ข่าว

7 สัญญาณเตือน!..ระวังผู้ป่วยจิตเวชรุนแรงจากยาเสพติด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย  โดย...   ทีมอาชญากรรม

 

 


          ปัญหายาเสพติดเป็นวาระสำคัญของชาติ ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อน ความทุกข์ยากของประชาชน ตลอดจนการพัฒนาประเทศ และจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง โดยวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นวันสำคัญสากล ​เพราะตามประกาศตามมติของ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ระบุว่า วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันต่อต้านยาเสพติดโลก” และคำขวัญวันต่อต้านยาเสพติด 2562 ของไทย คือ “มุ่งมั่น แก้ไข ขจัดภัยยาเสพติด”

 

 

          สำหรับประเทศไทยมีการวางระบบและแบบแผน โดยกำหนดพระราชบัญญัติให้มี “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด” หรือ “ป.ป.ส.” ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในการกำหนดนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยดำเนินการแก้ปัญหายาเสพติดมาอย่างต่อเนื่อง เฉกเช่นเดียวกับการกวาดล้างจับกุมของตำรวจทั่วประเทศควบคู่ไปกับการให้ความรู้โทษภัยของยาเสพติดในเชิงป้องกัน นำผู้เสพเข้าสู่การบำบัด  


          ด้วยเหตุนี้ กรมสุขภาพจิต จึงแนะให้คนในชุนชนใช้แนวทางการสังเกตจาก “7 สัญญาณเตือน” ในการมีส่วนร่วมเฝ้าระวัง ผู้ป่วยจิตเวชรุนแรงจากยาเสพติด เพื่อลดการก่อเหตุความรุนแรงในสังคม และส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการบำบัดรักษาที่เหมาะสม โดยสัญญาณเตือนผู้ป่วยจิตเวชรุนแรงจากยาเสพติดที่ว่านี้ ประกอบด้วย 1.ขีดข่วน หรือกรีดตัวเองเป็นรอยแผล 2.ส่งเสียงดัง หรือตะโกนด่าด้วยถ้อยคำหยาบคายรุนแรง 3.ข่มขู่จะทำร้ายผู้อื่น 4.ทำร้ายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บ 5.พกพาหรือสะสมอาวุธโดยไม่สมเหตุสมผล 6.รื้อ ขว้างปาข้าวของกระจัดกระจาย และ 7.ทำลายสิ่งของจนแตกหัก


          เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก ซึ่งยาเสพติดเป็นปัญหาหลักที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ปัญหาการใช้สารเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ที่มีการแพร่ระบาดและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยผู้ติดสารเสพติดจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการทางจิต มีภาวะหวาดระแวง ได้แก่ อาการหลงผิด ประสาทหลอน จนนำไปสู่พฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรง มีการทำร้ายตนเอง ทำร้ายบุคคลใกล้ชิด และมักจะเห็นในข่าวปัจจุบันอยู่เป็นประจำ 




          นพ.เกียรติภูมิ อธิบายว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ใช้สารเสพติดของประเทศไทยนั้น พบผู้ใช้สารเสพติดชนิดใดชนิดหนึ่งใน 1 ปี มีจำนวน 1.4 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ใช้สารเสพติด จำนวน 1.1 ล้านคน และเป็นผู้ติดสารเสพติด จำนวน 3.2 แสนคน ในจำนวนนี้เข้าสู่ระบบการบำบัดของกรมสุขภาพจิต จำนวน 24,196 คน เป็นผู้ป่วยจิตเวชติดสารเสพติดรุนแรง จำนวน 5,757 คน และเป็นผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) จำนวน 577 คน 


          “นอกจากนี้ยังพบสถิติผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชก่อเหตุรุนแรงในสังคมเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น 3.92 เท่า ในปี 2561 โดยผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชก่อเหตุรุนแรง จำนวน 267 ราย แบ่งเป็นชายจำนวน 259 ราย และเป็นหญิงจำนวน 7 ราย สำหรับลักษณะของการก่อความรุนแรงในสังคมพบมีการทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่นมากที่สุด จำนวน 90 คน” อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุ


          จะเห็นได้ว่าพิษภัยของยาเสพติดส่งผลกระทบมากมายขนาดไหน ถือเป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อสังคม แม้จะเป็นผู้เสพหรืออดีตเคยติดสารเสพติดก็ต้องช่วยกันสังเกต 7 สัญญาณอันตราย อย่างน้อยก็จะช่วยลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น พร้อมกับนำผู้ป่วยไปบำบัดรักษา..!!

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ