ข่าว

‘บอดี้แพ็กเกอร์’ขนไอซ์ข้ามโลกไทยทางผ่านกระจายยาเสพติด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘บอดี้แพ็กเกอร์’ขนไอซ์ข้ามโลก ไทยทางผ่านกระจายยาเสพติด : กมลชนก ทีฆะกุลรายงาน

              เป็นอีกคดีสะเทือนขวัญเมื่อมีการพบ “ศพชายนิรนามถูกยัดอยู่ในกระเป๋าสีดำใบใหญ่” ลอยอยู่ในคลองโอ่งอ่าง ใกล้กับแยกสำราญราษฎร์ แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา

              พยานหลักฐานที่พบในกระเป๋าเดินทางและในตัวผู้ตาย ทั้งถุงพลาสติกสีขาว มีอักษรสีฟ้า mahesh ซึ่งเป็นถุงร้านจำหน่ายของที่ระลึกของประเทศภูฏาน ตั้งอยู่ระหว่างชายแดนประเทศอินเดียและประเทศภูฏาน ถุงพลาสติกใสใส่แป้งโรตี ถุงพลาสติกสีฟ้ายี่ห้อ Rajnigandha ซึ่งเป็นถุงหมาก มีขายในไทยย่านนานา สีลม และถุงพลาสติกสีเหลืองยี่ห้อ baba เป็นยาเส้น ปัจจุบันไม่มีขายในไทย

              ที่มากไปกว่านั้น เมื่อแพทย์ผ่าชันสูตรศพผู้ตาย กลับพบยาเสพติดบรรจุถุงยาง อยู่ในกระเพาะ จำนวน 55 ก้อน และทวารหนัก 3 ก้อน เบื้องต้นพบว่าเป็นไอซ์ ตำรวจคาดว่าผู้ตายน่าจะมีส่วนพัวพันกับเครือข่ายยาเสพติด โดยทำหน้าที่เป็นคนลำเลียงยา

              ข้อมูลจากฝ่ายสืบสวน เชื่อว่าผู้ตายน่าจะเกี่ยวโยงกับขบวนการลำเลียงยาเสพติด แล้วมาพักยาในไทย และอาจเตรียมส่งออก แต่เกิดภาวะช็อกยา เนื่องจากพบว่ามียาเสพติดจำนวนหนึ่งแตกออกมาที่กระเพาะอาหาร ซึ่งผู้ร่วมขบวนการอาจจะกลัวความผิด จึงนำศพยัดใส่กระเป๋าแล้วโยนทิ้งอำพรางคดี

              ขบวนการยาเสพติดใช้วิธีการลักลอบลำเลียงยาเสพติดด้วยวิธีกลืนลงท้อง หรือที่เรียกว่า “บอดี้แพ็กเกอร์” เกิดขึ้นมานานกว่า 10 ปี โดยนิยมใช้กันในกลุ่มที่ลักลอบนำยาเสพติดจากพื้นที่แหล่งผลิตทางตอนใต้ของอัฟกานิสถาน หรือที่เรียกกันว่าแหล่ง “พระจันทร์เสี้ยว” แหล่งผลิตใหญ่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลกในปัจจุบัน ไปยังภูมิภาคต่างๆ ของโลก

              การกลืนยาเสพติดลงท้องแล้วเกิดการฉีกขาดของบรรจุภัณฑ์ทำให้ยาเสพติดแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายของผู้ลักลอบขน ซึ่งผู้กระทำเป็นชาวต่างชาติ มาเสียชีวิตในไทยเช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ย้อนไปเมื่อ วันที่ 12 พฤษภาคม 2552 ในพื้นที่ สน.มักกะสัน พบศพนายบารอช มูฮัมหมัด อารีฟ เคลชีล อายุ 45 ปี ชาวปากีสถาน ตามร่างกายไม่พบบาดแผล แต่ผลตรวจปัสสาวะพบสารเสพติด เจ้าหน้าที่ผ่าชันสูตรศพ พบยาเสพติดในตัวผู้ตาย ตำรวจสันนิษฐานว่าผู้ตายน่าจะกลืนยาเสพติดที่บรรจุอยู่ในถุงยางมาจากต่างประเทศ เพื่อนำมาส่งให้ลูกค้าในประเทศไทย แต่ถุงยางอาจรั่วหรือแตกทำให้สารเสพติดแทรกซึมเข้ากระแสเลือดส่งผลให้เสียชีวิต

              ในคนไทยก็มีพบอยู่หลายครั้ง เช่น เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557 นักโทษคดีจำหน่ายยาเสพติดเรือนจำกลางคลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ถูกพบเสียชีวิตอยู่ในห้องซอย 9 แดน 8 เจ้าหน้าที่ผ่าชันสูตรศพ พบถุงยางอนามัย 20 ก้อน ด้านในบรรจุยาไอซ์ น้ำหนักรวม 165.2 กรัม สันนิษฐานสาเหตุเสียชีวิตเกิดจากถุงยางอนามัยแตก ทำให้ยาไอซ์ไหลเข้าสู่ร่างกาย

              ถัดมาอีก 2 เดือน คือวันที่ 26 สิงหาคม 2557 ที่ จ.ขอนแก่น เมื่อนักโทษชายในคดียาเสพติด มีอาการปวดท้องเฉียบพลัน และเสียชีวิตในเวลาต่อมา แพทย์ผ่าชันสูตรศพ พบยาบ้าและยาไอซ์ บรรจุในถุงยางอนามัยรวม 12 ถุง แตกละลายไปแล้ว 2 ถุง เมื่อนำแยกประเภท พบว่า เป็นยาบ้า 2 ถุง รวม 61 เม็ด และยาไอซ์ 8 ถุง น้ำหนักประมาณ 30 กรัม อยู่ในลำไส้คนตาย นอกจากนี้บางส่วนแตกละลายปนกับอุจจาระ

              ส่วนการใช้วิธีการลักลอบขนยาเสพติดด้วยการกลืนแต่ไม่เสียชีวิต ก็เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2554 กรมศุลกากร แถลงข่าวจับกุม นายโตนิโต้ โกเมส อายุ 32 ปี สัญชาติกินี-บิสเซา พร้อมของกลางยาไอซ์ จำนวน 40 ก้อน น้ำหนักประมาณ 710 กรัม มูลค่าประมาณ 2.5 ล้านบาท โดยจับกุมได้ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พบผู้ต้องหา ซึ่งโดยสารมากับสายการบินของเอธิโอเปีย มาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ ท่าทางมีพิรุธ จากการตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมายตามร่างกาย จึงนำตัวไปเอกซเรย์ พบยาไอซ์จำนวนดังกล่าวอยู่ภายในช่องท้อง

              วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 นายจีระ ร้อยถิ่น อายุ 32 ปี ผู้ต้องหาคดีขับขี่ และเสพยาเสพติดประเภท 1 (ยาบ้า) สภ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลสวรรคโลก หลังชุดปราบปรามยาเสพติด สภ.สวรรคโลก แสดงตัวเข้าตรวจค้นนายจีระ แต่ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย จึงตรวจปัสสาวะพบว่า มีสารเสพติด (ยาบ้า) ในปัสสาวะ จึงควบคุมตัวมาสอบสวน นายจีระรับสารภาพว่า มาซื้อยาบ้าจากเอเย่นต์แถว ต.ย่านยาว จากนั้นกำลังขับรถเพื่อกลับบ้าน แต่มาถูกตำรวจนำกำลังไล่ติดตาม จึงตัดสินใจกลืนยาบ้าลงท้อง

              การกลืนยาเสพติดลงท้องเป็นความพยายามในการลำเลียงยาเสพติดจากแหล่งผลิตไปยังตลาดการค้าของเครือข่ายค้ายาเสพติดยังคงดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง แม้ทุกประเทศทั่วโลกจะร่วมมือกันในการกวาดล้างปราบปรามอย่างเข้มงวด

              หน่วยปราบปรามยาเสพติดทั่วโลก มีข้อมูลตรงกันว่า เครือข่ายค้ายาเสพติดที่มีขนาดใหญ่ไม่แพ้สามเหลี่ยมทองคำ คือกลุ่มแอฟริกัน ที่มีชาวไนจีเรียเป็นตัวการ โดยเครือข่ายนี้เป็นองค์กรค้ายาเสพติดข้ามชาติองค์กรใหญ่ และเชื่อมโยงกันในหลายประเทศในจำนวนนั้นมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะหญิงไทย พบว่าตกอยู่ในวังวนนี้มากที่สุด

              ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. ระบุว่า เครือข่ายนี้มักใช้เส้นทางลักลอบลำเลียงยาเสพติดโดยเฉพาะโคเคน จากแถบทวีปเอเมริกาใต้ เช่น โบลิเวีย เปรู โคลัมเบีย ส่งต่อไปยัง บราซิล และกระจายไปยัง สิงคโปร์ ตุรกี กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เอธิโอเปีย ก่อนจะลำเลียงเข้าประเทศไทย ขณะที่ไอซ์ถูกลำเลียงจากประเทศมาลี ไนจีเรีย เบนิน โตโก และ กานา ก่อนจะส่งต่อไปยังเอธิโอเปีย และเข้าสู่ประเทศไทย

              เครือข่ายนี้จะใช้เส้นทางหลัก 3 เส้นทาง คือ เดินทางจากไทยไปอินเดีย หรือเนปาล รับเฮโรอีน เดินทางโดยเครื่องบินตรงเข้าจีน ที่เมืองกวางโจว เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง หรือฮ่องกง เส้นทางต่อมาคือออกจากไทยไปอินเดีย เนปาล หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อรับเฮโรอีนแล้วบินกลับมาพักในไทยแล้วต่อไปจีน เส้นทางสุดท้ายเดินทางโดยรถประจำทางจาก กทม.ไป จ.สงขลา เข้าไปมาเลเซียเพื่อรับช่วงต่อจากผู้ลำเลียงชาวแอฟริกันก่อนจะเดินทางต่อไปยังจีนทางเครื่องบิน

              การกวาดล้างอย่างหนักทำให้เครือข่ายนี้หันไปว่าจ้างหญิงไทยและฟิลิปปินส์ ขนยาไอซ์และโคเคน จากจีน ผ่าน กวางโจว ฮ่องกง และเสิ้นเจิน เข้าประเทศไทย ซึ่งมักจะผ่านสายการบินนานาชาติในต่างจังหวัดมากกว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเลี่ยงการตรวจค้นจับกุม โดยจะใช้วิธีการกลืนลงท้อง ทวารหนัก และอวัยวะเพศ หรือซุกซ่อนไปกับสัมภาระ

              “สิทธิศักดิ์ กัลยาณประดิษฐ์” ผู้อำนวยการ สำนักนักปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. เปิดเผยว่า สถานการณ์การลักลอบลำเลียงยาเสพติดของเครือข่ายกลุ่มแอฟริกัน ยังคงมีความพยายามในการลักลอบลำเลียงอย่างต่อเนื่อง ตัวยาหลักคือ ไอซ์ ที่มาจากประเทศจีน และโคเคน จากฝั่งอเมริกาใต้ ระยะหลังพบว่า ไอซ์ ได้รับความนิยมจากตลาดโลกมากขึ้น ซึ่งวิธีการลักลอบขนมีหลายวิธี ทั้งการซุกซ่อนมากับเรือ รถ บรรทุกสินค้า ทั้งทางบกและทางน้ำ ตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน การลักลอบขนด้วยการซุกซ่อนมากับพัสดุไปรษณีย์ และวิธีการกลืนซึ่งจะพบมากในกลุ่มของเครือข่ายยาเสพติดชาวแอฟริกัน

              “ตัวยาที่ได้รับความนิยมขณะนี้ คือ ไอซ์ ทำให้เครือข่ายนี้หันมาลักลอบขนไอซ์มากขึ้น ด้วยการว่าจ้างทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ในการลักลอบขนยาเสพติด ด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ แต่วิธีการกลืนลงท้องครั้งละ 2-3 กิโลกรัม ส่วนใหญ่มักพบเป็นความพยายามในการนำออกนอกประเทศ ที่ผ่านมา ป.ป.ส.ก็มีความพยายามในการสกัดกั้นตามด่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งก็ได้ผลสำเร็จ ทำให้เครือข่ายนี้หันไปใช้ท่าอากาศยานตามต่างจังหวัดแทน แต่เจ้าหน้าที่ก็มีความพยายามในการสกัดอย่างเต็มที่ โดยการขอความร่วมมือระหว่างประเทศ ให้ร่วมมือกัน ซึ่งก็ได้ผล” สิทธิศักดิ์ กล่าว

              ไอซ์เป็นยาเสพติดที่แพร่ระบาดอยู่ในประเทศไทย นอกจากจะมาจากเครือข่ายแอฟริกันที่นำมาจากแหล่งผลิตพระจันทร์เสี้ยว แล้วยังมีเครือข่ายยาเสพติดที่มีขนาดใหญ่รองลงมา คือ แหล่งสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งมีฐานผลิตอยู่ในพื้นที่รัฐฉาน ของเมียนมาร์ ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อกับทางตอนเหนือของไทย แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ สารตั้งต้นที่ใช้ผลิตยาบ้าและไอซ์ มาจากประเทศอินเดีย

              ด้าน “ประสงค์ รัตนพันธ์” ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย  เปิดเผยว่า สถานการณ์การลักลอบลำเลียงไอซ์เข้ามาในประเทศไทย มีเส้นทางมาจากทางภาคเหนือของไทย ก่อนกระจายเข้ามาในพื้นที่ชั้นใน อีกทางอาจหลบไปเข้าทางภาคอีสานของประเทศไทย รายงานข่าวล่าสุดพบว่า ขณะนี้ทางการเมียนมาร์สามารถสกัดจับทั้งยาบ้าและไอซ์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม และ 2 เมษายน 2559 CCDAC หรือ ป.ป.ส.เมียนมาร์ สามารถจับไอซ์ได้รวม 414 กิโลกรัม ที่เมืองเชียงตุง ของเมียนมาร์ เจ้าหน้าที่เชื่อว่า เป็นไอซ์ที่ผลิตโดยกลุ่มว้าปางซาง ปลายทางส่งมายังประเทศไทย

              “ไอซ์ที่แพร่ระบาดในประเทศไทย ส่วนใหญ่มาจากสามเหลี่ยมทองคำ ส่วนไอซ์จากฝั่งยุโรปส่วนใหญ่จะเป็นคนชั้นสูงนิยมใช้ แต่ราคาไม่แตกต่างกันมาก กลุ่มที่มีบทบาทเรื่องไอซ์มากที่สุดตอนนี้ยังคงเป็นกลุ่มว้าเหนือ เรามีการสกัดกั้นอย่างเต็มที่ทั้งภายในและภายนอกประเทศ” ประสงค์  ให้ข้อมูล

              ประสงค์ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้มีมาตรการเชิงรุกในการสกัดกั้นยาเสพติดนอกประเทศ โดยร่วมมือกับ 5 ประเทศ ทั้ง จีน เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม ตามโครงการเซฟแม่โขงปลอดภัย ในการสกัดกั้นไม่ให้สารตั้งต้น และสารเคมี เข้าไปสู่แหล่งผลิตในสามเหลี่ยมทองคำ ขณะเดียวกันก็ร่วมกันสืบสวนเครือข่ายการผลิต ลำเลียง และค้า สกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดในแต่ละประเทศ

              “ทุกประเทศให้ความร่วมมือกันและกันเป็นอย่างดี มีการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลและข่าวกรองเรื่องยาเสพติดกันทุกวัน มีการลาดตระเวนร่วม 4 ประเทศในแม่น้ำโขงเดือนละครั้ง ทุกเดือน เพื่อส่งสัญญาณถึงการเอาจริงเอาจังในความร่วมมือกันสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติด อยู่ระหว่างศึกษากระบวนการทำงานและเส้นทางลำเลียงสารตั้งต้นและสารเคมีจากต้นทางในแต่ละประเทศ ไปยังพื้นที่ผลิตยาเสพติดในสามเหลี่ยม เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการสกัดกั้นของทั้ง 6 ประเทศ ให้เป็นรูปธรรม” ผอ.ศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย กล่าวตอนท้าย


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ