ข่าว

กองทุนบัตรทอง ปี 63 เพิ่มยาป้องกันติดเชื้อเอชไอวี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บอร์ด สปสช.เห็นชอบ กองทุนบัตรทอง ปี 63 นำร่องสิทธิประโยชน์ "บริการยาป้องกันการติดเชื้อ HIV ก่อนการสัมผัสเชื้อ" (PrEP) ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงสูงทุกกลุ่ม

 

บอร์ด สปสช.เห็นชอบ กองทุนบัตรทอง ปี 63 นำร่องสิทธิประโยชน์ "บริการยาป้องกันการติดเชื้อ HIV ก่อนการสัมผัสเชื้อ" (PrEP) ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงสูงทุกกลุ่ม ในพื้นที่ที่มีความพร้อม หลัง HITAP ประเมินผลคุ้มค่า หนุนแผนเอดส์ชาติ ลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่ำกว่าพันราย/ปี บรรลุเจตนารมณ์การยุติปัญหาเอดส์ปี  73
 

   

          คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา โดยมี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีมติเห็นชอบการปรับปรุงรายการบริการในสิทธิประโยชน์การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ก่อนการสัมผัสเชื้อ (Pre-Exposure Prophylaxis หรือ PrEP) กลุ่มเสี่ยงสูงทุกกลุ่ม ในพื้นที่มีความพร้อม ตามที่คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตนำเสนอ

 

          นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ หรือ PrEP เป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันในกลุ่มประชากรเสี่ยงสูงที่มีประสิทธิผลสูง อาทิ ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย ชายบริการ หญิงข้ามเพศ หญิงบริการ ผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด และคู่เพศสัมพันธ์ที่มีผลเลือดต่าง ด้วยการกินยาต้านไวรัสสม่ำเสมอ ช่วยลดภาระงบประมาณด้านการรักษาผู้ป่วยเอชไอวีและโรคฉวยโอกาสที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ปี 2558 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำ PrEP เป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้กับผู้มีความเสี่ยงสูง ควบคู่ไปกับการป้องกันที่มีอยู่เดิม ประเทศไทยได้ให้บริการ PrEP ผ่านโครงการนำร่องหรือดำเนินการเฉพาะบางพื้นที่โดยการสนับสนุนหลักจากหน่วยงานต่างประเทศ แต่ยังไม่ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงสูงทั้งหมด

 

          ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์มุ่งมั่นยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 เพื่อเพิ่มการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอบรรจุบริการ PrEP ในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2560 ประกอบด้วยบริการ 2 ส่วน คือ

 

          1.บริการยาต้านไวรัส 2 รายการ ประกอบด้วย ยาต้านไวรัสทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir Disoproxil Fumarate: TDF) และ ยาเอ็มตริไซตาบี (Emtricitabine: FCT) อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ (ก) ตั้งแต่ ปี 2561กินวันละ 1 เม็ด ทุกวันอย่างสม่ำเสมอ ผลิตโดย GPO ราคาขวดละ 600 บาท บรรจุ 30 เม็ด ค่ายารวมประมาณ 7,200 บาทต่อปี

 

          2.บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยมีการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีทุก 3 เดือน ตรวจการทำงานของไต (Cr) ทุก 6 เดือน ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทุก 6 เดือน ตรวจไวรัสตับอักเสบบีและซี ปีละ 1 ครั้ง และตรวจการตั้งครรภ์ทุกครั้งที่สงสัย       

 

          นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในการพิจารณาได้มอบโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ศึกษาการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ พบว่าบริการ PrEP มีคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ใน 2 กลุ่มเสี่ยง คือ ชายมีเพศสัมพันธ์กับชายและคู่เพศสัมพันธ์ที่มีผลเลือดต่าง เมื่อประเมินความคุ้มค่าโดยพิจารณาร่วมกับเป้าหมายยุติปัญหาเอดส์ในปี 2573 การให้บริการ PrEP ในทุกกลุ่มเสี่ยงซึ่งมีประมาณ 245,000 คน นับว่ามีความคุ้มค่า เพราะสามารถช่วยลดอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้ต่ำกว่า 1,000 รายต่อปีได้ แต่ทั้งนี้ต้องใช้งบประมาณ 405 ล้านบาทต่อปี     

 

          "บอร์ด สปสช.เห็นชอบนำร่องบริการ PrEP ในกลุ่มเสี่ยงสูงทุกกลุ่ม ในพื้นที่ที่มีความพร้อม โดยใช้งบประมาณกองทุนบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ปี 2563 และให้มีการวิจัยประเมินผลเพื่อติดตามความสำเร็จในการป้องกันผู้ติดเชื้อรายใหม่ เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาความเหมาะสมในการขยายผลทั่วประเทศต่อไป" เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

          นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ส่วนข้อกังวลต่อพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้น เช่น ใช้ถุงยางอนามัยลดลง เปลี่ยนคู่นอนบ่อยขึ้น ใช้เข็มและอุปกรณ์สะอาดลดลง เป็นต้น ที่ประชุมให้จัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของการรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสนับสนุนให้มีการใช้ถุงยางอนามัยอย่างกว้างขวาง และการตรวจและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควบคู่ไปกับการรณรงค์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ PrEP เพื่อประสิทธิภาพของบริการ PrEP มีประสิทธิภาพสูงสุด.

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ