ข่าว

'ไทย'งมโข่ง 'บีอาร์เอ็น' เล่นซ่อนแอบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  ถอดรหัส ลายพราง  โดย... พลซุ่มยิง

 

 

          เกิดอะไรขึ้น ? ในพื้นที่ปลายด้ามขวานไทย เหตุรุนแรงปรากฏขึ้นถี่ยิบ นับตั้งแต่คนร้ายลอบวางระเบิด ที่ชายหาดแหลมสมิหลา บริเวณรูปปั้นนางเงือกทองจนส่วนหางหักสองท่อนและรูปปั้นหนูกับแมว จ.สงขลา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 และต่อเนื่องมาจนถึง 3 อำเภอ ใน จ.นราธิวาส ก่อนสิ้นปี 2561

 

 


          เหตุการณ์ไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น แต่กลับทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2562 หลังคนร้ายจับอดีตข้าราชการแขวนคอภายในบ้านพัก และขโมยรถมาทำ “คาร์บอมบ์” ใกล้กับหน่วยเฉพาะกิจสงขลา อ.เทพา ต่อด้วย การบุกยิงเจ้าหน้าที่ อส.ชุดคุ้มครองตำบลประจัน ที่โรงเรียนบ้านบูโกะ หมู่ 5 อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ทำให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 4 ราย


          สถานการณ์เริ่ม ‘ดุเดือด’ เมื่อเจ้าหน้าที่สนธิกำลังปิดล้อม ตรวจค้นบ้านพักแห่งหนึ่งใน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี คาดว่าเป็นแหล่งกบดานของคนร้ายบุกยิง อส. 4 ศพ จนเกิดการปะทะ ส่งผลให้ผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 2 ราย ส่วนเหตุการณ์ล่าสุดคนร้ายบุกกราดยิงตำรวจในโรงพักนาประดู่ จ.ปัตตานี ทำให้ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย เมื่อ 13 มกราคม ที่ผ่านมา โดยฝ่ายความมั่นคงลงความเห็นว่าเป็นฝีมือ ‘บีอาร์เอ็น’


          ไฟใต้เริ่มปะทุขึ้น ท่ามกลางการปรับขบวนใหม่ ของคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัตน์ และ ตันสรี อับดุลราฮิม บิน โมห์ด นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจ และผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลเซีย เข้ามาทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก และชัดเจนว่า นายดูนเลาะห์ แวมานอร์ ประธานกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ หรือบีอาร์เอ็น คือเป้าหมายการเปิดโต๊ะเจรจา ที่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นได้เมื่อไร


          ‘ดูนเลาะห์ แวมานอร์’ เบี้ยวนัด ไม่มาพบผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย ภายหลังได้รับการติดต่อให้มาร่วมพูดคุยสันติสุขกับฝ่ายไทย และใช้วิธีสับเปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อยๆ เพื่อหลบการกดดันจากรัฐบาลมาเลเซีย จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครรู้ว่า ‘ดูนเลาะห์ แวมานอร์’ พักพิงอยู่กับใคร ใน 5 กลุ่ม ดังนี้ ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมาเลเซีย, ผู้นำศาสนา, สุลต่าน, ผู้มีอิทธิพล, ประเทศอินโดนีเซีย


          ข้อมูลหน่วยความมั่นคง พบว่า ‘ดูนเลาะห์ แวมานอร์’ ขอถอนตัวจากการเป็นหัวหน้าบีอาร์เอ็น หลังรู้ตัวตกเป็นเป้าเวทีพูดคุยสันติสุขฯ และแต่งตั้งผู้นำคนใหม่มีชื่อว่า ‘คอ ซารี’ ซึ่งเป็นสายการเมือง และให้ ‘วอเฮะ’ เป็นเลขาธิการ ในส่วนของกองกำลังทหาร แต่งตั้ง ‘เป๊าะนีมะ’ ขึ้นคุมกำลังแทน พร้อมปรับยุทธศาสตร์การก่อเหตุเน้น ‘ส่วนลวง- ส่วนเปิด -ส่วนปิด’ รองรับโครงสร้างใหม่นี้


          แหล่งข่าว 3 จชต.เปิดเผยว่า เมื่อมาเลเซียต้องการนำ ดูนเลาะห์ แวมานอร์ มาคุยกับฝ่ายไทย เขาต้องออกจากตำแหน่ง ถือเป็นกลไกพรางตัวเพราะต้องรักษาองค์กรไว้ เหตุความรุนแรงชายแดนใต้ที่เกิดขึ้นในห้วงนี้ เนื่องจากเป็นนโยบายของบีอาร์เอ็น หากใครจะขึ้นมาทำหน้าที่ในตำแหน่งใด จะต้องออกไปแสดงศักยภาพ

          “ใครอยากเป็น ต้องโชว์ฝีมือ เพื่อให้เกิดการยอมรับ การก่อเหตุแต่ละครั้ง ทำเป็นระบบ คนทำนอกจากเป็นมืออาชีพทั้งหมดแล้ว ยังต้องมีส่วนลวงเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ อย่างกรณี คนร้ายลอบยิง นายวาริน แสงจันทร์ ว่าที่ผู้สมัครของพรรคพลังชาติไทย พร้อมภรรยา เสียชีวิตที่ จ.ยะลา เมื่อคืนวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา หากมองผิวเผินก็จะบอกเป็นเรื่องการเมือง แต่คนในพื้นที่จะรู้ดีว่าไม่ใช่” แหล่งข่าว 3 จชต.กล่าว


          ทั้งนี้หนทางดึง ‘บีอาร์เอ็น’ ร่วมเวทีพูดคุยสันติสุขนั้น รัฐไทยต้องยอมรับการมีอยู่ขององค์กร และใช้กลไกอำนาจรัฐ ประเทศเพื่อนบ้าน และมหาอำนาจ กดดันให้เปิดตัว อย่าปล่อยให้บีอาร์เอ็นบีบให้รัฐไทยกลายเป็นคู่สงคราม ตามโรดแม็พวางไว้ โดยหันมาผลิตทหารเด็ก หวังสร้างอำนาจการต่อรอง นำไปสู่แบ่งแยกดินแดนอีก 20 ปีข้างหน้า ภายหลังยุทธศาสตร์สงครามประชาชน และสงครามกองโจร ตามบันได 7 ขั้น ไม่ประสบผลสำเร็จ


          การยุติ ‘ไฟใต้’ ให้จบภายใน 2 ปี ตามที่ มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ระบุไว้ แม้จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเกิดไม่ได้ ถ้า ‘รัฐไทย’ เปิดเกมรุกและกำหนดแนวทางที่ชัดเจนให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะการก้าวผ่านกำแพงถูกฝังหัวมาตลอดว่า การยอมรับองค์กร ‘บีอาร์เอ็น’ จะเป็นการยกระดับ และนำไปสู่การเสียดินแดนในอนาคต


          แหล่งข่าว 3 จชต. ระบุว่า นายกฯ มหาธีร์ พยายามเตือนสติรัฐไทยมาตลอด ไม่มีทางที่เกิดการแบ่งแยกดินแดน หรือนำไปสู่การยกระดับเพราะสนธิสัญญาแองโกลแบงค็อก ขีดมาแล้ว ก็ต้องอยู่ตรงนั้น ใครจะมารื้อหรือเปลี่ยนแปลงคงไม่ได้ ทำไมจะต้องกลัว ในขณะที่ บีอาร์เอ็นไม่มีอะไรเลย เป็นเพียงผู้ก่อการร้ายที่ทั่วโลกไม่ยอมรับ หากเอาเขาออกมา ทุกอย่างก็จบ แต่ฝ่ายรัฐไทยยังกังวล และยึดติดอยู่กับแนวคิดเดิมๆ กลัวว่าหากไปเปิดตัวหรือไปแตะบีอาร์เอ็น จะทำให้เสียดินแดน ซึ่งเท่ากับเราแพ้ด้านยุทธศาสตร์อย่างสิ้นเชิง


          สำหรับปัจจัยที่ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มั่นใจว่า รัฐไทยจะไม่เสียดินแดน เพราะมีจุดแข็งหลายด้าน อาทิ รัฐธรรมนูญ, ดินแดนแห่งบูรณภาพ, สิทธิในการกำหนดใจตนเอง หรือ Right to Self Determination (RSD) ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่ได้รับการรับรองโดยกฎบัตรสหประชาชาติ โดยเฉพาะสนธิสัญญาแองโกลแบงค็อก ค.ศ.1909 เป็นข้อตกลงปักปันเขตแดนระหว่างอังกฤษกับสยาม โดยมีการลงนามกันระหว่าง ม.ร.ว.ทิวาวงศ์ วโรปกรณ์ รัฐมนตรีต่างประเทศสยาม, เจนเซิล เวสเตนการ์ด เป็นผู้แทนฝ่ายสยาม กับ ราล์ฟ พาเกต ผู้สำเร็จราชการในมลายูของอังกฤษ ในข้อที่ 6 ระบุชัดเจนว่า พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ภายใต้การปกครองของไทย


          คงถึงเวลาแล้วที่ ‘รัฐไทย’ จะต้องเลือกระหว่างเดินตามแนวทางของ นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ เพื่อสร้างจุดเปลี่ยน กระชากองค์กร ‘บีอาร์เอ็น’ ให้ปรากฏแก่สายตาคนทั้งโลก เพื่อไปสู่การดับไฟใต้ที่ยั่งยืน หรือยึดติดกับแนวคิดเดิม ไม่ยอมรับการมีอยู่ขององค์กรดังกล่าว เพื่อตัดปัญหาถูกยกระดับ นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ