ข่าว

คุก 1 ปี ปรับ 1 หมื่น "บรรเจิด" ผิด ม.157

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลคดีทุจริตฯ จำคุก 1 ปี ปรับ 1 หมื่น "บรรเจิด" –ผอ.หลักสูตรฯ ผิดตามฟ้อง นำข้อมูลคลาดเคลื่อนสู่ที่ประชุมส่งผลยกเลิก กก.สอบวิทยานิพนธ์เดิม นศ.ชายป.โท ไม่จบ

 

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตฯ จำคุก 1 ปี ปรับ 1 หมื่น "บรรเจิด" –ผอ.หลักสูตรฯ ผิดตามฟ้อง เจตนานำข้อมูลคลาดเคลื่อนสู่ที่ประชุมส่งผลยกเลิก กก.สอบวิทยานิพนธ์เดิม นศ.ชาย ป.โท ไม่จบ แต่ไม่เคยรับโทษอาญา ให้โอกาสกลับตัวใช้ความรู้วิชาการเพื่อประโยชน์ราชการ ให้รอลงอาญาคนละปี ลุ้นคดีถึงฎีกาหรือไม่ ส่วน "สมบัติ ธำรงธัญวงศ์" อดีต อธก.นิด้า" พ้นผิด ม.157 ไร้เจตนา
 

 

          วันที่ 11 ก.ค.62 - ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลได้อ่านคำพิพากษาอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อท.281-282/2561 ที่ นายธนกฤต ปัญจทองเสมอ หรือนายสมศักดิ์ ทองเสมอ นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชากฎหมายสำหรับนักบริหาร คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เป็นโจทก์ฟ้อง นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดี (อธก.) นิด้า จำเลยที่ 1 , นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อดีตรอง อธก.นิด้า และประธานกรรมการที่ประชุมคณบดีและผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (ทคอ. การศึกษา) ที่ 2 , นายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์และประธานกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ที่ 3 , นายนเรศร์ เกษะประกร อดีต ผอ.หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ที่ 4 , นายสุนทร มณีสวัสดิ์  อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ที่ 5 , น.ส.วริยา ล้ำเลิศ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์และกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ที่ 6 , น.ส.วราภรณ์ วนาพิทักษ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์และกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ที่ 7 ( โจทก์ถอนฟ้องระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง) ,นายกิตติภูมิ เนียมหอม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์และกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  ที่ 8  , นางอัจชญา สิงคาลวานิช ผอ.กองบริหารการศึกษาและกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ที่ 9, น.ส.ภัทริน  วรเศรษฐมงคล เลขานุการคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ที่ 10

 

          นายธวัชชัย ศุภดิษฐ์ ที่ 11 , น.ส.บุญอนันต์ พินัยทรัพย์ ที่ 12 , นายบุญชัย หงส์จารุ ที่ 13 , น.ส.อมรรัตน์ อภินันท์มหกุล ที่ 14 , น.ส.วัชรีภรณ์ ไชยมงคล ที่15, นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ที่ 16, นายสมบัติ กุสุมาวลี ที่ 17, นายสุดสันต์ สุทธิพิศาล ที่ 18 , นางอุบลวรรณ เปรมศรีรัตน์ ที่ 19, นายปราโมทย์ ลือนาม ที่ 20 โดยจำเลยที่ 11-20 เป็นกรรมการ ทคอ.การศึกษา ,น.ส.รุ่งทิพย์ ศิริปิ่น หัวหน้าสำนักงานเลขานุการคณะนิติศาสตร์ นิด้า ที่ 21 ,และน.ส.จารุณี พันธ์ศิริ เจ้าหน้าที่ธุรการประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ นิด้า ที่ 22 เป็นจำเลยในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157  พร้อมเรียกค่าสินไหมทดแทนทางแพ่ง จากกรณี โจทก์ได้ทำการสอบวิชาวิทยานิพนธ์ตามกระบวนการและระเบียบของคณะนิติศาสตร์ นิด้า เรียบร้อยแล้ว โดยคณะกรรมการสอบมีมติให้ผ่านการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ เมื่อวันที่ 26 มี.ค.55 โดยให้ปรับปรุงแก้ไขแต่ไม่ต้องสอบใหม่และให้สอบป้องกันวิทยานิพนธ์ในวันที่ 25 เม.ย.55 ซึ่งผ่านในระดับดี  

 

          โจทก์จึงดำเนินการเกี่ยวกับรูปเล่ม ซึ่งได้รับการอนุมัติจนมีสิทธิ์ที่จะจบการศึกษา ตามข้อบังคับสถาบันว่าด้วยการศึกษา พ.ศ.2549 โดยจำเลยที่ 3 และเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการเพื่อขอนุมัติสำเร็จการศึกษาให้โจทก์เพื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในปีการศึกษา 2555 แต่พวกจำเลยไม่ดำเนินการดังกล่าวให้โจทก์ตามปกติ มีเจตนากลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โดยมีมูลเหตุจากที่โจทก์เคยร้องเรียนเรื่องการสอบทุจริตการเงินในคณะนิติศาสตร์ต่อดีเอสไอ , สน.ลาดพร้าว และป.ป.ช. โดยจำเลยก็ให้ข้อมูลกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมกับผู้อื่นร้องเรียนให้ร้าย มุ่งทำลายคณะนิติศาสตร์ให้เสียหาย ขณะที่จำเลยอ้างว่าการจัดสอบวิทยานิพนธ์ให้โจทก์นั้นขัดต่อข้อบังคับของนิด้า ที่ว่า ห้ามอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลักและอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมเป็นประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ฯ ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่า อาจารย์ที่ปรึกษาของโจทก์ไม่ได้เป็นประธานกรรมการสอบ

 

          ขณะที่ประธานกรรมการสอบครั้งนั้น ก็ไม่ได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลักหรืออาจารย์ที่ปรึกษาร่วมของโจทก์ โดยจำเลยยังมีเจตนาให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและคณะกรรมการ ทคอ. การศึกษา ร่วมกระทำผิดเพื่อไม่ให้โจทก์สำเร็จการศึกษา จนเมื่อวันที่ 6 พ.ย.55 พวกจำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ พิจารณายกเลิกคำสั่งสอบวิทยานิพนธ์ของโจทก์ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่มีกฎหมายให้อำนาจและพ้นระยะเวลาแล้ว โดยการศึกษาดังกล่าวโจทก์ต้องชำระค่าเรียนเป็นเงิน 234,700 บาท ซึ่งหากสำเร็จการศึกษาโจทก์ก็จะมีโอกาสได้รับเงินเดือนเพิ่ม ดังนั้นโจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาการกระทำของจำเลยและให้ชดใช้ค่าการศึกษาและการที่ต้องขาดประโยชน์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,484,700 บาท จำเลยที่ 1-22 สู้คดีให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

 

          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2560 ว่า นายสมบัติ อดีตอธิการบดี (อธก.) นิด้า จำเลยที่ 1 , นายประดิษฐ์ อดีตรอง อธก.นิด้า และ  นายบรรเจิด คณบดีคณะนิติศาสตร์และประธานกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต ที่ 3 ผิดตามมาตรา 157 โดยเจตนาที่จะยังไม่ให้โจทก์สำเร็จการศึกษา อันอยู่ในขอบข่ายของความรับผิดทางอาญา แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นข้าราชการและนักวิชาการที่ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดจึงให้รอการกำหนดโทษไว้เป็นเวลา 3 ปี (ศาลตัดสินว่ามีความผิด แต่ยังไม่กำหนดอัตราโทษว่าควรจะจำคุกเท่าใดหรือปรับเท่าใด) ส่วนจำเลยที่ 2 ,4, 5-22 ให้ยกฟ้องและให้ยกฟ้องคำขอชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนแพ่งด้วย

         

          ต่อมาโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นอุทธรณ์ ขณะที่ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว กรณีที่ นายบรรเจิด คณบดีนิติศาสตร์ จำเลยที่ 3 , นายนเรศร์ ผอ.หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต จำเลยที่ 4 ถูกฟ้องว่าก่อนสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ ร่วมกับจำเลย ที่ 21-22 ขัดขวางการสอบของโจทก์ และหลังจากโจทก์สอบวิทยานิพนธ์ผ่านแล้ว จำเลยได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ส่งวิทยานิพนธ์ตรวจสอบรูปเล่ม และไม่ส่งผลการอนุมัติต่อสภามหาวิทยาลัยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่ากรณีที่อ้างมีการขัดขวางยังไม่มีความชัดเจนถึงการกระทำของจำเลยจนถึงขนาดว่า ไม่สามารถดำเนินการสอบต่อไปได้ โดยโจทก์ก็ยังได้สอบป้องกันวิทยานิพนธ์ได้ตามกำหนด กรณีนี้จึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง  

 

          แต่การที่นายบรรเจิด คณบดีนิติศาสตร์ จำเลยที่ 3  ยึดถือเอารายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการฯที่แต่งตั้งขึ้น ซึ่งไม่ตรงประเด็นตามที่โจทก์ร้องเรียนและคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง รายงานต่อ นายสมบัติ อดีต อธก.นิด้า จำเลยที่ 1 ว่าคำสั่งคณะนิติศาสตร์ในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นผู้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุม ทคอ.การศึกษา จนที่ประชุมมีมติเห็นด้วยว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของโจทก์ตามคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องแล้วจำเลยที่ 3 ก็นำเอามติที่ประชุมดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากฎหมาย เมื่อวันที่ 6 พ.ย.55 โดยยังยืนยันว่าคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบเค้าโครงและสอบป้องกันวิทยานิพนธ์เป็นการลงนามที่ไม่ชอบ การแต่งตั้งไม่ถูกต้องตามองค์ประกอบ กระทั่งที่ประชุมนั้นมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ของโจทก์ใหม่เพื่อยกเลิกคำสั่งเดิม

 

          ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำสั่งคณะนิติศาสตร์ ซึ่งแต่งตั้งอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วมของโจทก์น่าจะเป็นการออกคำสั่งที่ผิดพลาดไม่ตรงต่อความเป็นจริงเท่านั้น โดยอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขให้ถูกต้องหรือยกเลิกตั้งแต่แรกได้ แต่คณะนิติศาสตร์ โดยจำเลยที่ 3 ไม่ทำเช่นนั้น ซึ่งได้อ้างว่าไม่ทราบเรื่องการสอบวิทยานิพนธ์ของโจทก์มาก่อน เพิ่งรู้ในวันที่ 24 เม.ย.55 ซึ่งขัดกับรายงานการประชุมอาจารย์คณะนิติศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 เม.ย.55 ขณะที่การสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของโจทก์ก็ทำโดยเปิดเผยที่ห้องประชุมของคณะ ข้ออ้างของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น หากจำเลยที่ 3 เพิ่งรู้ก็น่าที่จะสอบถามอาจารย์ที่ปรึกษาหรือตัวโจทก์โดยตรง แต่กลับเลือกที่จะโทรศัพท์ไปแจ้งบุคคลภายนอก จึงทำให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 มีทัศนคติด้านลบต่อโจทก์มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาภายในคณะนิติศาสตร์ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาชั้นนำเช่นนี้

 

          ขณะที่ นายนเรศร์ ผอ.หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต จำเลยที่ 4 ซึ่งทราบข้อเท็จจริงเรื่องอาจารย์ที่ปรึกษาและการสอบวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาหลักสูตรที่ตนเป็นผู้อำนวยการ แต่ปกปิดไม่บอกข้อมูลแก่คณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงกลับให้ข้อมูลการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของโจทก์ว่าเป็นการนัดหมายกันเอง ระหว่างโจทก์กับคณะกรรมการฯ ไม่มีการแจ้งให้ผอ.หลักสูตรทราบ และไม่มีผอ.หลักสูตรอยู่ด้วยในการสอบ ต่างจากการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาคนอื่น ซึ่งขัดกับรายงานการประชุมอาจารย์คณะนิติศาสตร์ และเมื่อทราบรายงานผลการสอบสวนหาข้อเท็จจริงว่าคำสั่งคณะนิติศาสตร์คลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง จำเลยที่ 4 ในฐานะผอ.หลักสูตรที่รู้ข้อเท็จจริงดีก็ไม่ได้ทักท้วงหรือโต้แย้งกลับลงมติในการประชุมคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯให้ตั้งกรรมการสอบวิทยานิพนธ์กับโจทก์ใหม่ ทั้งที่น่าจะรู้ว่าหากยึดถือตามผลการสอบสวนหาข้อเท็จจริงนั้นย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 3-4 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โดยมีเจตนาเดียวกันคือไม่ให้โจทก์สำเร็จการศึกษา

 

          ส่วนกรณี นายสมบัติ อดีต อธก.นิด้า จำเลยที่ 1 ที่โจทก์อ้างว่า แจ้งให้ทราบเกี่ยวกับการกระทำไม่ชอบของจำเลยที่ 3 และ 4 ในการปฏิบัติหน้าที่แล้วได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่แก้ไขเยียวยาให้โจทก์แต่กลับสั่งให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นคู่กรณีดำเนินการตรวจสอบและชี้แจงต่อที่ประชุม ทคอ.การศึกษา ทั้งที่ที่ประชุมดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ ศาลอุทธรณ์ฯเห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้เกษียนสั่งในหนังสืออุทธรณ์ของโจทก์ เมื่อวันที่ 11 ก.ย.55 ว่าขอความเห็นในส่วนของการดำเนินการของคณะเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้รายงานข้อเท็จจริงให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงความเป็นมาและปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการสอบวิทยานิพนธ์ของโจทก์และดำเนินการในส่วนของคณะนิติศาสตร์แล้ว โดยจำเลยที่ 1 เห็นว่าเป็นปัญหาที่ควรให้ที่ประชุม ทคอ.การศึกษาพิจารณาจึงได้สั่งการไป ส่วนที่ประชุมจะมีความเห็นอย่างไรก็เป็นอำนาจอิสระที่จะพิจารณาตามหลักฐาน และเมื่อได้รับรายงานผลประชุมแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ได้แจ้งผลการพิจารณาให้โจทก์ทราบซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไปตามอำนาจ โดยไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 กระทำการไม่ชอบที่สั่งการต่อจำเลยที่ 3 ที่จะมีเจตนากลั่นแกล้งตามที่โจทก์อ้าง การที่โจทก์ไม่สำเร็จการศึกษาแม้จะเป็นเพราะคณะนิติศาสตร์มีคำสั่งยกเลิกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบเค้าโครงและสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ปี 55 ส่วนหนึ่งก็มาจากที่โจทก์ไม่ยอมเข้าสอบวิทยานิพนธ์ใหม่ตามที่คณะกำหนด ไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 โดยตรง นายสมบัติ อดีต อธก.นิด้า จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิด ตามมาตรา 157 นั้นศาลอุทธรณ์ฯ ไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น

 

          สำหรับกรณีของจำเลยอื่น ฟังได้ว่าเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากที่ประชุม ทคอ.การศึกษาโดยไม่ปรากฏว่ามีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ส่วนที่โจทก์อ้างว่าที่ประชุม ทคอ.การศึกษาไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องอุทธรณ์ของโจทก์นั้น ศาลเห็นว่ามีอำนาจพิจารณาได้ตามข้อบังคับ นิด้า ว่าด้วยการศึกษา พ.ศ.2549 เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติและการตีความตามข้อบังคับ ซึ่งจำเลยส่วนที่เกี่ยวข้องก็เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ดำเนินการในส่วนงานธุรการเกี่ยวกับเรื่องขอจบการศึกษาของโจทก์ ซึ่งต้องปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะกระทำโดยพละการได้ อุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ,5-22 ฟังไม่ขึ้น

 

          จึงพิพากษาแก้เป็นว่า นายบรรเจิด คณบดีคณะนิติศาสตร์และประธานกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต จำเลยที่ 3 , "นายนเรศร์" อดีต ผอ.หลักสูตรศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต จำเลยที่ 4 มีความผิดตามมาตรา 157 อันเป็นความผิดกรรมเดียวให้จำคุกคนละ 1 ปี และให้ปรับคนละ 10,000 บาท ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3-4 เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงเห็นควรให้โอกาสได้ทำงานด้านวิชาการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการต่อไปโทษจำคุกนั้น จึงให้รอลงอาญาเป็นเวลาคนละ 1 ปี

 

          และพิพากษาให้ยกฟ้อง นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดี (อธก.) อดีตอธิการบดี (อธก.) จำเลยที่ 1  นอกจากที่แก้แล้วก็ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลคดีนั้นยังไม่ถือเป็นที่สุด ซึ่งตามขั้นตอนกฎหมาย หากคู่ความยังฎีกาก็สามารถทำได้ตามกฎหมายลักษณะขออนุญาตฎีกา ซึ่งต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุผลที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณา.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ