ข่าว

รับยาร้านยาสู่ ธุรกิจแชริ่ง งบรัฐแบ่งปันเอกชนหมุนเวียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  พวงชมพู ประเสริฐ  [email protected] 

 

 

 

          นโยบายให้ผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สมัครใจรับยาที่ร้านขายยาแทนรับจากโรงพยาบาลภายใต้การผลักดันในยุค “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ไม่เพียงมีเป้าหมายเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่เท่านั้น แต่จะมุ่งไปสู่การเกิด “แชริ่ง อีโคโนมี (Sharing Economy)” หรือ ธุรกิจแบ่งปัน ซึ่ง 4 ปีเป้าหมายร้านขายยาเข้าร่วม 5,000 แห่ง เป็นเงินจากรัฐไปสู่เอกชนแบบกำไรกว่า 1,600 ล้านบาท

 

 

          เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม วันแรกของการเริ่มนโยบายมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีคนไข้แออัดมากเข้าร่วม 35 แห่ง ร้านขายยา 300 แห่ง จากเป้าหมายในปีงบประมาณ 2563 โรงพยาบาล 50 แห่ง ร้านขายยา 500 แห่ง โดยจะต้องเป็นผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค คือ เบาหวาน ความดัน หอบหืด จิตเวช ที่แพทย์วินิจฉัยว่าอาการคงที่ และผู้ป่วยสมัครใจรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านที่ร่วมโครงการซึ่งจะต้องเป็นร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ขย.1) ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมีเภสัชกรอยู่ประจำร้าน 8 ชั่วโมง โดยยาที่ผู้ป่วยจะได้รับจากร้านยาจะเป็นยาที่จัดส่งมาจากโรงพยาบาลเป็นยารายการเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วย

 

รับยาร้านยาสู่ ธุรกิจแชริ่ง งบรัฐแบ่งปันเอกชนหมุนเวียน

 


          รูปแบบนี้จะเป็นระยะแรกของนโยบายเท่านั้น เพราะ “อนุทิน” อธิบายว่า นโยบายจะแบ่งเป็นระยะๆ หรือเฟส ตอนนี้อยู่เฟส 1 เป็นการทดลองระบบให้ประชาชนเกิดความคุ้นชิน ด้วยการที่โรงพยาบาลจัดยามาให้ร้านยา แต่เฟส 3 จะไปสู่เป้าหมายประชาชนถือใบสั่งยาไปซื้อที่ร้านขายยาได้เลย เป็นการกระจายรายได้เป็นลักษณะของ “แชริ่ง อีโคโนมี” หรือ ธุรกิจแบ่งปัน


          “ร้านขายยาที่เข้าร่วมจะได้รับค่าจัดบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ 70 บาทต่อครั้ง ส่วนนี้ถือเป็นกำไรล้วนๆ แบบไม่มีต้นทุนใด นอกจากการที่เภสัชกรจะต้องให้ความรู้เกี่ยวกับยาแก่ผู้ป่วยเพราะยาจะถูกส่งมาจากโรงพยาบาล ซึ่งโดยปกติร้านขายยาจะต้องขายยาให้ได้ 300-500 บาทต่อ 1 ใบเสร็จจึงจะได้กำไร 70 บาท” นายอนุทินกล่าว

 

 

 

รับยาร้านยาสู่ ธุรกิจแชริ่ง งบรัฐแบ่งปันเอกชนหมุนเวียน

 


          จากร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขย.1 ที่ขึ้นทะเบียน 13,906 แห่ง เป็น ร้านขายยาหลายสาขา (Chain Store) 3,338 แห่ง คิดเป็น 24% ร้านขายยาเดี่ยว (Stand-alone) 10,568 แห่ง คิดเป็น 76%  หากพิจารณาจาก 300 ร้านขายยาที่ร่วมโครงการ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นร้านขายยาเดี่ยวราว 91.4% และร้านขายยามีหลายสาขา 8.6% โดยร้านบู๊ทส์ร่วมมากที่สุด 12 แห่ง และร้านเอ็กซ์ต้า พลัส 10 แห่ง นับว่าระยะแรกยังไม่เห็นแนวโน้มของการกระจุกตัวอยู่เฉพาะร้านขายยาใหญ่ๆ




          ทว่านโยบายนี้มีระยะเวลาดำเนินการอีก 4 ปี จะต้องพิจารณายอดเมื่อร้านยาครบ 5,000 แห่งอีกครั้งว่ามีการกระจุกตัวมากหรือน้อย อย่างไรก็ตามสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ข้อมูลว่า การคัดเลือกร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการนอกจากคุณสมบัติต้องครบตามเกณฑ์แล้วระดับพื้นที่จะเป็นผู้พิจารณาเลือกร้านขายยาเองโดยมีคณะทำงานที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยร่วมคัดเลือก
 

          “ร้านยาเป้าหมายต้องมีความเท่าเทียม ไม่เหลื่อมล้ำ ยิ่งร้านยาเล็กที่เข้าเกณฑ์คุณสมบัติของสปสช.ที่จะเข้าร่วมได้ต้องไปส่งเสริมให้ร้านยาเหล่านั้นมาขึ้นทะเบียนร่วมโครงการกับสปสช.ให้มากที่สุด” นายอนุทินกล่าว 

 

รับยาร้านยาสู่ ธุรกิจแชริ่ง งบรัฐแบ่งปันเอกชนหมุนเวียน

 

 


          การให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านขายยานั้น มีการจำกัดผู้ป่วย 30 คนต่อ 1 ร้านยาต่อวัน เท่ากับ 1 วันร้านขายยาจะได้รับกำไรจากนโยบายนี้แบบไม่มีต้นทุนใดๆ นอกจากการที่เภสัชกรจะให้ความรู้เกี่ยวกับยาแก่ผู้ป่วยราว 2,100 บาทต่อวัน ขณะเดียวกันมีการให้ค่าบริหารจัดการแก่โรงพยาบาลที่ร่วม 33,000 บาทต่อร้านยา 1 แห่งต่อปี


          ทั้งนี้การประมาณการงบประมาณของสปสช.ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563–2566 รวม 4 ปี จะใช้ประมาณราว 2,022 ล้านบาท ในจำนวนนี้จ่ายให้ร้านขายยาราว 1,643 ล้านบาท และให้โรงพยาบาลจำนวน 379 ล้านบาท โดยหลังครบระยะเวลา 4 ปีก็จะตั้งเป็นงบประมาณประจำของนโยบายนี้ คาดว่าจะใช้งบราว 850 ล้านบาทต่อปี ให้ร้านขายยา 685 ล้านบาท และโรงพยาบาล 165 ล้านบาท


          ผลประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับจากการนำ “กำไร” ล้วนๆ ไปให้เอกชนใน 4 ปี กว่า 1,600 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสปสช.คาดหวังว่าจะมีผู้ป่วยสมัครใจรับยาที่ร้านขายยาราว 30% ของผู้รับบริการ หรือราว 2 ล้านครั้ง จากที่มีการใช้บริการที่โรงพยาบาล 7 ล้านครั้ง จะเป็นการลดความแออัดให้โรงพยาบาลได้ ในมุมของผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลารอรับบริการที่โรงพยาบาลนานและไม่ต้องเสียค่าเดินทางไปยังโรงพยาบาล และอาจจะเป็นการลดการครอบครองยาเกินจำเป็นข้องผู้ป่วย

 

 

 

รับยาร้านยาสู่ ธุรกิจแชริ่ง งบรัฐแบ่งปันเอกชนหมุนเวียน

 


          ซึ่งข้อมูลจากกองบริการการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ระบุว่า การประมาณการในระดับประเทศผู้ป่วยราว 19.2 ล้านคนครอบครองยาเกินจำเป็น มูลค่าความสูญเสียทางการคลัง 2,349 ล้านบาท หรือ 1.7% ดังนั้นหากเป็นการนำเงินราว 685 ล้านบาทต่อปีไปให้เอกชนแต่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้จริงและเกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจก็น่าจะคุ้ม


          “ยืนยันว่านโยบายนี้ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้ร้านยาขนาดใหญ่แน่นอน แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชน ลดความเครียดของแพทย์และบุคลากรในโรงพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็เอื้อร้านขายยาให้มีช่องทางในการเพิ่มรายได้ ช่วยเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจด้วย วินๆ ทุกฝ่าย” นายอนุทินกล่าว
   

          อย่างไรก็ตามที่น่ากังวลคือ “เมื่อไหร่ที่ผู้ป่วยจะได้กลับไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอีกครั้ง” ในประเด็นนี้ สปสช.ให้ข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการรับยาที่ร้านขายยาว่า ในครั้งแรกผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามนัด หากแพทย์วินิจฉัยอาการคงที่และผู้ป่วยสมัครใจรับยาร้านขายยา โรงพยาบาลก็จะส่งข้อมูลผู้ป่วยเท่าที่จำเป็นให้ร้านขายยาที่ผู้ป่วยเลือก จากนั้นในวันนัดครั้งต่อไปผู้ป่วยสามารถไปรับยาเดิมที่ร้านขายยาได้ ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล
    

 

 

รับยาร้านยาสู่ ธุรกิจแชริ่ง งบรัฐแบ่งปันเอกชนหมุนเวียน

 

 

          ขณะเดียวกันเภสัชกรที่ร้านจะทำหน้าที่ในการติดตามอาการผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะมีคู่มือการติดตามอาการผู้ป่วยแต่ละโรคให้แก่เภสัชกร โดยจะต้องบันทึกข้อมูลออนไลน์ที่เชื่อมต่อระหว่างโรงพยาบาลกับร้านทุกครั้ง หากเห็นว่าผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงของอาการเกิดขึ้น เภสัชกรจะต้องสื่อสารข้อมูลส่งไปยังโรงพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยกลับเข้ารับการตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาล หรือแพทย์เห็นอาการผู้ป่วยจากระบบออนไลน์ก็สามารถส่งเรื่องยังเภสัชกร เพื่อแจ้งให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล
   

          เหนือสิ่งอื่นใดนโยบายนี้สำคัญที่สุดคือ “ความปลอดภัยในการใช้ยาของผู้ป่วย” ควรมาก่อนเป้าหมายของการแบ่งปันทางธุรกิจ โดยเฉพาะท่ามกลางเสียงสะท้อนว่า “ร้านขายยาเภสัชกรแขวนป้าย” หรือ "ไร้เภสัชกรอยู่ประจำร้าน” ยังมีอยู่จำนวนไม่น้อย!!!


          35 รพ.รับยาที่ร้านขายยา
          จากการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รับยาโดยไม่ต้องรอคิวที่โรงพยาบาลรัฐ 35 แห่ง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 50 แห่งภายในปี 2563 รายชื่อต่อไปนี้คือโรงพยาบาลนำร่องที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยแยกเป็นภูมิภาคได้ดังนี้


          ภาคเหนือ+ตะวันตก 1.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 2.รพ.นครพิงค์ 3.รพ.สวนปรุง (เชียงใหม่) 4.รพ.ลำพูน 5.รพ.เพชรบูรณ์ 6. รพ.ราชบุรี ภาคตะวันออก 7.รพ.ชลบุรี 8.รพ.ระยอง 9.รพ.พระปกเกล้า (จันทบุรี)


          ภาคใต้ 10.รพ.สงขลานครินทร์ 11.รพ.หาดใหญ่ (สงขลา) 12.รพ.สุราษฎร์ธานี 13.รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช 14.รพ.วชิระภูเก็ต 15.รพ.ตรัง


          ภาคกลาง 16.รพ.เลิดสิน (กทม.) 17.รพ.ราชวิถี (กทม.) 18.รพ.นพรัตนราชธานี (กทม.) 19.รพ.สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า (สมุทรสงคราม) 20.รพ.พระพุทธชินราช (พิษณุโลก) 21.รพ.สระบุรี 22.รพ.พระพุทธบาท 23.รพ.บ้านหมอ 24.รพ.เสาไห้ (สระบุรี) 25.รพ.สวรรค์ประชารักษ์ (นครสวรรค์) 26.รพ.บางพลี (สมุทรปราการ)


          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 27.รพ.สรรพสิทธิประสงค์ (อุบลราชธานี) 28.รพ.วารินชำราบ (อุบลราชธานี) 29.รพ.อุดรธานี 30.รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ 31.รพ.มหาราชนครราชสีมา 32.รพ.ขอนแก่น 33.รพ.ร้อยเอ็ด 34.รพ.สุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 35.รพ.มหาสารคาม


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ