ข่าว

ฟ้องแล้ว "เสี่ยเบนซ์" ซิ่งชน "รองตี๋-เมีย" ดับ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลตลิ่งชันนัดพิพากษา 31ก.ค.นี้ สั่งสืบเสาะประวัติ หลัง "เสี่ยเบนซ์" รับสารภาพซิ่งชน "รองตี๋ รองผกก.ป-เมีย" ดับ อัยการฟ้อง 3 ข้อหา ประมาททำคนตาย ไม่ฟ้องข้อหาฆ่า

 

ศาลจังหวัดตลิ่งชัน นัดพิพากษา 31 ก.ค.นี้ สั่งสืบเสาะประวัติ หลังเจ้าตัวรับสารภาพอัยการฟ้อง 3 ข้อหาประมาททำคนตาย ไม่ฟ้องข้อหาฆ่า "เลขาฯศาลยุติธรรม" สัมมนาวงสื่อ ระบุ แนวคิดตั้งศาลจราจรไม่มี แค่ออกกฎหมายพิจารณาคดีจราจร หรือตั้งแผนกคดีเฉพาะ แนะเมาขับแล้วต้องเน้นรถรงค์ป้องกันบูรณาการทั้งสังคม สร้างวัฒนธรรมทำตาม ก.ม.จนชินเป็นนิสัย

 

          30 มิ.ย.62  - ที่โรงแรม Oakwood ศรีราชา นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นประธานเปิดงานสัมมนาสื่อมวลชนสัมพันธ์ประจำศาลยุติธรรม ระหว่างวันที่ 29-30 มิ.ย.นี้ โดย นายสราวุธ กล่าวตอบคำถามสื่อแนวคิดการตั้งศาลจราจรว่า ตามที่ตนเป็น 1 ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีนายอัชพร จารุจินดา เป็นประธานนั้น จริงๆ ตามแผนปฏิรูปก็เสนอออกเป็นแค่ร่างกฎหมาย "วิธีพิจารณาคดีจราจร..." ซึ่งเป็นตัวเดียวกับศาลยุติธรรมเคยยกร่างไว้ แล้วเมื่อมีสภาปฏิรูปฯ ขึ้นมา จึงนำร่างนั้นมาปัดฝุ่นใหม่ และเมื่อส่งเรื่องกลับมาสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งตามขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมาย ต้องเสนอเป็นวาระให้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) พิจารณา

 

          โดยตนนำเสนอวาระต่อ ก.บ.ศ.แล้วว่าจะเห็นชอบด้วยลักษณะหรือไม่ แต่โดยหลักการแล้วคือเราไม่ต้องการศาลเพิ่ม โดยให้ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้ว เช่น มีศาลแขวงก็ใช้ศาลแขวง โดยคิดว่าจะให้มีแผนกจราจร ใช้ "ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีจราจร..." ส่วนนี้คือสิ่งที่จะทำ ซึ่งตอนนี้ประธานศาลฎีกาก็ยังไม่มีนโยบายเปิดศาลเพิ่มตอนนี้เพราะมองว่า ปัจจุบันคดีในศาลยุติธรรม 275 แห่งทั่วปะเทศ มีปริมาณคดีเกือบ 2 ล้านคดี เทียบกับปริมาณศาลที่ให้บริการอยู่ก็เพียงพออยู่แล้ว อย่างไรก็ดีสำหรับแนวทางว่าจะเกิดเป็น "ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีจราจร..." หรือ ทำเป็นแผนกคดีจราจร ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ทันภายในปี 2562 นี้ เพราะวันนี้การพิจารณาร่างกฎหมายคงต้องใช้เวลาในการเสนอเข้า ครม. ผ่านสภาผู้แทนและวุฒิสภา ต่างกับยุค สนช. อีกทั้งยังมีอีกหลายประเด็นต้องพิจารณา

 

          เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการพูดคุยกันในวงสัมมนา มีการเสนอให้ปรับอัตราโทษขั้นต่ำการลงกลุ่มเมาแล้วขับ ในข้อหากระทำประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็น 15 หรือ 20 ปี เพื่อไม่เปิดช่องในการรอลงอาญา แทนที่จะเสนอข้อหาฆ่าหรือพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ที่จะเป็นการลงโทษรุนแรงทำให้ผู้ก่อเหตุรู้สึกในความผิดและเกิดความเกรงกลัว นายสราวุธ กล่าวว่า ถ้ามุมมองของศาล ก็เหมือนปัญหายาเสพติด การเพิ่มโทษแก้ปัญหาอาชญากรรม แก้ปัญหาความผิดได้หรือไม่ ทุกวันนี้คดียาเสพติด 70-80% ทั้งหมดที่อยู่ในเรือนจำก็โทษสูงจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตไม่ใช่หรือ แล้วโทษประหารชีวิตแก้ปัญหาการกระทำผิดของคนได้หรือไม่

 

          "ผมคิดว่าการจะแก้ปัญหาเหล่านี้ ไม่ใช่แก้โดยวิธีการเพิ่มโทษ เพิ่มโทษไม่ใช่ทางออกในการอาชญวิทยา แต่ปัญหาเหล่านี้ต้องสร้างการรับรู้ของคนในสังคมให้คนช่วยกันรณรงค์ป้องกันที่จะทำสิ่งเหล่านั้น อย่างถ้าไปงานเลี้ยงแล้วเมา แทนที่เราจะขับกลับเองแล้วเราก็เรียกรถที่ให้บริการส่งคนมาช่วยขับกลับบ้าน พยายามรณรงค์ให้ข้อมูล ให้ความสะดวก ให้ทุกคนทำโดยชี้ให้เห็นว่าอย่างนี้จะมีประโยชน์มากกว่า ให้ทำในเชิงป้องกันดีกว่า" นายสราวุธ กล่าว

 

          เมื่อถามถึงการพิจารณาเมาแล้วขับที่มีการเสนอไม่ควรนำเรื่องการรอการลงโทษมาใช้ นายสราวุธ กล่าวว่า การรอลงอาญา ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ เห็นว่าการจำคุกระยะสั้นไม่เกิดประโยชน์อะไร แทนที่จะให้เขากลับตัวคนดีและเยียวยาชดใช้ให้สังคมกับการลงลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทนเราต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ตนคิดว่ากลไกกฎหมายเรื่องการใช้ดุลย์พินิจรอการลงโทษตามประมวลความอาญา มาตรา 56 มีไว้ก็เพื่อสร้างความสมดุล ในการพิจารณาแต่ละเรื่องซึ่งเราไม่สามารถที่จะพิจารณาลงโทษคนตามกระแสตามความสะใจของแต่ละคนนั้นเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเราต้องมองภาพรวมทั้งหมดในระบบของการบริหารจัดการ ซึ่งสิ่งที่ตนมองว่าเราควรทำงานเน้นเรื่องการรณรงค์เพื่อเป็นการป้องกันนั้นก็ต้องทำแบบบูรณาการตั้งแต่ครอบครัว สถานศึกษา และทุกองคพยพในสังคมต้องช่วยกัน โดยต้นทุนที่เสียไปนั้นก็น้อยกว่า ต้องสร้างวัฒนธรรมการปฏิบัติตามกฎหมายที่ดี สิ่งเหล่านี้ต้องสร้างเหมือนประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ที่คนในประเทศเคารพกฎหมาย โดยวัฒนธรรมเหล่านั้นมีส่วนที่ดี มากกว่าโทษที่รุนแรง ซึ่งทำจนเป็นอุปนิสัยความเคยชิน ส่วนศาลเป็นลำดับสุดท้ายปลายทาง โดยคดีเพิ่มขึ้นทุกปีก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรจะให้ลดน้อยลง

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีเมาแล้วขับ คดีล่าสุดที่เป็นข่าวคครึกโครม จนมีการพูดถึงเรืื่องปรับบทลงโทษแจ้งข้อหาหนักฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 นอกจากนี้ข้อหากระทำการประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มาตรา 291 นั้น คือกรณีที่นายสมชาย เวโรจน์พิพัฒน์ อายุ 56 ปี  เสี่ยเจ้าของโรงงานขับรถเบนซ์สปอร์ต ซิ่งชนประสานงานกับ รถส่วนตัวของ พ.ต.ท.จตุพร งามสุวิชชากุล หรือรองตี๋ รอง ผกก.สอบสวน กก.2 บก.ป.ที่เดินทางมาพร้อมครอบครัวจน พ.ต.ท.จตุพรเสียชีวิตพร้อมภรรยา ส่วนลูกสาวคนเล็ก ได้รับบาดเจ็บนั้น  

 

          ล่าสุด พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี 5 ได้ยื่นฟ้อง นายสมชาย เป็นจำเลย ในคดีหมายเลขดำ 1839/2562 ต่อศาลจังหวัดตลิ่งชัน ในฐานความผิดขับรถด้วยความเร็วเกินอัตราที่กฏหมายกำหนด , ขับรถในขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้รับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย , ขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส รวม 3 ข้อหา โดยอัยการสั่งไม่ฟ้องความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นฯ ตามที่พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนแจ้งข้อหาดังกล่าวมาด้วย แต่อัยการพิจารณาแล้วพฤติการณ์ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดทางกฎหมาย 

 

          โดยก่อนการยื่นฟ้องนั้น นายสมชายก็ได้รับการปล่อยตัวไปด้วยวงเงิน 200,000 บาท

 

          ขณะที่หลังฟ้อง เมื่อศาลจังหวัดตลิ่งชันสอบคำให้การจำเลยแล้ว ให้การรับสารภาพตามฟ้องอัยการโจทก์ ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วจึงเห็นสมควรให้มีการสืบเสาะและพินิจจำเลยก่อนมีคำพิพากษา โดยให้พนักงานคุมประพฤติรายงานผลการสืบเสาะนั้นให้ศาลทราบภายใน 15 วัน และให้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 31 ก.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

 

          โดยก่อนหน้านี้ ทาง นายสมชายผู้ก่อเหตุ ก็ยินยอมที่จะเยียวยาชดใช้ค่าเสียหาย 45 ล้านบาท ให้กับครอบครัวของนายตำรวจผู้เสียชีวิตซึ่งปัจจุบันคงเหลือเพียงบุตรสาวคนโตและบุตรสาวคนเล็ก ที่มีป้าเป็นผู้ปกครองดูแลอยู่.

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ