ข่าว

ริ้วขบวนที่ 1 แห่พระสุพรรณบัฏ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคนั้น เป็นขบวนที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปวัด บางโอกาสเสด็จเลียบพระนคร เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมี..."


   
          เกือบ 70 ปีมาแล้วที่คนไทยได้ชื่นชมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นับแต่ครั้ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อปี 2493 ในวันนี้ปวงชนชาวไทยจะมีโอกาสบันทึกความทรงจำในพระราชพิธีสำคัญสำหรับการที่พระมหากษัตริย์จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณีอีกครั้ง เมื่อ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 

 

 

          โดยวันที่ 4 พฤษภาคม เป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ถัดมาวันที่ 5 พฤษภาคม พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้น เสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค และวันที่ 6 พฤษภาคม เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล

 

 


          แน่นอนว่าหนึ่งในหัวใจของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เห็นจะอยู่ที่การจัดริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ อันได้แก่ ริ้วขบวนที่ 1 แห่พระสุพรรณบัฏ ริ้วขบวนที่ 2 ทรงประกาศเป็นศาสนูปถัมภก และริ้วขบวนที่ 3 พยุหยาตราทางสถลมารค โดยเฉพาะอย่างยิ่งริ้วขบวนที่ 3 เสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค พสกนิกรต่างตั้งตารอเพื่อจะมีโอกาสได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พร้อมชื่นชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด ซึ่งครั้งนี้ได้จัดริ้วขบวนเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร อย่างยิ่งใหญ่ สง่างาม และสมพระเกียรติ      

 



          เครื่องสูงประกอบริ้วขบวนพระราชอิสริยยศ
          ตามคติความเชื่อของไทย พระมหากษัตริย์ได้รับการยกย่องว่าเป็นสมมุติเทพ ดังนั้นขนบธรรมเนียมประเพณีจึงมีพระราชพิธีและเครื่องประกอบพระราชพิธีงดงามสมพระเกียรติ เครื่องสูงเป็นหนึ่งในสิ่งประกอบพระบรมราชอิสริยยศที่ใช้ในพระราชพิธีสำคัญๆ หรือในขบวนแห่ ขบวนเสด็จพระราชดำเนิน ทั้งทางสถลมารคและทางชลมารค รวมทั้งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นับตั้งแต่โบราณกาลจนปัจจุบัน เครื่องสูงมีมาตั้งแต่ในสมัยสุโขทัยตามที่ได้กล่าวถึงในหนังสือไตรภูมิพระร่วง จนถึงยุครัตนโกสินทร์ เครื่องสูงยังมีความสำคัญในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ อาจมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปทั้งชนิดและการใช้ของเครื่องสูง

 

 

 ริ้วขบวนที่ 1 แห่พระสุพรรณบัฏ

 

 


          เครื่องสูงที่ใช้สำหรับประกอบพระบรมราชอิสริยยศในการเสด็จฯ ในริ้วขบวนแห่มีทั้งหมด 8 สิ่ง ได้แก่ ฉัตร 7 ชั้น, ฉัตร 5 ชั้น, ฉัตร 3 ชั้น, พระกลด, บังแทรก, บังสูรย์, จามร และ พัดโบก ซึ่งแบ่งออกเป็นสองลักษณะคือ ถ้าเป็นเครื่องสูงชนิดพระอภิรุมชุมสาย บังแส้ พระกลด บังสูรย์ ที่ใช้ประดับพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระอัครมเหสี และสมเด็จพระยุพราช จะระบุเป็นเครื่องปักหักทองขวาง แต่ถ้าสำหรับชั้นเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้า เป็นเครื่องปักทองแผ่ลวดฉลุลาย โดยฉัตรจะมีรูปร่างคล้ายร่มที่ซ้อนกันขึ้นเป็นชั้นๆ ถือเป็นสัญลักษณ์ของความผู้มีอำนาจและเป็นเครื่องหมายมงคลที่สำคัญตามคติความเชื่อของอินเดีย ใช้สำหรับแขวน ปัก ตั้ง เชิญเข้ากระบวนแห่เป็นเกียรติยศ


          มีหลักฐานว่าไทยใช้ “ฉัตร” เป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สมัยอยุธยา สำหรับฉัตรเครื่องสูงหรือพระอภิรุมชุมสายเป็นฉัตรเครื่องสูง สำรับหนึ่งประกอบด้วย ฉัตร 7 ชั้น ฉัตร 5 ชั้น ฉัตร 3 ชั้น ทั้งนี้ ฉัตรพระอภิรุมชุมสายเป็นฉัตรคนละประเภทเศวตฉัตร ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งด้านลักษณะและสีสัน และประเภทการใช้, “พระกลด” หมายถึงร่ม ใช้บังแดดบังฝน มีลักษณะเป็นฉัตรชั้นเดียว มักใช้เมื่อพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์เสด็จออกพระราชฐานในพระราชพิธี พิธีการต่างๆ

 

 ริ้วขบวนที่ 1 แห่พระสุพรรณบัฏ

 

 


          “บังแทรก, บังสูรย์” เป็นเครื่องสูงที่ใช้กั้นบังแดด มีลักษณะคล้ายพัดรูปแบบกลม มีขอบรูปจักรจักโดยรอบคล้ายใบสาเก มียอดแหลมใช้สำหรับปักหรือแห่ขบวนเสด็จพระราชดำเนิน เชิญอยู่ระหว่างฉัตร 5 ชั้น ทั้งหน้าและหลัง บังสูรย์เป็นเครื่องใช้บังแดดสำหรับพระมหากษัตริย์ ใช้ในขบวนแห่ประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ มีลักษณะคล้ายบังแทรก แต่บังสูรย์จะเป็นเหมือนใบโพธิ์ เชิญอยู่ข้างพระที่นั่งราชยาน ตรงข้ามกับพระกลด


          “จามร” เป็นเครื่องสูงอีกประเภทหนึ่ง มีรูปคล้ายพัดยอดแหลมสองลอน สำรับหนึ่งมี 16 คัน มีอินทร์พรหมเป็นผู้เชิญจามร แซงข้างพระที่นั่งราชยานข้างละ 8 คัน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลีกเลี่ยงการใช้ แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อินทร์ถือพุ่มดอกไม้เงินข้างซ้าย และให้พรหมถือพุ่มดอกไม้ทองด้านขวา ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพุ่มดอกไม้เงินและดอกไม้ทองในริ้วขบวน ในพระบรมมหาราชวัง แต่ถ้าเป็นริ้วขบวนนอกพระบรมมหาราชวังให้ใช้ทวนเงินทวนทองแทน
   

 

 

 ริ้วขบวนที่ 1 แห่พระสุพรรณบัฏ

 

 

          “พัดโบก” เป็นพัดที่ทำด้วยใบตาล มีสองลักษณะคือพัดโบกรูปช้อยกับพัดโบกรูปมน โดยพัดโบกรูปช้อยปลายพัดจะมีลักษณะงอนช้อยขึ้น ใช้ในขบวนเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารค ส่วนพัดโบกรูปมนใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับ ณ พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชบัลลังก์ จะเห็นได้ว่านอกจากเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์อันเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงเป็นราชาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์แล้วนั้น เครื่องสูงเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศตามโบราณราชประเพณี ที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน         


          ริ้วขบวนที่ 1 แห่พระสุพรรณบัฏ
          ในวันที่ 3 พฤษภาคม เวลา 10.00 น. ผู้แทนพระองค์จะเชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพ และพระราชลัญจกรขึ้นพระราชยานกง เชิญจากพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นำไปประดิษฐาน ณ พระแท่นมณฑล พระที่นั่งไพศาลทักษิณ รวมระยะทาง 220 เมตร ซึ่งริ้วนี้จะเกิดภายในพระบรมมหาราชวังทั้งหมด มีพื้นที่จำกัดและไม่มีพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินในริ้วขบวน ดังนั้นจึงมีขนาดเล็กและสั้นกว่าริ้วขบวนอื่นๆ แต่เรียกว่าสมพระเกียรติ โดยในริ้วขบวนจะมีกำลังพลจากโรงเรียนเตรียมทหาร, หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์, กองทัพบก, กองทัพเรือ, สำนักพระราชวัง รวม 133 นาย ถือเครื่องดนตรีและเครื่องสูง ถวายพระราชอิสริยยศ ได้แก่ กลองเงิน กลองทอง แตรฝรั่ง แตรงอน สังข์ เครื่องสูงหน้า และหามพระราชยานกง
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ