ข่าว

หัวรถจักรผีสิงพุ่งชน...'หัวลำโพง'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รถไฟตกรางนับเป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างความเสียหายมากกว่าอุบัติเหตุทางจราจรอื่นๆ นอกเหนือจากเครื่องบินตก วันนี้เรากำลังตื่นตัวกับข่าวขบวนรถด่วน 84 ตรัง-กรุงเทพฯ ตกรางก่อนถึงสถานีเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

 พร้อมกับความกังขาว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากคนหรือความเก่าของการขนส่งระบบรางของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 23 ปีก่อนคนไทยก็เคยตื่นตระหนกกับอุบัติเหตุหัวรถจักรพุ่งชนสถานีรถไฟหัวลำโพงมาแล้ว !?!

 พลิกแฟ้มคดีดังฉบับนี้จะพาไปค้นหาข้อเท็จจริงว่า เกิดอะไรขึ้นในวันนั้นจากปากคำของ "สมจิตร พิลึก" อดีตนายตรวจกล การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ผู้อยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นและเป็น 1 ใน 2 ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดจนต้องออกจากงาน แถมติดคุก และไม่ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญอย่างคนวัยเกษียณในช่วงบั้นปลายชีวิต อายุ 66 ปีอย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับเป็น รปภ.หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา

 สมจิตรจบการศึกษาในปี 2509 เข้าทำงาน ร.ฟ.ท.ในตำแหน่งช่างเครื่องกล ประจำอยู่ที่หัวลำโพง ปี 2511 ย้ายมาเป็นช่างอยู่ที่สถานีบางซื่อ อีก 11 ปีต่อมาเขาได้ก้าวขึ้นเป็นนายตรวจกล มีลูกน้อง 4 คน มีหน้าที่ตรวจซ่อมหัวรถจักรดีเซลที่มีเลขข้างตัวรถเป็นเลขคู่ 4 ยี่ห้อ คือ ดาเวนฟอร์ด ฮิตาชิ จีอี และอัลตรอม แล้ววิกฤติแห่งชีวิตก็เดินทางมาถึงใน 7 ปีถัดมา

 6 โมงเช้า วันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2529 สมจิตรตื่นแต่เช้าไปเข้างานตอน 7 โมงตามปกติ เขาจัดแจงมอบหมายงานให้ลูกน้องแล้วลงมือทำงานตั้งแต่เช้า

 "ผมจำได้ว่าวันนั้นจะมีหัวรถจักร 8 หัวเข้ามาซ่อมบำรุง โดยเข้ามาตอนช่วงเช้าที่โรงซ่อมบางซื่อ 6 หัว ช่วงบ่าย 2 หัว ผมให้ลูกน้องจัดเรียงหัวรถจักร 6 หัวตามความเหมาะสม หัวไหนซ่อมเยอะอาการหนักเอาไว้ในสุด ประกอบด้วย รถหมายเลข 4029, 4042, 4044, 4043, 4006 และ 4010 ผมรับผิดชอบหัวรถจักรคันที่ 3 และ 6" สมจิตรเท้าความหลัง

 8 โมง 35 นาที ระหว่างที่ช่างสมจิตรกำลังตรวจซ่อมหัวรถจักรหมายเลข 4044 มีช่างอีกฝ่ายมาเรียกให้ไปดูคำสั่งแจ้งซ่อมแต่ไม่เจออาการผิดปกติ จึงลงจากหัวรถจักรไปดูงานอีกที่หนึ่ง โดยติดเครื่องทิ้งเอาไว้เนื่องจากยังมีช่างอีกคนอยู่บนรถ แต่แล้วเรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อหัวรถจักรทั้ง 6 หัวที่พ่วงติดกันเริ่มแล่นออกจากโรงซ่อมหัวรถจักบางซื่อ ทะยานไปบนรางอย่างช้าๆ ไต่ความเร็วไปเรื่อยๆ จนไปอยู่ที่ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มุ่งหน้าสู่สถานีรถไฟหัวลำโพง ที่อยู่ห่างออกไป 15 กิโลเมตร

 ขณะผ่านแยกเทิดดำริหัวรถจักรพุ่งชนแท็กซี่ โชคดีคนขับไม่เป็นอะไรมาก ทว่าอีกมุมหนึ่งบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพงที่มีผู้คนพลุกพล่านเต็มชานชาลา พลันตื่นตระหนกจากเสียงประกาศเตือนให้ออกจากชานชาลา บ้างมีเจ้าหน้าที่วิ่งเป่านกหวีดไล่ต้อนผู้คนที่ยังมึนงงกับเหตุการณ์อย่างชุลมุน หลังจากได้รับแจ้งความผิดปกติจากเจ้าหน้าที่แยกเทิดดำริ

 ไม่กี่อึดใจทุกคนก็ได้ยินเสียงรถจักรดีเซลดังใกล้เข้ามา พร้อมกับขบวนหัวรถจักร 6 คัน แล่นเข้าสู่ชานชาลาที่ 4 พุ่งชนแป้นปะทะเลยขึ้นชานชาลา เข้าหาอาคารประชาสัมพันธ์ ออฟฟิศแบงก์กรุงเทพ และอาคารร้านค้าเสียงดังสนั่นหวั่นไหวและพังพินาศราบเป็นหน้ากลอง ก่อนจะไปหยุดล้มตะแคงสิ้นฤทธิ์อยู่หน้าประตูทางเข้าสถานีรถไฟตอน 8 โมง 50 นาทีพอดิบพอดี โศกนาฏกรรมครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บ 7 คน มูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท

 "เมื่อได้รับแจ้งเหตุผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นรถในความรับผิดชอบของผม พอรู้ก็มึนๆ งงๆ ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะตอนที่ผมลงจากรถยังมีช่างอีกคนอยู่ ไม่ได้ปล่อยให้รถติดเครื่องไว้โดยปราศจากคนขับ ผมทำงานมานานกว่า 20 ปี รู้ดีว่านี่คือกฎข้อห้ามเด็ดขาด"

 หลังเกิดเหตุมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาถึงสาเหตุที่หัวรถจักรวิ่งได้เอง หนักถึงขั้นร่ำลือว่าเป็นหัวรถจักรผีสิง เพราะหัวรถจักรหมายเลข 4410 เคยประสบอุบัติเหตุเบรกไม่อยู่เมื่อปี 2522 ส่งผลให้คนขับเสียชีวิตและผู้โดยสารอีกนับร้อยบาดเจ็บล้มตาย แต่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของ ร.ฟ.ท.สรุปว่าเกิดจากความสะเพร่าของพนักงานขับรถที่ติดเครื่องไว้แล้วลงจากรถโดยไม่ดับเครื่อง ประกอบกับหัวรถจักรเร่งเครื่องโดยอัตโนมัติ แล้ววิ่งออกจากโรงรถจักรบางซื่อเข้ารางประธาน (รางหลัก) จึงมีคำสั่งปลด 2 พนักงาน คือ สมจิตร พิลึก นายตรวจกล กับนายเตรียม พิศพานต์ เจ้าหน้าที่ประจำหอสัญญาณ

 นอกจากนี้ ศาลอาญายังพิพากษาจำคุกสมจิตรเป็นเวลา 8 ปี ฐานประมาท ส่วนนายเตรียมพิพากษายกฟ้อง และเรื่องนี้ก็ถูกจดจารอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ ร.ฟ.ท.อีกบทหนึ่ง

 เปิดใจครั้งแรกในรอบ 23 ปี
 วิบากกรรม 'นายตรวจกล'

 หลังเกิดเหตุ "สมจิตร พิลึก" เข้าไปตรวจดูหัวรถจักรและสอบถามช่างอีกคนได้ความว่า ระหว่างอยู่บนรถได้ใส่เกียร์เดินหน้า รถจึงพุ่งออกจากราง แม้จะดึงห้ามล้อก็ไม่มีผลอะไรจึงตัดสินใจกระโดดลงจากรถ แทนที่จะสับสวิตช์ดับเครื่องยนต์ เขาบอกว่าช่วงนั้นเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าบอกให้หนีไปก่อน เพราะตำรวจตามตัวอยู่ รอให้เรื่องเงียบค่อยออกมา แต่เขาก็ตัดสินใจจะช่วยงานต่อไป

 "ตอนนั้นผู้ใหญ่ไม่ยอมให้ผมพูดอะไรกับใครเลย ไม่แม้แต่จะให้ผมสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ หรือสื่ออื่นๆ เลย"

 สมจิตรยอมรับว่าเขาต้องมีส่วนรับผิดชอบกับเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่อยากได้ความยุติธรรมมากกว่านี้ เนื่องจากมันมีปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่ช่างอีกคนที่อยู่บนรถ ฝ่ายโยธาที่ขอให้ฝ่ายควบคุมหอสัญญาณเปิดทาง ซึ่งตามระเบียบแล้วเมื่อรถขนหินหรือเหล็กผ่านไปแล้วต้องสับรางทันที แม้หัวรถจักรจะวิ่งออกไปก็จะติดอยู่แค่สถานีบางซื่อเท่านั้น คงไม่ไปไกลถึงหัวลำโพง

 อดีตนายตรวจกลต้องต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมนานถึง 6 ปี โดยศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 8 ปี อุทธรณ์ลดเหลือ 6 ปี ในชั้นฎีกาเหลือ 3 ปี ระหว่างจองจำได้รับการอภัยโทษ สุดท้ายจำคุกเป็นเวลา 18 เดือน ออกจากเรือนจำในปี 2537 เข้าทำงานเป็นช่างในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ปี 2544 ก็ถูกเลิกจ้างเนื่องจากอายุมาก จึงกลับไปเลี้ยงปลาที่บ้านเกิด จ.นครสวรรค์ ประสบภาวะขาดทุนจึงเลิก

 "เงินสะสมเริ่มหมด เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด วันเดียวกับตึกเวิลด์เทรดถูกถล่ม ผมก็ได้รับหมายศาลอีกฉบับให้ชำระค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น ผมจะเอาปัญญาที่ไหนไปจ่ายตั้ง 4 ล้านบาท สงสารก็แต่เมียที่เขาต้องมาลำบากกับผม"

 ก่อนจากกัน สมจิตรทิ้งท้ายด้วยสัจธรรมแห่งชีวิตไว้อย่างน่าฟังว่า ชีวิตคนเราไม่แน่นอนจงอย่าประมาท เพราะหมายถึงทั้งชีวิตจะเปลี่ยนไปและเราจะต้องยอมรับมันไปตลอดชีวิต แม้จะไม่ถูกใจเราก็ตาม
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ