ข่าว

'หมอเอ้ก' แนะ เคสคนไข้หัวร้อนทำร้ายแพทย์หญิง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอเอ้ก"โพสต์เฟซบุ๊กแนะกรณีคนไข้หัวร้อนทำร้ายแพทย์หญิงในรพ.รัฐที่จ.ขอนแก่น ต้องเร่งเยียวยาหมอ-ดำเนินคดีตามกฎหมาย หามาตรการป้องกันระยะยาว ติงสื่ออย่าชี้นำ

 

 

             นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กผ่านแฟนเพจหมอเอ้ก คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีที่ มีคนไข้หัวร้อนใช้มีดแทงคอแพทย์หญิงรายหนึ่งในโรงพยาบาลรัฐที่จังหวัดขอนแก่น ชี้ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ให้ความยุติธรรมกับหมอ จี้ภาครัฐ-สาธารณสุข ต้องช่วยกันรับผิดชอบ แนะสื่อมวลชนอย่านำเสนอเชิงชี้นำ พร้อมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำอีก โดยในโพสต์ระบุว่า...

         อ่านข่าว : สธ.แจ้งความดำเนินคดีผู้ป่วย ทำร้ายแพทย์หญิง

 

          #zerotolerance

           (ความเห็นส่วนตัวต่อกรณีที่มีการทำร้ายบุคลากรทางการแพทย์)

          หนึ่งในเหตุผลของการดำรงอยู่ของรัฐ คือ เพื่ออำนวยความปลอดภัยและความมั่นคงแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่ถูกปกครองโดยรัฐ หาไม่เช่นนั้นแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีรัฐ อาจจะนึกถึงสมัยอาณานิคมของสหรัฐ ต้องพึ่งตัวเอง ที่บ้านต้องพกปืนไว้เพื่อป้องกันตัวเอง

          ในกรณีนี้ รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจะต้องดำเนินการตามช่องทางของกฎหมายให้ถึงที่สุด

          คนที่ผมเคยพบเจอที่ประสงค์ทำร้ายไม่ว่าด้วยทางกายภาพก็ดี หรือ วาจาก็ดี มักแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ

 

'หมอเอ้ก' แนะ เคสคนไข้หัวร้อนทำร้ายแพทย์หญิง

          1. ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะดี แต่คิดว่าตนมีสิทธิในการกระทำ โดยไม่คำนึงว่าการกระทำนั้นจะเป็นการละเมิดสิทธิอันพึงมีของผู้อื่น การกระทำลักษณะนี้ อาจจะใช้ช่องทางต่างๆในการเตือนเพื่อให้คนเหล่านี้ได้ทราบ แต่หากทราบแล้วและยังกระทำอีกก็ควรดำเนินการให้ถึงที่สุดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง

          2. ผู้ที่จิตไม่สมประกอบ ดังเช่นในกรณีนี้ที่พยายามอ้างถึงนั้น ยิ่งต้องรีบดำเนินการโดยเร็วโดยไม่รีรอ เพื่อให้ญาติหรือเจ้าหน้าที่ๆเกี่ยวข้องได้เข้ามาดูแล เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับผู้อื่นในสังคมอีก

 

          คราวนี้หากพิจารณาในบริบทของชีวิตจริงและกระแสสังคมไทย หน้างานจริง (เพิ่มความเห็นส่วนตัวมากขึ้นไปอีก)

 

          1. สื่อไม่ควรเขียนชี้นำ ว่าผู้ก่อเหตุคิดว่าตนเองเป็นลูกเทพ ทั้งๆที่ทราบมาเพียงว่า "เล่ากันปากต่อปาก.." สื่อระดับประเทศไม่สมควรที่จะอ้างอิงเหมือนกับเพจก๊อซซิปออนไลน์ เพราะว่า จะก่อให้เกิดกระแสสังคม เนื่องด้วยบริบทของคนไทยนั้นชอบเห็นใจผู้อื่น (ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ในการมีน้ำใจโอบอ้อมอารี) เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงไม่ควรชี้นำกระแสสังคม ก่อนการวินิจฉัยทางการแพทย์จริงว่าผู้ก่อเหตุมีจิตไม่สมประกอบ ซึ่งผู้ก่อเหตุสามารถที่จะใช้สิทธิในการให้การว่าจิตไม่สมประกอบได้อยู่แล้วในการให้การ

 

          2. เราพูดถึงเสมอถึงการอยากได้รับการบริบาลจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในรพ.รัฐที่ดีขึ้น แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อบุคลากรเหล่านี้เค้ายังรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตของเค้าอยู่เลย (ยังไม่ต้องไปพูดถึงค่าตอบแทน ตำแหน่ง การจำกัดชั่วโมงการทำงาน หรือสวัสดิการต่างๆด้วยซ้ำ) การเยียวยา การให้บุคลากรผู้ประสบกับเหตุการณ์นี้ได้พัก เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น มาตรการระยะยาวควรจะต้องมีการระดมสมองกันอย่างจริงจังได้แล้ว

         
         

 

 

          3. เราอาจจะได้เห็นความคิดเห็นที่โกรธ ไม่พอใจ และให้ทำร้ายร่างกายผู้ที่ทำร้ายบุคลากร ซึ่งตรงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องระวัง เพราะ หากเราทำเช่นนั้น เราจะต่างอะไรจากผู้ก่อเหตุ นี่จึงเป็นเหตุผลในการดำรงอยู่ของรัฐที่ต้องเข้ามาจัดการ การใช้วิธีแบบ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน นั้นอาจจะไม่สามารถนำไปสู่ทางออกที่ยั่งยืนได้ อย่างที่เราได้เห็นมาตลอดทั้งในเรื่องเล็กๆ หรือการเมืองระดับประเทศ

 

 

'หมอเอ้ก' แนะ เคสคนไข้หัวร้อนทำร้ายแพทย์หญิง

          ดังนั้น มองผิวเผินเหมือนจะเป็นเรื่องน่าตกใจ ที่เกิดขึ้นแล้วเดี่ยวก็ผ่านไป ตามรอบของข่าวประจำวัน แต่เหตุการณ์แบบนี้ คือ เหตุการณ์พื้นฐานที่สะสมๆ อาจจะ 10 ปี หรือ 20 ปี หรือ ในเวลาอันใกล้นี้ ที่จะทำให้บุคลากรด้านสาธารณสุขอยู่ไม่ไหว จนนำไปสู่การล่มสลายของระบบสุขภาพของเมืองไทย รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องออกแรงกันเยอะหน่อยครับงานนี้

 

         แนวทางดำเนินการ:

 

          - สธ.(หน่วยงานกลาง) ต้องดำเนินการตามกฎหมายด้วยความรวดเร็วและเด็ดขาด

           สธ.(รพ.ต้นสังกัด) ต้องเยียวยาบุคลากร(ซึ่งได้ข่าวว่าได้ดำเนินการอย่างเต็มที่แล้ว) รวมถึงให้ความคุ้มครองต่อบุคลากร เพราะ เราไม่สามารถทราบได้เลยว่าหลังเกิดเหตุการณ์และมีการดำเนินการทางกฎหมายแล้วจะมีการมาคุกคามอีกหรือไม่

          - นอกจากสธ.แล้ว หน่วยงานที่เปรียบเสมือน union ของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทยสภา แพทยสมาคม (ซึ่งมีพันธกิจคล้ายๆกัน คือ ส่งเสริมสวัสดิภาพของสมาชิก) อาจจะต้องเป็นตัวแทนของน้องหมอคนนี้ในการต่อสู้ หรืออาจจะต้องเป็นโจทก์ร่วมในการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญา เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของน้องหมอคนนี้ด้วยครับ

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ