ข่าว

หมายเหตุจากชายแดนใต้จับตา "กลุ่มสุดโต่ง" รับแนวคิดก่อการร้าย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คนในพื้นที่ชายแดนใต้คาดเดาสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ไปต่างๆ นานา แต่หลายคนเชื่อว่า น่าจะมีชนวน จากการเดินหน้ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขแบบเต็มสูบ

 

 

          โดยเฉพาะการเร่งรัดดึงแกนนำ บีอาร์เอ็น ที่ถือว่าเป็น “ตัวจริง” เข้ามาร่วมโต๊ะพูดคุย เพื่อ “บังคับวิถี” ให้กระบวนการพูดคุยสำเร็จมรรคผลทันวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ ดร.มหาธีร์ โมฮาหมัด อย่างน้อยก็ต้องมีข้อตกลงสันติภาพจาก “ตัวจริง” เป็นผลงานสุดท้ายฝากไว้ก่อนอำลาเวทีการเมือง

 

 


          ข้อมูลจาก ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ระบุชัดถึงขนาดว่าแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่พำนักอยู่ในมาเลเซียถูกกดดันถึงขนาดอยู่บ้านไม่ได้ ต้องย้ายที่พักไปเรื่อยๆ ขณะที่ระดับรองๆ ลงมาและแนวร่วมก็หนีเข้าไทย แล้วก็โดนกดดันหนักจากเจ้าหน้าที่ไทยเหมือนกัน บรรดาคนในขบวนการจึงจับมือกันก่อเหตุรุนแรงเพื่อส่งสัญญาณตอบโต้


          ข้อมูลนี้ดูจะได้รับการขานรับจากคนในพื้นที่มากพอสมควร แม้จะไม่ได้สอดคล้องกันเป๊ะๆ ก็ตาม


          บุษยมาส อิศดุลย์ ประธานกลุ่มเยาวชนนอกระบบบ้านบุญเต็ม แกนนำคนพุทธชายแดนใต้ วิเคราะห์ว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ต้องการแสดงศักยภาพให้เห็นว่ารัฐบาล เปิดวงพูดคุยไม่ถูกตัว ไม่ใช่ตัวจริงที่ควบคุมสถานการณ์ได้ นี่คือสิ่งที่ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐพยายามสื่อมาตลอด และแสดงออกให้เห็นว่าพวกเขายังมีศักยภาพ เพิ่มระดับความรุนแรงได้ทุกเวลา มีกำลังคน มีเครือข่ายครบ ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงค่อนข้างประมาท เพราะความไม่สงบเกิดมาตลอด 15 ปี ทำให้เกิดความชินชา


          ด้าน เยาวชนมุสลิม จาก จ.ยะลา ที่เข้าถึงขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ บอกคล้ายๆ กันว่า การพูดคุยสันติสุขที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการเป็นการไปคุยกับใครก็ไม่รู้ที่อยู่นอกพื้นที่ แต่ขบวนการที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ไม่ได้เจรจาด้วย และที่ผ่านมายังมีการสร้างเงื่อนไขผู้มีอิทธิพล กลุ่มค้ายาเสพติด และคนมีสีจำนวนไม่น้อยเพื่อหาผลประโยชน์จากสถานการณ์ ขณะที่แนวร่วมขบวนการบางส่วนก็ผันตัวเองไปรับจ้างผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ ทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่สรุปยากว่าแต่ละเหตุการณ์เป็นฝีมือของใครกันแน่


          จากมุมมองของคนในพื้นที่ขยับไปที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายความมั่นคงกันบ้าง โดยสถานการณ์ร้อนตั้งแต่ก่อนปีใหม่ (ระเบิดนางเงือกสมิหลา ป่วนนราธิวาส) ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่า สาเหตุหนึ่งมาจากการแสดงศักยภาพเพื่อต่อต้านกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข เพราะรัฐบาลไทยและมาเลเซียจับมือกันเดินหน้า รวมทั้งกดดันให้ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐเข้าร่วมโต๊ะเจรจา แต่อีกประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายความมั่นคงให้น้ำหนักมากเป็นพิเศษก็คือ คำสัมภาษณ์สื่อไทยของผู้นำมาเลเซียช่วงกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ที่ยืนยันชัดๆ ว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อสู้ในภาคใต้ของไทย ให้เลิกคิดเรื่องเอกราชเพราะไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ควรหันมากพิจารณาเรื่องเขตปกครองตนเอง หรือเขตปกครองพิเศษที่ให้อำนาจคนพื้นถิ่นกำหนดรูปแบบการปกครองของตนเอง

 


          ประเด็นนี้แม้หลายภาคส่วนในสังคมไทยจะแสลงหูเรื่อง “เขตปกครองพิเศษ” แต่ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่าผู้ที่เสียหายมากกว่าคือขบวนการแบ่งแยกดินแดนอย่าง “บีอาร์เอ็น” เพราะเท่ากับการต่อสู้บาดเจ็บล้มตายของพวกเขาไม่มีความหมาย แถมลดทอนคุณค่าด้วยการยืนยันว่าไม่มีทางได้เอกราช เหตุนี้เองจึงทำให้กลุ่มขบวนการต้องฮึดขึ้นมาระดมก่อเหตุรุนแรงครั้งใหญ่เพื่อตอบโต้


          ส่วนสาเหตุที่มีความรุนแรงยืดเยื้อ ฝ่ายความมั่นคงมองว่าน่าจะเกิดจากมีการปิดล้อม ตรวจค้น และวิสามัญฆาตกรรมฝ่ายที่เคลื่อนไหวหลายครั้ง ทำให้มีการเปิดปฏิบัติการล้างแค้นตอบโต้เป็นลูกโซ่ตามมา


          นี่คือบทสรุปของฝ่ายความมั่นคง ณ เวลานี้ แต่ก็ยังไม่ค่อยตอบโจทย์คาใจใครหลายคนที่ว่า ทำไมต้องฆ่าพระด้วย


          ข้อมูลระดับพื้นที่ที่ระบุว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเพราะฝ่ายความมั่นคงเปิดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น ยิงปะทะ และวิสามัญฆาตกรรมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหลายกรณี และหากพิจารณาเฉพาะเหตุยิงพระวัดโคกโก อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มกราคม น่าจะเชื่อมโยงกับเหตุเจ้าหน้าที่วิสามัญแนวร่วมคนสำคัญที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันโดยกลุ่มคนร้ายน่าจะเป็นกลุ่มที่กบดานบน “เขาตะเว” ซึ่งช่วงก่อนปีใหม่ก็มีปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นและทลายฐานพักเชิงเขาตะเวด้าน อ.จะแนะ ด้วย


          “เทือกเขาตะเว” เป็นภูเขาลูกใหญ่ใน จ.นราธิวาส มีความสูง 1,800 เมตร และมีความยาวของเทือกเขาถึง 35 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่หลายอำเภอทั้ง ระแงะ เจาะไอร้อง สุไหงปาดี จะแนะ และสุคิริน เส้นทางขึ้นลงโดยรอบสามารถทะลุไปยังพื้นที่อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และอ.รามัน จ.ยะลา ได้ด้วย


          อ.จะแนะ คือเขาตะเวฝั่งตะวันออก เมื่อคนร้ายถูกทลายเพิงพักก็เชื่อว่าน่าจะหลบหนีขึ้นไปซ่อนตัวบนเทือกเขา และเมื่อสบโอกาสก็ลงมาปฏิบัติการแก้แค้น ซึ่งก็สามารถลงมาทางฝั่งตะวันออกได้ซึ่งก็คือ อ.เจาะไอร้อง ที่เป็นรอยต่อกับ อ.สุไหงปาดี


          ถ้ายังจำกันได้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2559 กลุ่มคนร้ายกว่าครึ่งร้อยลงมาจากเขาตะเว บุกยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้องเพื่อโจมตีฐานทหารพรานที่ตั้งอยู่ติดกัน เหตุการณ์ในครั้งนั้นสร้างความตื่นตะลึงให้ผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้


          ขณะที่วัดโคกโกอยู่ห่างจากโรงพยาบาลเจาะไอร้องไม่มากนัก เพราะเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกัน ข้อมูลจากระดับพื้นที่จึงคาดว่าคนร้ายน่าจะมาจากเขาตะเว และเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงกลุ่มเดิมที่ปฏิบัติการอย่างอุกอาจ เหี้ยมโหด และไม่สนใจกติกาสากลใดๆ ดังเช่นที่เคยก่อเหตุยึดโรงพยาบาลมาแล้ว


          อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 บางคนเชื่อว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงกลุ่มนี้รับแนวคิดสุดโต่งจากผู้ก่อการร้ายในต่างประเทศ แม้จะยังไม่พบความเชื่อมโยงเชิงกายภาพ แต่ก็ต้องเร่งจัดการ เพื่อตัดไฟเสียแต่ต้นลม


          นี่คือ ความน่ากลัวของสถานการณ์ที่ปลายด้ามขวาน เพราะแม้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจะขยับเดินหน้าจากความร่วมมืออย่างแข็งขันของสองประเทศ แต่กลุ่มคนที่ต่อต้านการพูดคุยก็มีศักยภาพสูงที่จะสร้างสถานการณ์โดยไม่สนใจวิธีการและความถูกต้องชอบธรรมใดๆ เลย
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ