ข่าว

อุทธรณ์แก้โทษคุก 2 ปี 9 เดือน "วันกษัตริย์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนโทษไม่ลง ม.112 ให้คุกฉ้อโกง ปชช.- ปลอมตราครุฑฯ ชี้ เจตนาจำเลยยังไม่ชัดหมิ่นสถาบัน แต่ผิดหลอกลวง ปชช.



            29 พ.ค.62 - ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนโทษไม่ลง ม.112 ให้คุกฉ้อโกง ปชช.- ปลอมตราครุฑฯ ชี้ เจตนาจำเลยยังไม่ชัดหมิ่นสถาบัน แต่ผิดหลอกลวง ปชช. ขณะที่เจ้าตัว ยังมีคดีซุกซากสัตว์ป่า รอ ตร.สรุปอีกสำนวน

           ที่ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีดูหมิ่นเบื้องสูง หมายเลขดำ อ.588/2559 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง "นายวันกษัตริย์ พรหมทอง" หรืออดีตพระมหาวันกษัตริย์ วชิรญาโณ อายุ 31 ปี ภูมิลำเนา กทม. เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ไม่มีสิทธิ์ทำหรือใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ์ อันเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายครุฑพ่าห์ พ.ศ.2534 มาตรา 4,13 

   ตามฟ้องอัยการโจทก์ ระบุพฤติการณ์สรุปว่าระหว่างวันที่ 17 มี.ค.53 - 15 ก.ค.55 ต่อเนื่องกัน จำเลยได้กล่าวแอบอ้างกับพระวิเชียร กิตติสาโรว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานตั้งชื่อให้จำเลยว่า "วันกษัตริย์" จำเลยเติบโตอยู่ในรั้วในวัง ได้รับพระราชทานสิ่งของ 5 อย่าง คือ 1.ตราครุฑ 2.ตราพระเกี้ยว 3.คฑาครุฑ 4.ตราพระราชทานอภัยโทษ 5.ตราสิงห์ของกระทรวงมหาดไทย และได้รับพระบรมราชานุญาต ให้สร้างครุฑแจก-จำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นความเท็จทำให้พระวิเชียรฯ และบุคคลที่ได้ฟังหลงเชื่อว่าข้อความที่จำเลยกล่าวอ้างนั้นเป็นความจริง เหตุเกิดที่ ต.หินดาด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา และ ต.ท่าพระยา อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม   

 

อุทธรณ์แก้โทษคุก 2 ปี 9 เดือน "วันกษัตริย์"

         
                จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี โดยศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พ.ย.60 เห็นว่าการกระทำของจำเลย เป็นความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้จำคุก 5 ปี , ฐานทำหรือใส่เครื่องหมายครุฑพ่าห์โดยไม่มีสิทธิ ให้จำคุก 3 กระทงๆ ละ 3 เดือนเป็นจำคุก 9 เดือน รวมจำคุกจำเลยทั้งสิ้น 5 ปี 9 เดือน และให้ริบครุฑพ่าห์สีทององค์เล็ก 4 องค์ , ครุฑพ่าห์ใส่กรอบ 2 องค์ , รูปของจำเลยที่มีเครื่องหมายครุฑพ่าห์ประดับอยู่ในรูป จำนวน 3 รูป , พัดยศของจำเลยที่มีเครื่องหมายครุฑพ่าห์ประดับอยู่ในพัด 2 อัน , ย่ามซึ่งมีเครื่องหมายครุฑพ่าห์ประดับอยู่ 1 อัน และเสื้อยืดขาวที่มีเครื่องครุฑพ่าห์ประดับอยู่ในเสื้อ 1 ตัว ของกลาง ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยทำเป็นความผิดและเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด
         ต่อมา "นายวันกษัตริย์" จำเลยยื่นอุทธรณ์ และได้รับการประกันตัวไประหว่างอุทธรณ์คดี แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 17 พ.ค.62 จำเลยได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในข้อหาครอบครองซากสัตว์ป่า โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยถูกควบคุมตัวไว้ฝากขังครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ซึ่งในคดีล่าสุดดังกล่าวศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างการฝากขัง ดังนั้นที่ผ่านมา "นายวันกษัตริย์" จำเลยจึงถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และวันนี้ศาลอาญา ได้เบิกตัว "นายวันกษัตริย์" จำเลยมาเพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีเบื้องสูงนี้
       ขณะที่ "ศาลอุทธรณ์" ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว การที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ทำนองว่าไม่ได้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเป็นเรื่องที่มีการเข้าใจกันไปเองจำเลยไม่ได้แอบอ้าง และพยานโจทก์ทุกปากต่างเบิกความแสดงความเห็นและความเชื่อจากจินตนาการของตนนั้น 
         "ศาลอุทธรณ์" เห็นว่า  ตามคำเบิกความพยานโจท์ซึ่งเคยบวชเป็นพระ และเอกชน ระบุว่าระหว่างที่จำเลยบวชได้มาประกอบพิธีเกี่ยวกับสงฆ์ที่สำนักสงฆ์แห่งหนึ่ง และจำเลยได้บอกกล่าวเกี่ยวกับฉายาของจำเลยให้ผู้อื่นฟัง รวมทั้งมอบย่ามและพัดให้กับพยานโจทก์ซึ่งได้บวชเป็นพระในขณะเกิดเหตุช่วงปี 2553 ศาลเห็นว่า การกระทำของจำเลยขณะนั้นมีโอกาสที่จะกล่าวแจ้งแสดงความจริงให้คนอื่นทราบว่าจำเลยเป็นใคร แต่กลับพยายามสร้างเรื่องราวให้มีความเข้าใจผิดว่าจำเลยมีความเกี่ยวพันทางเชื้อพระวงศ์จนมีการเล่าลือว่าเกี่ยวข้องกับองค์รัชทายาท กระทั่งมีเอกชนนิมนต์จำเลย ไปงานเพราะทราบจากคนอื่นว่าจำเลยมีลักษณะเป็นเชื้อพระวงศ์ โดยจำเลยได้ยอมรับในเอกสารคำให้การที่จำเลยเขียนเองแสดงให้เห็นว่าจำเลยทราบความเป็นมาเป็นไปกับเรื่องราวดังกล่าวเป็นอย่างดีแต่จำเลยก็ไม่ได้แก้ไขทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ทั้งที่กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน พฤติการณ์ต่างๆของจำเลยมีส่วนทำให้เข้าใจไปในทิศทางดังกล่าวโดยไม่ใช่กรณีเป็นเพียงการแสดงความเคารพ ยกย่องพระภิกษุที่นับถือศรัทธาสูงกว่าบุคคลทั่วไปตามที่จำเลยอ้างหรือเป็นเรื่องความเชื่อจินตนาการของพยานโจทก์แต่ฝ่ายเดียว เพราะจำเลยย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่าการใดเป็นการควรหรือไม่ควร 
          แต่พฤติการณ์เรื่องราวข้อเท็จจริงต่างๆ นั้นเมื่อพิเคราะห์โดยรวมยังไม่ถึงขั้นที่จะทำให้เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาชัดแจ้งที่จะหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ฯ โดยเป็นเพียงการไม่สมควรในลักษณะของการแอบอ้างหลอกลวงให้ผู้อื่นเข้าใจผิดด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกแจ้งให้แก่ประชาชนเพื่อแสวงประโยชน์ หรือเพื่อให้ได้ซึ่งผลประโยชน์อันมิควรได้ ที่เป็นความผิดของการฉ้อโกงประชาชน โดยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามที่โจทก์ฟ้องนั้นเป็นความผิดที่มีลักษณะพิเศษมุ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์ฯ ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ โดยผลของการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นผลเชื่อมโยงเห็นได้อยู่ในตัวว่าเป็นการแอบอ้างหลอกลวงการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ซึ่งแม้ว่าโจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่การกระทำความผิดของจำเลยที่ฟ้องนั้นรวมกันกระทำหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัว ศาลอุทธรณ์ก็ย่อมมีอำนาจจะลงโทษจำเลยในความผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชนได้ตามที่พิจารณามานั้นโดยไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่ไม่ได้กล่าวไว้ในฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย โดยปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงฟังขึ้นบางส่วน
            ส่วนที่ว่าการกระทำของจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายครุฑพ่าห์นั้น สมควรลงโทษในสถานเบาหรือไม่ โดยจำเลยอ้างในอุทธรณ์ทำนองว่า จำเลยกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เนื่องจากทางวัดเคยสร้างมาก่อนแล้ว และจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนในข้อหานี้ "ศาลอุทธรณ์" เห็นว่า ที่อ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้นไม่มีเหตุผลพอรับฟังเพราะอย่างน้อยที่สุดการจัดทำจำเลยก็ควรปรึกษาเจ้าอาวาสหรือขออนุญาตไม่ใช่กระทำโดยพลการ เนื่องจากจำเลยก็ทราบดีอยู่แล้วว่าการสร้างของทางวัดนั้นเป็นการสร้างถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จึงไม่ใช่เป็นวาระหรือโอกาสทั่วไปที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยในข้อหานี้ 3 กระทงๆ ละ 3 เดือนนั้น นับว่าเหมาะสมแล้วไม่มีเหตุที่ ศาลอุทธรณ์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้วศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย 
          "ศาลอุทธรณ์" จึงพิพากษาแก้เป็นว่า "นายวันกษัตริย์" จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ให้จำคุก 2 ปี โดยให้รวมโทษจำคุก 9 เดือนฐานทำหรือใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์โดยไม่มีสิทธิตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งสิ้นเป็นเวลา 2 ปี 9 เดือน
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ได้ควบคุมตัวใน "วันกษัตริย์" จำเลย กลับไปคุมขังยังเรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป
         ทั้งนี้ สำหรับคดีล่าสุดที่ "นายวันกษัตริย์" ตกเป็นผู้ต้องหาคดีมีซากสัตว์ป่าสงวนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น พนักงานสอบสวน บก.ป.แจ้งข้อกล่าวหาครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต (เสือดาวเสือ , เสือไฟ , ช้าง) , นำเข้าซากสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศไม่อนุญาตให้นำเข้า , นำเข้าของต้องห้ามต้องจำกัดโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น ซากสิงโต และข้อหานำเข้าซากสัตว์ โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ. สัตว์สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ 2535 , พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 , พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 หลังจากจับกุมและตรวจยึดซากสัตว์ป่าสงวนฯ ของกลาง ประกอบด้วย ซากสิงโต 1 ซาก , ซากเสือดาว 1 ซาก , ซากเสือไฟ 1 ซาก และงาช้าง 13 กิ่งในบ้านพักผู้ต้องหาย่าน ซ.ลาดพร้าว 15 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร
         ซึ่งคดีนั้น จะครบฝากขังครั้งแรกในวันพฤหัสบดีที่ 30 พ.ค.นี้ โดยพนักงานสอบสวน ระบุยังต้องสอบปากคำพยานอีก 2 ปาก และรอรวบรวมพยานฐานอื่นให้ครบถ้วน ซึ่งครั้งแรกที่มีการฝากขังญาติของนายวันกษัตริย์ ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ เป็นโฉนดที่ดินย่าน จ.ปทุมธานี  เนื้อที่ 100 ตารางวาเศษ ราคาประเมิน 680,000 บาท ขอปล่อยชั่วคราว แต่ "ศาลอาญา" ไม่อนุญาตให้ประกัน เพราะเห็นว่า คดีมีอัตราโทษสูง ของกลางมีจำนวนมาก ประกอบกับพนักงานสอบสวนก็คัดคัานการประกันตัวในชั้นฝากขังเพราะกลัวหนี
        และจากกรณีที่มีการตรวจค้นบ้านพักของนายวันกษัตริย์เมื่ิอตรวจยึดซากสัตว์แล้ว ก็ยังพบเครื่องราชฯ ปลอม ตราสัญลักษณ์ปลอมจำนวนหนึ่ง เครื่องแบบนายทหารบกติดเครื่องหมายยศนายพล 2 ชุด ซึ่งก่อนที่จะถูกจับกุมคดีครอบครองซากสัตว์ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.62 ได้ปรากฏภาพ "นายวันกษัตริย์" ได้ไปร่วมงานวันเกิดของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หรือบิ๊กจิ๋ว ด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ