ข่าว

ปรับแผนรับมือไฟใต้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2562

 

 

 

          นับเป็นอีกหนึ่งความสูญเสียครั้งสำคัญของสังคมไทย เมื่อกลุ่มคนร้ายที่เชื่อว่ามีจำนวนหลายสิบคนบุกเข้าไปยิงถล่มจุดตรวจชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านทางลุ่ม หมู่ 5 ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา กลางดึกของวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งวันนั้นมีการนัดหมายให้มาประชุมกัน จึงมีทั้ง ชรบ. และ อรบ. (อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน) รวมทั้งเครือญาติ นักศึกษา และประชาชน ตกเป็นเหยื่อถึง 15 ศพ แถมยังมีผู้บาดเจ็บอีก 5 คน จากการกระทำอันเหี้ยมโหดไร้มนุษยธรรมครั้งนี้ ไม่เพียงแค่สะเทือนขวัญความรู้สึกของผู้คนโดยทั่วๆ ไปเท่านั้น แต่ยังสั่นสะเทือนต่อความเชื่อมั่นไปถึงผู้กุมกลไกอำนาจรัฐในทุกระดับ เนื่องเพราะเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดของกองกำลังภาคประชาชนทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมที่ก่อตั้งขึ้นมาตลอด 15 ปี ในเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้

 

 

          เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กลุ่มคนร้ายหวังสร้างภาพข่าวให้คนไทยทั้งประเทศตกใจกับเหตุการณ์ความรุนแรง ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่มีการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ขนาดนี้ ซึ่งทางแม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งให้หน่วยเฉพาะกิจยะลาเข้าควบคุมสถานการณ์และบริหารจัดการที่เกิดเหตุและให้เก็บรวบรวมวัตถุพยานพร้อมช่วยเหลือผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้หน่วยเร่งรัดช่วยเหลือเยียวยาญาติและครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ ควบคู่กับให้ใช้มาตรการทางกฎหมายกับกลุ่มก่อเหตุอย่างเด็ดขาด โดยสั่งการเน้นย้ำทุกหน่วยปรับแผนการรักษาความปลอดภัยขยายไปยังชุมชนที่ไม่ล่อแหลม พร้อมกับเน้นย้ำให้ตำรวจรวบรวมวัตถุพยานให้รัดกุมที่สุดเพื่อบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็นที่ก่อเหตุในครั้งนี้


          ต้องยอมรับว่าปัญหาไฟใต้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่หมักหมมมายาวนาน ฝ่ายปฏิบัติการต้องทำงานหนักในการหาข่าว จึงมีการหาแนวร่วมกับชาวบ้านผู้รักชาติรักแผ่นดินจัดตั้งเป็นชรบ.อาสามาดูแลพื้นที่ พวกเขาเป็นชาวบ้านธรรมดา กลางวันทำงาน กลางคืนเสียสละออกมาดูแลพื้นที่ มีความเชี่ยวชาญน้อยกว่าเจ้าหน้าที่ที่ถูกฝึกมามากกว่า  จึงเป็นเป้าหมายของกลุ่มผู้ไม่หวังดี เป็นจุดอ่อนให้คนร้ายเลือกก่อเหตุ ขณะที่บางจุดเช่น ปัตตานี สายบุรี ปฏิบัติการลอบกัดของคนร้ายถูกฝ่ายรัฐโต้ตอบอย่างทันควัน เพราะมีกำลังพร้อมมากทั้งทหารหลัก ทหารพราน ดังนั้นจึงต้องปรับแผนเป็นจรยุทธ์เข้าพื้นที่แทนการประจำตามป้อม จะไม่อยู่ตามป้อมให้สามารถจับเป้าหมายได้ถูก ทำเลต้องปรับ และต้องเจาะลึก คือไม่ใช่นอนในป่า แต่ต่อไปต้องนอนใต้ถุนบ้าน ในหมู่บ้าน นั่นคือแผนการหนึ่งที่ฝ่ายความมั่นคงเตรียมนำมาปรับใช้




          ผ่านมา 15 ปี นับจากความรุนแรงที่เริ่มปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ทั้งการบุกปล้นปืนที่ค่ายทหารและการเผาโรงเรียนกว่า 20 แห่ง จนถึงวันนี้ ยอดผู้เสียชีวิตมากถึงกว่า 6 พันราย ผู้บาดเจ็บราว 2 หมื่นคน และงบประมาณแผ่นดินกว่า 3 แสนล้านบาทที่ใช้ไปในการแก้ไขความรุนแรง แต่ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐยังคงมีให้เห็นเป็นระลอก  รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศที่จะแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้เป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วน แต่ที่ผ่านมา 6 ปีในการบริหารประเทศ ยังไม่มีอะไรคืบหน้าเป็นรูปธรรมชัดเจน ที่สำคัญโศกนาฏกรรมครั้งนี้ยังถูกตั้งข้อสังเกตเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการเจรจาสันติสุขในพื้นที่ซึ่งว่างเว้นไประยะหนึ่งและดูมีทีท่ากระท่อนกระแท่น การยกระดับปัญหาเป็นวาระชาติอาจเป็นทางออกหนึ่งที่จะแก้ไขความซับซ้อนต่างๆ ออกไปได้


 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ