ข่าว

 เปิดผลการศึกษา"สวนยางยั่งยืน"อีกก้าวเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิดผลการศึกษา"สวนยางยั่งยืน"อีกก้าวเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง  

        ตามคำสั่งคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกนย. ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการทำสวนยางอย่างยั่งยืน จำนวน 27 ท่านที่ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางสนับสนุนการดำเนินการตัดการสวนยางอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม  

 เปิดผลการศึกษา"สวนยางยั่งยืน"อีกก้าวเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง  

  ขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)

   

               จากนั้นคณะทำงานฯได้เร่งดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค. 2563 ถึง 14 มี.ค. 2563 โดยมีการจัดประชุมหารือ การเชิญหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล การรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะทำงานย่อยจำนวน 3 คณะเพื่อจัดทำรายงานการศึกษาในแต่ละประเด็น ได้แก่ คณะทำงานย่อยศึกษาแนวทางการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน คณะทำงานย่อยเพื่อศึกษาและขับเคลื่อนการทำสวนยางอย่างยั่งยืน และคณะทำงานย่อยศึกษาการใช้สวนยางยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหาสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยผลการศึกษาดังกล่าวเตรียมเสนอต่อกนย.พิจารณาภายในเดือนนี้ ก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป

 เปิดผลการศึกษา"สวนยางยั่งยืน"อีกก้าวเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง  

              ขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เผยกับ“คมชัดลึก”ถึงผลการศึกษาการทำสวนยางอย่างยั่งยืนโดยสรุป 3 ประการประกอบด้วย 1.แสดงกลไกการขับเคลื่อนการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนในรูปแบบต่าง ๆ โดยความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีสวนยางที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ประมาณ 15 ล้านไร่ ภายใน 5 ปี

        2.แสดงมาตรการในการขับเคลื่อนการทำสวนยางอย่างยั่งยืนแบบผสมผสาน ลดการพึ่งพารายได้จากยางเพียงอย่างเดียว โดยมีเป้าหมายสวนยางยั่งยืนในพื้นที่สวนยางปลูกแทนที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ไม่น้อยกว่า 2 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี และ3.แสดงมาตรการแก้ไขปัญหาสวนยางในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยส่งเสริมการทำสวนยางยั่งยืนที่เกื้อกูลธรรมชาติ และเกิดความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายสวนยางที่รับแจ้งข้อมูลการปลูกยางกับ กยท. ประมาณ 5 ล้านไร่ 

            นอกจากนี้ยังได้แสดงยุทธศาสตร์ มาตรการ หน่วยงานผู้รับผิดชอบ และโครงการนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ เพื่อขับเคลื่อนการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรมต่อไป โดยผลการศึกษาดังกล่าวทางคณะทำงานเตรียมเสนอต่อกนย.พิจารณาภายในเดือนมีนาคมนี้ ก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป

           "ประโยชน์ที่ได้รับมี 2 กรณี ประการแรกชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางดีขึ้น มีรายได้ทุกวันไม่ได้หวังพึ่งพาจากยางอย่างเดียว และอีกประการสามารถส่งออกยางไปขายได้ทั่วโลก เพราะได้รับรองมาตรฐานสากลหรือ FSC ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ยางส่วนใหญ่ปลูกทดแทนไม่ใช่เปิดที่ปลูกใหม่" ขจรจักษณ์ กล่าวและว่าสำหรับเงินสนับสนุนปลูกทดแทนยางพารานั้นยังอยู่ที่ 16,000 ต่อไร่ ใน 3 กรณีได้แก่ปลูกยาวใหม่แทนยางเก่า ปลูกพืชเศรษฐกิจตัวอื่นและทำสวนยางผสมสานตามศาสตร์พระราชา ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์จะต้องตรวจสอบความถูกต้องจากหนว่ยงานที่เกี่ยวข้องก่อนจึงจะสามารถเข้าร่วมโครงการสวนยางยั่งยืนได้

           อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการประกอบอาชีพการทำสวนยางพาราส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบเกษตรเชิงเดี่ยว เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากพึ่งรายได้จากการทำสวนยางเพียงอย่างเดียว ประกอบกับปัจจุบันราคายางตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำสวนยางเชิงเดี่ยวสู่การทำสวนยางยั่งยืน เน้นการพึ่งพาตนเอง ลดต้นทุนการผลิต โดยคำว่า “สวนยางยั่งยืน” ที่คณะทำงานย่อยเพื่อศึกษาและขับเคลื่อนการทำสวนยางอย่างยั่งยืนได้นิยามนั้น คือ “การทำสวนยางที่ผสมผสานเกื้อกูลกันระหว่างสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม

           โดยการปลูกยางไม่น้อยกว่า 40 ต้นต่อไร่ ส่งเสริมกิจกรรมทางการเกษตรตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป เช่น การปลูกพืชแซมยาง การปลูกพืชร่วมยาง โดยส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ หรือการทำสวนยางแบบผสมผสาน โดยสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบที่แตกต่างกันไป ตามความสนใจ ศักยภาพของพื้นที่ การตลาด ประสบการณ์และองค์ความรู้ของเกษตรกรเพื่อสร้างกลไกในการขับเคลื่อน การบริหารพัฒนาสวนยางให้มีประสิทธิภาพต่อไป

           ประเสริฐ จรัญฤทธิกุล ประธานสหกรณ์ยางพาราตราด จำกัด ผู้ดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรชาวสวนยางสู่ความยั่งยืนด้วยมาตรฐาน FSC หรือ “ตราดโมเดล” ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนในการดำเนินโครงการจากกยท.ถึง 13 ล้านบาท กล่าวกับ“คมชัดลึก” โดยระบุว่าในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตมีความต้องการให้มีการจัดการป่าไม้แบบยั่งยืน องค์กรเอกชนต่างๆ ได้รวมตัวกันชักชวนให้ผู้บริโภค เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากไม้และกระดาษที่มาจากป่าไม้ที่มีการจัดการแบบยั่งยืน ทำให้ผู้ผลิตเริ่มหันมาสนใจต่อทรัพยากรมากขึ้น ทำให้สินค้าที่มีสัญลักษณ์ FSC มีความต้องการไปทั่วโลก รวมทั้งไม้ยางพารา เฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา ตลอดจนผลิตภัณฑ์อื่นๆที่มาจากยาง ก็มีความต้อง การเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ในขณะที่กำลังการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน FSC มีน้อยยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก และราคาสินค้า FSC จึงสามารถขายได้ในราคาที่แพงว่าสินค้าทั่วไป

            นอกจากนี้แนวโน้มในอนาคตมาตรฐาน FSC จะไม่นำมาใช้บังคับแค่ไม้ยางพารา และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไม้ยางพาราเท่านั้น แต่จะครอบคลุมไปถึงผลผลิตอื่น ๆ ที่ได้จากยางพารา เช่น น้ำยาง หรือยางแผ่น เป็นต้นด้วย ซึ่งขณะนี้บริษัทผลิตยางล้อรถยนต์รายใหญ่ เช่น ยางมิชลิน ยางคอนติดเนนตัล เป็นต้น ก็เริ่มใช้ยางจากสวนที่ได้รับมาตรฐาน FSC มาใช้ในการผลิตยางล้อรถยนต์แล้ว

           "สิ่งที่เกษตรกรจะได้จากการทำสวนยางให้ได้รับมาตรฐาน FSC คือ จะสามารถขายยางได้ในราคาที่สูงกว่าราคาปกติ และมีตลาดรองรับที่แน่นอน ไม่ต้องมากังวลในเรื่องของราคายาง ในขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับผลที่ได้รับ และยังช่วยให้การบริหารจัดการสวนยางได้รับการพัฒนาอย่างมีแบบแผน มีระบบที่ได้มาตรฐาน เกิดความปลอดภัยต่อทั้งคนงานและเจ้าของสวนยางอย่างยั่งยืนอีกด้วย"ประธานสหกรณ์ยางพาราตราด จำกัดกล่าวย้ำ

          ขณะที่ จตุพงษ์ ลิขิต  เจ้าของสวนยางพาราที่ได้รับมาตรฐาน FSC จำนวน 60 ไร่ ที่บ้านห้วยยาง อำเภอแกลง จังหวัดระยองยอมรับว่าการพัฒนาสวนยางพาราให้ได้รับมาตรฐาน FSC นั้นไม่ยาก เนื่องจากหลักการที่จะได้รับ FSC หลายข้อเป็นเรื่องที่ปฏิบัติอยู่แล้ว เพียงแค่มีความตั้งใจก็สามารถดำเนินการได้ทันที และที่สำคัญไม่ได้ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ในทางตรงข้ามทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น สามารถกรีดยางได้ยาวนานขึ้น ซึ่งขณะนี้สวนยางมีอายุ 20 ปีแล้ว แต่ยังให้ผลผลิตสูงยังสามารถกรีดได้อีกประมาณ 10 ปี ถึงจะโค่น และมีผู้ค้าโรงเลื่อยมาจองไม้ยางที่จะโค่นแล้วทั้งๆที่ยังไม่ถึงเวลาโค่น โดยจะให้ราคาสูงกว่าราคาท้องตลาด

           “สวนยาง FSC ไม่ได้ทำให้ขายยาง หรือ ไม้ยาง ได้ในราคาที่สูงขึ้น และมีตลาดรองรับที่แน่นอน สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตเท่านั้น แต่ยังจะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ครอบครัวมีความสุข ชุมชนมีความน่าอยู่อีกด้วย”จตุพงษ์ กล่าว

       

          ด้าน กฤตธนดลล์ ลิขิต ผู้จัดการสวนป่าลิขิตพาราวู้ด ซึ่งประกอบธุรกิจโรงงานแปรรูปไม้ยาง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ระบุว่าขณะนี้ความต้องการไม้ยางพาราจากสวนยางที่ได้รับมาตรฐาน FSC มีไม่เพียงพอกับความต้องการ มีบริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ ส่งออกรายใหญ่ของประเทศมาทำสัญญารับซื้อไม้ยาง FSC ที่แปรรูปทั้งหมด ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดไม้ยางแปรรูปที่มาจากสวนยางทั่วไป ซึ่งที่โรงงานจะแปรรูปเฉพาะไม้ยางพาราเท่านั้น โดยจะแยกระหว่างไม้ยางพาราที่มาจากสวนยาง FSC และไม้ยางพาราที่มาจากสวนยางทั่วไป

 เปิดผลการศึกษา"สวนยางยั่งยืน"อีกก้าวเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง  

           สำหรับการแปรรูปไม้ยางจากสวนที่ได้รับมาตรฐาน FSC จะต้องดำเนินการให้ได้ตามมาตรฐาน FM/CoC ที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สากลให้การยอมรับ โดยจะควบคุมการจัดการทุกขั้นตอนให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนระบบการควบคุมการเคลื่อนย้ายของสินค้าไม้

         สวนยางยั่งยืน นับเป็นอีกก้าวของเกษตรกรชาวสวนยางที่จะพัฒนารูปแบบการปลูกจากเชิงเดี่ยวเป็นผสมผสานเพื่อไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในอนาคต 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ