ข่าว

จี้ สธ.ออกอนุบัญญัติ ห้ามแข่งซดน้ำเมา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา จี้สธ.ออกอนุบัญญัติปิดช่องโหว่ ห้ามการแข่งขันดื่มเหล้าเบียร์เสี่ยงอันตรายถึงตาย

 

 

               กระทรวงสาธารณสุข - 25 ก.ย.2562-เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา จี้สธ.ออกอนุบัญญัติปิดช่องโหว่ ห้ามการแข่งขันดื่มเหล้าเบียร์เสี่ยงอันตรายถึงตาย พร้อมนำหลักฐานบริษัทเบียร์ช้าง-สิงห์-ลีโอ จัดแพ็คเกจส่งเสริมการขาย พบ กระเป๋า กระติกน้ำแข็งขายพ่วง โชว์โลโก้ท้าทายกฎหมาย มอบให้สธ.เอาผิด กับบริษัทและห้างสรรพสินค้าชื่อดังที่วางจำหน่าย  

 

            นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา พร้อมด้วย นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณี บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อดัง จัดแพ็คเกจจำหน่ายเบียร์พ่วง กระติกน้ำแข็ง กระเป๋า เพื่อส่งเสริมการขายและเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยจำหน่ายทั้งออนไลน์และภายในห้างสรรพสินค้า เข้าข่ายผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยนำหลักฐานทั้งหมดมอบให้สธ.ไว้ตรวจสอบด้วย รวมถึงเรียกร้องให้จัดการปัญหาจัดแข่งดื่มเหล้าเบียร์ซึ่งเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต 

 

 

 

จี้ สธ.ออกอนุบัญญัติ ห้ามแข่งซดน้ำเมา

 

            นายชูวิทย์  กล่าวว่า บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อช้าง สิงห์ ลีโอ จัดแพ็คเกจจำหน่ายกระติกน้ำแข็ง กระเป๋าขายพ่วงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยบนกระเป๋าและกระติกน้ำแข็ง มีตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีเจตนาโฆษณา สื่อสารการตลาด เพื่อประโยชน์ทางการค้าอย่างชัดเจน โดยจัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัสนอกจากนั้นยังขายสินค้าพ่วงเบียร์ ในช่องทางออนไลน์หลายเว็บ อาทิ LAZADA SHOPEE และ KAIDEE  

 

            "การกระทำดังกล่าว ถือว่าไม่เกรงกลัวกฎหมาย มุ่งหวังสื่อสารการตลาดชัดเจน และความผิดนี้ ตัวแทนจำหน่ายต้องร่วมกันรับผิดกับบริษัทผู้ผลิตสิ้นค้าที่ทำผิดกฎหมายตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ มาตรา3 มาตรา30 และมาตรา 32  โดยเครือข่ายฯมีหลักฐานชัดเจนและได้นำมามอบให้สธ.ด้วยแล้วในวันนี้" นายชูวิทย์ กล่าว

 

จี้ สธ.ออกอนุบัญญัติ ห้ามแข่งซดน้ำเมา

   

       ด้าน นายคำรณ กล่าวว่า เครือข่ายฯ ขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อสธ.ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่ต้องรับผิดชอบตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายดังนี้ 1.ขอให้ตรวจสอบการกระทำของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีการจัดแพ็คเกจจำหน่ายกระเป๋า และกระติกน้ำแข็งที่ปรากฏตราสัญลักษณ์ของเบียร์ยี่ห้อนั้น ขายพ่วงกับเบียร์จำนวน 4-6 กระป๋อง ว่าเจตนาในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และสื่อสารการตลาด เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าหรือไม่ หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีความผิดจริงให้เร่งดำเนินการตามกฎหมายอย่างเร่งด่วนทันที

           2.หากพบว่าการกระทำดังกล่าวมีความผิด ขอให้กระทรวงสาธารณสุขแจ้ง ห้างสรรพสินค้า รวมถึงบรรดาเว็บเพจต่างๆที่มีการลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ระงับขายสินค้า ตลอดจนการลงโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าในรูปแบบดังกล่าว และขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงมีคำสั่งเร่งรัดให้คณะกรรมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ตรวจสอบในพื้นที่และดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

จี้ สธ.ออกอนุบัญญัติ ห้ามแข่งซดน้ำเมา

 

           3.ขอให้มีการออกอนุบัญญัติโดยอาศัยอำนาจ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551ตามมาตรา 26(2) และมาตรา 30(6) เพื่อให้ผู้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องปฏิบัติตาม สร้างความชัดเจนและปิดช่องว่างมิให้มีการฝ่าฝืนหรือหาช่องทางเพื่อส่งเสริมการขายในรูปแบบนี้ได้อีกและ4.ปัจจุบันพบว่ามีการจัดกิจกรรมในรูปแบบการแข่งขันกินดื่ม เหล้าเบียร์ ซึ่งเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตจากกิจกรรมดังกล่าวแล้วอีกหนึ่งราย(3ก.ค. 2562)รวมถึงการจัดปาร์ตี้ ชักชวนให้ดื่มหรือบังคับให้ดื่ม ทั้งในสถานบริการและบ้านพักส่วนบุคคล เช่นกรณีล่าสุดการเสียชีวิตของพริตตี้ "ลันลาเบล" พบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 418 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เครือข่ายจึงใครขอให้กระทรวงพิจารณาแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหานี้เป็นการด่วน โดยเฉพาะการออกอนุบัญญัติ เพิ่มเติม ตามมาตรา30 (6) เพื่อยับยั้งปัญหา

 

        "ปัจจุบันรูปแบบการกินดื่มมีพัฒนาการไปไกล ไม่ใช่อยู่แต่ในร้านเหล้าผับบาร์อีกต่อไป กรณีจัดปาร์ตี้กินดื่มที่บ้านพักส่วนตัว กำลังกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่กฎหมายปัจจุบันเอื้อมไม่ถึง กรณีที่น้องพริตตี้เสียชีวิตนั้น เข้าใจว่าเป็นการดื่มเหล้าในแบบเพียวๆ ในระยะเวลาอันรวดเร็ว อาจมีการจูงใจ บังคับให้ดื่มหรือไม่ก็ต้องรอการพิสูจน์  เพราะจากการชันสูตรพบว่าปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ตายสูงถึง418มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เกินกว่าที่ร่างกายจะรับไหว เช่นเดียวกับกรณีแข่งขันดื่มเบียร์เมื่อต้นเดือน กรกฎาคม ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันทีหนึ่งราย บริบทการกินดื่มแบบนี้กำลังสร้างความสูญเสียให้กับสังคมไทย และน่าจะมีผู้หาประโยชน์จากวงจรแบบนี้ จำเป็นที่กระทรวงสาธารณสุขต้องนำมาเป็นเรื่องพิจารณาเร่งด่วน   เพื่อหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาก่อนจะมีคนเจ็บตายกันอีก" นายคำรณกล่าว   

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ