ข่าว

TIJ แนะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

TIJ แนะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา สร้างความไว้ใจแก่ประชาชน

            ในระบบเรือนจำมีผู้ต้องขัง 386,902 คน ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูผู้ต้องขังในปีพ.ศ. 2561 เป็นเงินทั้งสิ้น 7,521,347,880 บาทหรือ 54 บาทต่อวัน ปริมาณผู้ต้องขังในเรือนจำแน่นจนเกินไป สวนทางกับอัตราการเกิดอาชญากรรมและการกระทำผิดซ้ำที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะมีความก้าวหน้าอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีส่วนช่วยในการป้องกันและลดอาชญากรรม ตลอดจนการฟื้นฟูและส่งอดีตผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคม แต่ปัญหานี้ก็ยังคงอยู่

TIJ แนะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
 

            สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) มุ่งขับเคลื่อนหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อสังคมที่สงบสุขและปลอดภัย จึงจัดหลักสูตรหลักสูตรอบรมสำหรับผู้บริหารด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (TIJ’s Executive Program on the Rule of Law and Development: RoLD) ขึ้น โดยในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 3 ผู้นำและผู้นำรุ่นใหม่ได้เข้าร่วมการสัมมนา “ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเปรียบเทียบ” เพื่ออภิปรายแนวคิดในการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและสร้างความไว้วางใจจากสาธารณชนที่มีต่อระบบยุติธรรม

                ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย(TIJ) กล่าวว่า ความไว้วางใจจากสาธารณชนเกิดขึ้นได้จากความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ความเต็มใจที่จะอธิบายและเปิดเผยขั้นตอนการพิจารณาคดีและเหตุผลในการตัดสินบังคับคดีต่อสาธารณชน ความท้าทายที่เด่นชัดอย่างหนึ่งคือ วิธีการจัดการกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย แม้จะมีกรอบกฎหมายที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล แต่กฎหมายอาญาจำนวนมากยังถูกมองว่าเป็นเพียงเพื่อประโยชน์ในเชิง “พิธีการ” เท่านั้น

TIJ แนะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
                “กฎหมายจะต้องเป็นธรรมอยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย กระบวนการบังคับใช้กฎหมายต้องมีความโปร่งใสและการบังคับใช้กฎหมายต้องมีประสิทธิภาพ” ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กล่าว

              ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กล่าวอีกว่า สถาบันที่ทำงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอาจมีหลากหลาย แต่ต้องมีทิศทางดำเนินงานเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น คือการสร้างหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทุกสถาบันจะต้องผนึกกำลังสร้างความไว้วางใจจากประชาชน เพื่อให้กฎหมายได้ผลดีที่สุด กฎหมายต้องมีอำนาจสูงสุด กฎหมายต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กระบวนการจะต้องเหมาะสม สถาบันทุกหน่วยงานต้องมีความรับผิดชอบ และไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย

               ผู้นำรุ่นใหม่คือกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่ดีขึ้น สิ่งนี้เป็นพันธกิจของ TIJ ที่จะสร้างแนวคิดเพื่อสังคมที่มีต่อหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับผู้นำรุ่นใหม่ในหลักสูตร RoLD ผ่านการปลูกฝังทักษะและความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทย


                ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ประธานกรรมการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีการต่อต้านในการนำแนวทางบางอย่างมาปฏิบัติจริง ก่อให้เกิดความวุ่นวายในกระบวนการยุติธรรม ส่งผลให้ในปีพ.ศ. 2561 มีคดีอาญาเกือบสองล้านคดีที่จัดการโดยผู้พิพากษาราว 5,000 คนทั่วประเทศ นำไปสู่จำนวนผู้ต้องขังที่พุ่งสูงขึ้นจนล้นเรือนจำ
วิธีการลงโทษผู้ต้องหาจำเป็นต้องใช้เวลานานและงบประมาณมหาศาล ทุกสิ่งล้วนมีต้นทุนทั้งสิ้น

                 อย่างไรก็ตาม กรอบกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่ออัยการในคดีอาญาและต่อสังคมยังคงมีอยู่ ตัวอย่างเช่น การทำสัญญาละเว้นการฟ้องคดี (Non-Prosecution Agreement: NPA) ซึ่งอัยการอาจทำข้อตกลงกับผู้ต้องสงสัยในคดีอาชญากรรมที่ไม่ร้ายแรงและมีแนวโน้มในการก่อคดีซ้ำต่ำ โดยให้ผู้ต้องสงสัยบำเพ็ญสาธารณประโยชน์แทนที่จะนำคดีเข้าสู่การพิจารณาคดีในชั้นศาล เป็นการประหยัดทั้งเวลาและทรัพยากร

               นอกจากนี้ ในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ อัยการมีอำนาจในการพิจารณาว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ หรือที่เรียกว่า “หลักการดําเนินคดีอาญาตามดุลพินิจ (Opportunity Principle)” ตัวอย่างเช่น อาชญากรรมบางอย่างอาจถูกยกฟ้อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในระบบกฎหมายและอุทิศทรัพยากรในการจัดการกับอาชญากรรมที่ร้ายแรง และหากหลักฐานไม่เพียงพอที่จะตัดสินได้ว่ามีความผิด อัยการก็อาจพิจารณายกฟ้อง ในทางเดียวกันหากผู้ต้องสงสัยไม่มีประวัติอาชญากรรมและพิจารณาแล้วว่าไม่มีแนวโน้มจะก่ออาชญากรรมอีก คดีความก็อาจถูกยกฟ้องเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกรอบกฎหมายรองรับ แต่วัฒนธรรมเป็นอุปสรรคสำคัญ อัยการยังคงไม่กล้าที่จะพิจารณายกฟ้อง เนื่องจากเกรงจะถูกกล่าวหาว่ารับสินบน ซึ่งนี่ถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย

               เนื่องจากทั้ง NPA และหลักการดําเนินคดีอาญาตามดุลพินิจมีบริบทของการใช้ความคิดเห็นส่วนบุคคล ดุลยพินิจของอัยการจึงมีบทบาทสำคัญในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ดังนั้น ผู้ที่ทำงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทั้งตำรวจ อัยการและผู้พิพากษาต้องสร้างความน่าเชื่อถือและความซื่อสัตย์ให้เกิดขึ้น เพื่อจะได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ตรงข้ามกับระบบความยุติธรรมทางอาญาที่ “เพิกเฉย” ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความไว้วางใจจากประชาชน

        

            ตัวอย่างของบริบทที่ต้องใช้ดุลยพินิจส่วนบุคคล เช่น ระหว่างแม่ที่ขโมยเงินเพื่อซื้อนมให้ลูก กับผู้ชายที่ขโมยเงินเพื่อเล่นการพนัน แม้เป็นอาชญากรรมประเภทเดียวกัน แต่ด้วยแรงจูงใจที่แตกต่าง ทั้งสองกรณีนี้สมควรดำเนินคดีในแบบเดียวกันหรือไม่ และอัยการมีความน่าเชื่อถือและความซื่อสัตย์ที่จะใช้ดุลยพินิจในการตัดสินหรือไม่

             ศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า เรือนจำในประเทศเนเธอร์แลนด์กำลังปิดตัวลงและเปิดพื้นที่ให้เช่า แต่ในประเทศไทยกลับมีเรือนจำไม่เพียงพอ ความแออัดของเรือนจำเป็นปัญหาที่เราเผชิญอยู่ตลอด และหากผู้ต้องขังล้นเรือนจำอยู่เสมอ เราจะฟื้นฟูผู้ต้องขังและส่งคืนคนดีกลับสู่สังคมได้อย่างไร

TIJ แนะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ