เห็นควรส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวและมีคำสั่งว่าจะให้ประกันหรือไม่ต่อไป โดยจำเลยทั้งสองก็จะต้องถูกนำตัวไปคุมขังยังทัณฑสถานหญิงกลางระหว่างรอฟังคำสั่งประกันจากศาลอุทธรณ์ก่อน

 

               ด้าน นางวันเพ็ญ ธนธรรมสิริ พี่สาวของนายชูวงษ์ เปิดเผยหลังร่วมฟังคำตัดสินว่า ขอขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรม รอมา 4 ปี 9 เดือน และขอแสดงความเสียใจกับพี่ชายของผู้พิพากษาที่เสียชีวิตจากคดีนี้ วันนี้เป็นคดีอาญาชั้นต้นในเรื่องหุ้น ส่วนคดีฆาตกรรมที่อัยการกับญาติเป็นโจทก์ร่วมนั้น จะคัดคำพิพากษาของคดีนี้ ไปยื่นต่อศาลอาญาพระโขนงในคดีฆาตกรรมต่อไป

 

               นางวันเพ็ญ กล่าวต่อไปว่า คดีนี้ไม่ได้ช้าที่ศาล ถ้าอธิบดีอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้ในสมัยนั้นส่งฟ้อง น่าจะจบไปภายใน 2 ปี อยากเรียกร้องอัยการสูงสุด ให้สอบอธิบดีอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้คนก่อนที่สั่งไม่ฟ้องว่าเป็นธรรมหรือไม่ คดีนี้มีความซับซ้อนและยาก ขอขอบคุณตำรวจกองปราบปราม ที่หาหลักฐานมาอย่างยากลำบาก และอัยการเจ้าของสำนวน ที่รักษาความเป็นธรรม รวมถึงสื่อมวลชนที่ติดตามคดีมาตั้งแต่ต้น ทำให้ฝ่ายนั้นวิ่งเต้นยาก

 

               นางวันเพ็ญ เผยด้วยว่า คำพิพากษาเป็นการพิสูจน์สิ่งที่มีการใส่ความน้องชายตนว่ามีสัมพันธ์กับหญิงสาวไม่เป็นความจริง เพราะนอกจากถูกโกงหุ้นแล้วก็ยังเสียชื่อเสียง วันนี้ก็ดีใจที่ไม่เสียชื่อเสียง ซึ่งการโอนหุ้นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของผู้ตาย การเสียชีวิตมีมูลเหตุ คดีแพ่งที่จำหน่ายไว้ชั่วคราว หลังจากนี้ก็จะคัดคำพิพากษาคดีนี้ไปยื่นคดีแพ่งด้วย ตนมั่นใจในพยานหลักฐาน ที่กองปราบปรามทำไว้แน่นมาก ก่อนหน้าเราต่อสู้ฟ้องเองมา ขอบคุณ ผบ.ตร. อัยการสูงสุดที่เห็นแย้งยื่นฟ้อง และเราได้กลับมาเป็นโจทก์ร่วม ที่ผ่านมาใช้ชีวิตลำบาก ต้องระแวดระวัง ไม่อยากเล่าว่าเจออะไรมาบ้าง ส่วนการอุทธรณ์คดีนั้น ต้องปรึกษาทีมทนายความก่อน

 

               อย่างไรก็ดี นอกจากคดีอาญาแล้ว มูลฟ้องคดีเกี่ยวกับการโอนหุ้นของเสี่ยจืด ชูวงษ์นั้น ครอบครัวของนายชูวงษ์ ยังได้ยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งอีก 2 สำนวน ประกอบด้วยคดีหมายเลขดำ พ.1280/2559 ฟ้อง น.ส.กัญฐณา, พ.ต.ท.บรรยิน, บ.หลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กับเจ้าหน้าที่หลักทรัพย์อีก 2 ราย เป็นจำเลยที่ 1-5 ในฐานความผิด ผิดสัญญา, เพิกถอนนิติกรรมการโอนหุ้น, ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สิน จำนวนทุนทรัพย์ 245,100,000 บาท กับคดีหมายเลขดำ พ.1409/2559 ฟ้อง น.ส.ศรีธรา, น.ส.อุรชา หรือ น.ส.วัชรียา, พ.ต.ท.บรรยิน และบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1-4 ในฐานความผิด ผิดสัญญา, เพิกถอนนิติกรรมการโอนหุ้น, ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สิน, สินสมรส จำนวนทุนทรัพย์ 37,887,609 บาท

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ