ข่าว

ดีเอสไอจับ 5 แหล่งผลิตปุ๋ยผสมพาราควอต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดีเอสไอค้น 5 โรงงานปุ๋ย ปทุมฯ - นนท์ - โคราช อ้างผลิตปุ๋ยชีวภาพ ออร์แกนิก แต่ลักลอบผสม พาราควอต - ไกลโฟเสต

 

              สำนักงานเทศบาลตำบลสามโคก ปทุมธานี 14 พฤศจิกายน 2562  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้มอบหมายให้ ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ลงพื้นที่ จ. ปทุมธานี

 

 

 

              เข้าตรวจค้นแหล่งผลิตพาราคอตและไกลโฟเสตของ 2 บริษัท ซึ่งเป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อประชาชน ตามที่ได้รับการร้องทุกข์ผ่านศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข และในชั้นสืบสวนของกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ดีเอสไอ พบว่า บริษัททั้ง 2 แห่ง ได้นำสารพาราควอตไดคลอไรด์ และไกลโฟเสต - ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม ซึ่งเป็นสารควบคุมตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมให้เป็นวัตถุอันตราย แต่บริษัททั้ง 2 แห่ง กลับนำมาผสมกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพอินทรีย์โดยไม่ได้รับอนุญาต และขายผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย จัดส่งสินค้าทางไปรษณีย์ ทำให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดคิดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ หรือ ปุ๋ยออร์แกนิก ที่ไม่มีผลต่อสุขภาพ จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตราย

สุดช็อก แบน 3 สาร เสียหายมหาศาล (อ่านต่อ...)

 

 

 

              พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า ในวันนี้ (14 พ.ย.) ดีเอสไอได้นำหมายค้นจากศาลและกระจายกำลังเข้าตรวจค้นเป้าหมายพร้อมกัน 5 จุด นครราชสีมา 2 จุด นนทบุรี 2 จุด และปทุมธานี 1 จุด เพื่อดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ฐาน ผลิต หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฐานผลิตหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

              พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวอีกว่า คดีนี้จากการสืบสวนเบื้องต้นน่าเชื่อว่ามีความเสียหายมากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป และมีผู้ได้รับผลกระทบจากวัตถุอันตรายดังกล่าวมากว่า 1,000 ราย

ชาวไร่อ้อยนับล้านเตรียมลุกฮือต้านยกเลิกพาราควอต (อ่านต่อ...)

 

 

 

              นอกจากนี้ อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย เนื่องจากมีการผลิตปุ๋ยเพื่อการค้า โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือไม่ได้รับอนุญาต อันเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 12 ประกอบมาตรา 57 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เนื่องจากมีการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่จะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกด้วย

              นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยภายหลังการตรวจค้นว่า ผลการตรวจค้นเบื้องต้นในพื้นที่บางบัวทอง จ.นนทบุรี เจ้าหน้าที่พบถังผสมปุ๋ย และเอกสาร ส่วนที่ จ.นครราชสีมา เข้าค้นร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และโรงงานผลิต ขณะที่ในพื้นที่ปทุมธานี เป็นโกดังเก็บวัตถุอันตราย ซึ่งดีเอสไอจะยึดอายัดเครื่องจักร ถังผสม และผลิตภัณฑ์ส่งให้กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบว่ามีสารอันตรายหรือไม่

เจ๋ง ไอเดียคนไทย จุลินทรีย์กำจัดวัชพืช ทดแทนพาราควอต (อ่านต่อ...)

 

 

 

              รวมถึงจะตรวจสอบเอกสารที่พบว่ามีแหล่งที่มาจากไหน หากผลการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการพบว่ามีส่วนผสมของพาราควอตและไกลโฟเสต จะออกหมายเรียกหรือหมายจับเจ้าของบริษัทมาแจ้งข้อกล่าวหา เพราะเป็นการแอบอ้างจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพ แต่มีส่วนผสมของสารอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต และจะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสั่งฟ้องต่อไป ในส่วนของเกษตรกรที่ซื้อผลิตภัณฑ์ไปใช้โดยไม่ทราบข้อเท็จจริงก็จะถือเป็นผู้เสียหายเช่นกัน

              ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต กล่าวว่า พาราควอตและไกลโฟเสตเป็นสารเคมีอันตราย ดีเอสไอพบว่าบริษัททั้ง 2 นำวัตถุอันตรายมาลักลอบผลิตและจำหน่ายโดยหลอกลวงว่าเป็นสารชีวภาพ ที่ผ่านมา ดีเอสไอได้ล่อซื้อและนำของกลางไปตรวจพิสูจน์พบว่ามีสารเคมีอันตรายผสมอยู่จริง จึงนำมาสู่การตรวจค้นและจับกุม

 

 

 

              ทั้งนี้ จากผลการวิจัยทางการแพทย์ พบว่า ในประเทศไทยมีผู้ป่วยจากสารพาราควอตปีละ 5,000 ราย ในจำนวนดังกล่าวประมาณ 10% หรือ 500 ราย จะเสียชีวิต เนื่องจากมีอาการแพ้รุนแรง นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังต้องได้รับเคมีปนเปื้อนในผักและผลไม้ ต้องตายผ่อนส่งกับพาราควอต รัฐบาลจึงต้องดำเนินการทางคดีให้ถึงที่สุด

 

 

 

ดีเอสไอจับ 5 แหล่งผลิตปุ๋ยผสมพาราควอต

 

 

 

ดีเอสไอจับ 5 แหล่งผลิตปุ๋ยผสมพาราควอต

 

 

 

ดีเอสไอจับ 5 แหล่งผลิตปุ๋ยผสมพาราควอต

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ