ข่าว

กัญชาของกลาง 22 ตัน สกัดยาได้แค่ 7 กก.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ปปส.- สธ." นำกัญชาจับกุม 43 คดี ตรวจหาสารปนเปื้อน พบ 22 ตัน ใช้วิจัยและพัฒนา แต่สกัดน้ำมันกัญชาได้แค่ 7 กิโลฯ

 

ป.ป.ส.-สธ. เผยผลตรวจกัญชาของกลาง 22 ตัน พบสารปนเปื้อนอันตรายกว่า 16 ตัน นำไปใช้สกัดยาได้เพียง 7 กก. ส่วนอีก 2.3 ตัน เตรียมส่งมอบให้รพ.-สถาบันการศึกษานำไปวิจัย เลขาฯป.ป.ส.เตือนซื้อสารสกัดกัญชาผ่านเฟซบุ๊ก-ตลาดมืด เสี่ยงมะเร็งตับสูง 200 เท่า

 

          วันที่ 5 มิถุนายน 2562 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วย นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แถลงผลการตรวจพิสูจน์หาสารปนเปื้อนในกัญชาของกลางกว่า 22 ตัน ก่อนนำไปสกัดน้ำมันกัญชาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และเพื่อการศึกษาวิจัย

 

          นายนิยม กล่าวว่า ภายหลังการประชุมขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อศึกษาวิจัยและการแพทย์ กระทั่งพ้นกำหนดนิรโทษกรรมผู้ถือครองกัญชา ทาง ป.ป.ส. ได้ประสานหน่วยจับกุมให้ชะลอการเผาทำลายกัญชาของกลาง เพื่อขอคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ตรวจวิเคราะห์สารปนเปื้อนจากกัญชาของกลางรวม 43 คดี หนัก 22 ตัน ห้วงเวลาจับกุมตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2561 ถึงมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดรับเข้ามาตรวจสอบ 18 ตันนั้น ผลการตรวจหาสารเคมีเบื้องต้นพบว่ามีกัญชา 2 ตันสามารถนำไปใช้วิจัยและพัฒนาได้ แต่มีเพียง 7 กิโลกรัมที่นำไปใช้สกัดทางการแพทย์ได้ ซึ่งภายในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ เตรียมพิจารณาแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาล 3 แห่ง และมหาวิทยาลัยอีก 8 แห่ง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวิจัยและพัฒนา โดยห้ามไม่ให้บริษัทต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวเด็ดขาด


          นายนิยม กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของกัญชาที่เหลืออีก 16 ตัน มียาฆ่าแมลงและโลหะหนักปนเปื้อนเกินมาตรฐานไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ จึงเตรียมนำไปทำลายต่อไป อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ากัญชายังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ขอเตือนประชาชนให้ระวังการใช้สารสกัดกัญชาจากตลาดมืดที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากแพทย์ หากมีข้อสงสัยในการใช้ประโยชน์จากกัญชา สามารถติดต่อขอรับข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐเองเพื่อให้ได้รับกัญชาที่มีคุณภาพและไม่ผิดกฎหมาย
 

          “ขณะที่แนวโน้มการนำของกลางมาตรวจเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เนื่องจากตัวอย่าง 22 ตัน ที่นำมาตรวจแต่สามารถนำมาใช้ได้เพียง 7 กิโลกรัมจะคุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไปหรือไม่นั้น จะต้องดำเนินการต่อไป” เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าว 

 

          นพ.พิเชฐ กล่าวว่า สำหรับมาตรฐานในการตรวจตัวอย่างกัญชาทั้ง 38 ตัวอย่าง ได้ใช้มาตรฐาน iso17025 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในการตรวจหาสารเคมีและสารปนเปื้อน แบ่งการตรวจเป็น 2 แบบ คือ ตามมาตรฐานทั่วไปตามประกาศคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับการหาหาสารกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ จำนวน 25 รายการ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ หายาฆ่าแมลง และตรวจหาโลหะหนักเช่น แคดเมียม ที่มีผลกระทบต่อกระดูก สารหนู มีผลต่อทางเดินอาหาร ปรอท และตะกั่ว มีส่วนให้เกิดมะเร็ง พบว่าทั้ง 38 ตัวอย่าง ไม่ผ่านมาตรฐาน

 

          นพ.พิเชฐ กล่าวอีกว่า ส่วนการตรวจตามมาตรฐานตำรายาสมุนไพรไทยที่ใช้อยู่ในประเทศไทย 25 ชนิด พบเพียง 1 ตัวอย่างจาก 38 ตัวอย่างที่นำมาตรวจ มีค่าแคดเมียมไม่เกินมาตรฐาน ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ถือครองกัญชา และต้องการส่งตรวจหาสารปนเปื้อนสามารถทำได้ แต่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เริ่มที่ 2,000-12,000 บาท ตามชนิดการตรวจว่าเป็นสารชนิดใด
 

          ส่วนกัญชา 7 กิโลกรัมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์มางการแพทย์ได้นั้น ต้องมาตรวจสอบว่าจะนำมาสกัดในรูปแบบใดบ้าง คือสกัดหยาบ สกัดกึ่งบริสุทธิ์และสกัดบริสุทธิ์ ซึ่งในทางยาส่วนมากจะสกัดกึ่งบริสุทธิ์นั้นจะต้ิงมีส่วนผสมอื่นมาร่วมด้วย จึงจำเป็นต้องตรวจหาสารตั้งแต่ที่ยังเป็นสารตั้งต้น ก่อนนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ไม่ให้เกิดผลกระทบกับร่างกายต่อไป.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ