เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2562 นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวถึงการเสนอให้ปลดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมในการกำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ โดยมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน
สำหรับพืชกระท่อมนั้น เป็นพืชเสพติดที่นิยมเฉพาะกลุ่มแตกต่างจากกัญชา ซึ่งค่อนข้างจะเป็นที่นิยมมากกว่า จึงทำให้มูลค่าราคาในเชิงธุรกิจการค้าแตกต่างกัน การนำมาใช้ทางการแพทย์ ส่วนใหญ่จะใข้เพื่อบรรเทาอาการปวด บางประเทศนำไปใช้บำบัดรักษาอาการผู้ติดยาเสพติด เช่น ในสหรัฐอเมริกาใช้บำบัดการเสพเฮโรอีน
“พืชเสพติดทั้งกัญชาและกระท่อมนั้น มีความแตกต่างโดยตัวมันเอง กระท่อมเป็นไม้ยืนต้นปลูกกลางแจ้ง มีอายุค่อนข้างยาวนาน การทำลายหรือตัดโค่นต้องขุดราก ส่วนกัญญาจะมีอายุสั้น ดังนั้นการควบคุมจำนวนหรือปริมาณก็ต่างกัน หากมีการปลดกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด จะทำให้ผู้กระทำผิดในคดีอาญาตามกฎหมายฉบับเดิมหายไป กว่า 10,000 คดี ซึ่งเป็นคดีครอบครอง พืชกระท่อม ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้” นายนิยม กล่าว
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวอีกว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านบางส่วนจะเคี้ยวใบกระท่อมระหว่างการทำงาน จากผลวิจัยพบว่า ผู้ใช้พืชกระท่อมจะเกิดภาวะลำไส้อุดตันจากกากของใบกระท่อม ส่วนประเทศเพื่อนบ้านที่นำกระท่อมไปใช้นั้นส่วนใหญ่ใช้ในลักษณะเป็นตำรับยา มากกว่าการเคร้ยวใบสด โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการปลดออกจาบัญชียาเสพติด เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีกลุ่มคนบางคนนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ในทางที่ผิด ดังนั้นคณะกรรมการฯจึงต้องกำหนดมาตรการควบคุม เพื่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมในการกำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษที่มีปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานนั้นจะประชุมนัดแรกในวันที่ 18 ธ.ค.นี้ โดยคณะกรมการ ประกอบด้วย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, ผู้แทนกรมการปกครอง, ผู้แทนกรมการแพทย์, ผู้แทนกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก,ผู้แทนกรมวิชาการเกษตร, ผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, ผู้แทนกรมสุขภาพจิต, ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด, ผู้แทนสภาทนายความ, ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม, ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด, ผู้แทนองค์การเภสัชกรรม, นายวันชัย รุจนวงศ์ อดีตอธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ? และอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์, นายวิริศ อัมระปาล ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม (ด้านวิชาการ) และผู้ทรงคุณวุฒิที่ประธานเห็นชอบ 2 คน ในส่วนของเลขานุการประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรมและรองเลขาธิการ ป.ป.ส. ที่เลขาธิการป.ป.ส. มอบหมาย ส่วนผู้ช่วยเลขานุการ ประกอบด้วย ผู้แทนคณะกรรมการ ป.ป.ส. ที่เลขาธิการ ป.ป.ส. มอบหมาย 2 คน
สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ คือ 1.รวบรวมข้อมูล ศึกษาและวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาเกี่ยวกับการใช้พืชกระท่อมในรูปแบบต่างๆ 2.ศึกษาเปรียบเทียบข้อกฎหมายภายในประเทศ กฎหมายต่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้ในการควบคุมพืชกระท่อม เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมพืชกระท่อมให้เหมาะสมสำหรับประเทศไทย 3.พิจารณาให้ความเห็น ข้อเสนอแนะหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาการใช้พืชกระท่อม รวมทั้งผลดีผลเสีย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน หากยังคงพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ และ 4.ดำเนินการอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง