ข่าว

วางมาตรการเข้มฝ่าวิกฤติน้ำแล้ง"อีอีซี"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วางมาตรการเข้มฝ่าวิกฤติน้ำแล้ง"อีอีซี"เจรจาซื้อน้ำ"บ่อดินเอกชน"สำรองเพิ่ม 

       หน้าแล้งยาวปีนี้ภาคตะวันออกไม่ใช่มีปัญหาแค่น้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค แต่ยังต้องรองรับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีด้วย ด้วยเหตุนี้กรมชลประทานบูรณาการจับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางมาตรการเข้ม รับมือสถานการณ์เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และรักษาเสถียรภาพความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกประกอบด้วย ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา  มั่นใจมีน้ำเพียงพอแม้ฝนจะมาล่าช้าหลังเดือนมิถุนายน 2563

      "ขณะนี้มีปริมาณน้ำใช้การคงเหลือ 38.0 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เมื่อรวมกับแผนที่จะสูบผันจากอ่างฯประแสร์มาอีกจะมีปริมาณน้ำใช้การรวม 58.0 ล้านลบ.ม. คาดว่ามีปริมาณน้ำเพียงพอ จนถึงสิ้นฤดูแล้ง 30 มิ.ย.63 และยังเหลือน้ำใช้การอีกประมาณ 8.0 ล้านลบ.ม.เพื่อสำรองไว้กรณีฝนตกช้ากว่าเดือนมิถุนายน"

 

        ทองเปลว กองจันทร์ กรมชลประทานเผยถึงแผนการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2563  ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี(EEC) 3 จังหวัด ประกอบด้วย ระยอง ชลบุรีและฉะเชิงเทรา โดยในส่วนของจ.ระยองนั้น มีแหล่งน้ำต้นทุนหลักจากอ่างเก็บน้ำ  3 แห่งได้แก่ อ่างฯดอกกราย อ่างฯหนองปลาไหล และอ่างฯคลองใหญ่ ซึ่งส่งน้ำให้กับการประปา การเกษตร และอุตสาหกรรม ในพื้นที่จ.ระยอง และจ.ชลบุรีบางส่วน  

       โดยมีทั้งหมด 7 มาตรการ ประกอบด้วย 1.การเชื่อมเส้นท่อผันน้ำอ่างฯประแสร์-อ่างฯ คลองใหญ่ กับท่อผันน้ำอ่างฯประแสร์และอ่างฯหนองปลาไหล มาลงอ่างฯหนองปลาไหล สูบผันน้ำวันละ 0.5 ล้านลบ.ม.ดำเนินการโดย บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ East Water ซึ่งได้เริ่มสูบน้ำตั้งแต่ 31 ม.ค. 63 ที่ผ่านมา 2.การแบ่งปันน้ำจากอ่างฯประแกด ระบายลงคลองวังโตนด และใช้ระบบสูบผันน้ำคลองวังโตนด มาเติมอ่างฯประแสร์ เพื่อสูบผันน้ำต่อมายัง 3 อ่างเก็บน้ำหลัก เพิ่มน้ำต้นทุน 10 ล้านลบ.ม. โดยเริ่มสูบผันน้ำตั้งแต่วันที่ 1-31 มี.ค.63

         3.การสูบผันน้ำจากอ่างฯ คลองใหญ่ มาลงอ่างฯ หนองปลาไหล เพื่อรวมปริมาณน้ำมาใช้ในอ่างหนองปลาไหล 3 ล้านลบ.ม. โดยเริ่มสูบผันน้ำตั้งแต่ 29 ก.พ.63 4.การวางท่อในคลองน้ำแดง ต่อจากด้านท้ายท่อผันน้ำอ่างฯประแสร์ – อ่างฯคลองใหญ่ เพื่อแยกท่อผันน้ำอ่างฯประแสร์-อ่างฯ คลองใหญ่ ออกจากท่อผันน้ำอ่างฯประแสร์- อ่างฯหนองปลาไหล เพิ่มปริมาณการสูบผันน้ำจากอ่างฯ ประแสร์ วันละ 150,000 ลบ.ม. ดำเนินการโดย บริษัท East Water จะแล้วเสร็จภายใน 15 เม.ย. 63 5.การสูบน้ำกลับคลองสะพานเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ ดำเนินการตั้งช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. 63 อย่างน้อย 3 ลบ.ม./วินาที ได้ปริมาณน้ำรวมประมาณ 10 ล้านลบ.ม. ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานกำลังวางท่อเหล็กขนาด 1,800 มม. และบริษัท East Water ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ รวม 3 ลบ.ม/วินาที จะแล้วเสร็จ 15 พ.ค.63

        6.การซ่อมแซมระบบสูบกลับวัดละหารไร่ (แม่น้ำระยอง) เติมอ่างฯ หนองปลาไหล เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำระยอง เมื่อมีฝนตก เสริมน้ำในอ่างฯ หนองปลาไหล วันละ 100,000 ลบ.ม. ดำเนินการโดย บริษัท East Water เช่นกัน ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 15 เม.ย. 63 และ 7.ให้การนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและกรมชลประทาน ทำการสูบใช้น้ำคลองน้ำหู เมื่อมีฝนตก เพื่อลดการใช้น้ำจากอ่างฯ หนองปลาไหล วันละ 50,000 ลบ.ม. ทั้งนี้ระบบสูบมีความพร้อมสามารถสูบใช้น้ำตั้งแต่ 15 เม.ย. 63 เป็นต้นไป

          ส่วนจ.ชลบุรี มีแหล่งน้ำต้นทุนหลักจากอ่างเก็บน้ำ 7 แห่งได้แก่ อ่างฯบางพระ อ่างฯหนองค้อ อ่างฯมาบประชัน อ่างฯซากนอก อ่างฯหนองกลางดง อ่างฯห้วยสะพาน และอ่างฯห้วยขุนจิต  โดยน้ำทั้งหมดส่งน้ำให้การประปาส่วนภูมิภาค สาขาชลบุรี สาขาพัทยา และสาขาศรีราชา และภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เมืองพัทยา อ.ศรีราชา และอ.เมือง จ.ชลบุรี ซึ่งขณะนี้( 9 มี.ค.)มีปริมาณน้ำใช้การคงเหลือ 31.0 ล้านลบ.ม. คาดการณ์ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ถึงสิ้นฤดูแล้ง เดือน 30 มิ.ย. 63 ขาดน้ำประมาณ -7.1 ล้านลบ.ม.

        โดยให้ทางจ.ชลบุรี ประสานเจรจาซื้อน้ำจากบ่อดินเอกชน เสริมเข้าในระบบของการประปา และบริษัท East Water ใน จ. ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อลดการใช้น้ำจากอ่างฯ เกินแผน และเสริมปริมาณน้ำในอ่างฯ ให้เพียงพอ ถึงสิ้นฤดูแล้งเดือน 30 มิ.ย. 63 ปัจจุบันอยู่ระหว่างประสานงานกับ เจ้าของบ่อดิน  ในส่วนกรมชลประทานก็จะทำการขุดลอกคลองหลวง จากท้ายอ่างฯคลองหลวง ถึงคลองพานทอง เพื่อระบายน้ำจากอ่างคลองหลวง มาที่สถานีสูบพานทอง และสูบผันมาเติมในอ่างฯบางพระ 3 ล้านลบ.ม. โดยจะเริ่มสูบตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 63 พร้อมทั้งควบคุมการดักสูบน้ำระหว่างทาง และให้บริษัท East Water ทำการสูบผันน้ำแม่น้ำบางปะกง – อ่างฯ บางพระ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำอ่างฯ บางพระ กรณีมีฝนตกในลุ่มน้ำบางปะกงผลักดันน้ำเค็มลงมาต่ำกว่าจุดสูบน้ำ ซึ่งปัจจุบันกำลังติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม และซ่อมท่อรั่ว คาดว่าจะแล้วเสร็จสูบผันน้ำได้ 15 พ.ค. 63 นี้

       สำหรับจ.ฉะเชิงเทรา(ฝั่งซ้ายแม่น้ำบางปะกง) มีแหล่งน้ำต้นทุนหลักมาจาก อ่างฯน้ำสียัด และอ่างฯคลองระบม ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำใช้การ 45.3 ล้านลบ.ม.และมีปริมาณน้ำเพียงพอใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2563 ซึ่งประกอบด้วย น้ำต้นทุนเพื่อผลิตประปา 13 ล้านลบ.ม. รักษานิเวศน์ 2 ล้านลบ.ม. และการเกษตรต่อเนื่อง 1 ล้านลบ.ม. และสำรองกรณีฝนตกล่าช้าอีก 30 ล้านลบ.ม.

        นอกจากนี้ยังมีมาตรการเพิ่มเติมรองรับวิกฤตขาดแคลนน้ำ ในฤดูแล้งปีนี้ โดยรณรงค์ให้ผู้ใช้น้ำ ลดการใช้น้ำทุกภาคส่วนใน จ.ระยอง และชลบุรี 10 % ตั้งแต่เดือน ก.พ. – มิ.ย. 63 ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) แจ้งกระทรวงพลังงาน สั่งการให้โรงไฟฟ้าเอกชนในจังหวัดระยอง ชลบุรี หยุดเดินระบบอยู่ในโหมด Stand Bye หรือเดินระบบเท่าที่จำเป็น เพื่อลดการใช้น้ำเพื่อหล่อเย็น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมการสูบน้ำไม่ให้เกินจำนวนที่ในแผนที่กำหนดรายวัน และตรวจสอบมิเตอร์วัดน้ำ ให้ใช้งานได้ตลอดเวลา 

 

                                  กอนช.ดันมาตรการหาน้ำเพิ่มให้“อีอีซี”

                การประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)ที่มี"ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์" เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เป็นประธานเมื่อวันที่ 6 มี.ค.63 ที่ผ่านมา นอกจากมีการติดตามผลสำรวจพื้นที่ประสบภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือน้ำแล้งปี 2563 แล้วยังมีการถกปัญหาความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้ง ของภาคตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีที่มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงมีความจำเป็นต้องมีการนำน้ำจากจังหวัดใกล้เคียงมาเสริมในระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำของพื้นที่ 

             โดย สทนช. ได้บูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาโดยได้พิจารณาแบ่งปันน้ำมา จากอ่างเก็บน้ำประแกด จังหวัดจันทบุรี มาเติมให้อ่างเก็บน้ำประแสร์จำนวน 10 ล้านลูกบาศก์เมตร (เริ่มสูบผันน้ำตั้งแต่ 1 -25 มี.ค.63 ซึ่งจะทำให้อ่างเก็บน้ำประแสร์มีปริมาณน้ำเพียงพอที่สนับสนุนพื้นที่การเกษตรและส่งน้ำไปช่วย 3 อ่างเก็บน้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำดอกกราย (ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันเพียง 38 ล้านลูกบาศก์เมตร) และจะทำให้สามารถส่งน้ำให้ภาคอุตสาหกรรมและอุปโภค-บริโภค ในเขตจังหวัดระยองได้จนถึง 30 มิถุนายน 2563

            ในส่วนของพื้นที่จ.ชลบุรี ที่ปัจจุบันใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำบางพระ อ่างเก็บน้ำหนองค้อ และอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทรฯ เพื่อให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสามารถใช้ได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.63 เช่นเดียวกัน จึงต้องปรับลดการจ่ายน้ำให้กับบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ ดังนั้นที่ประชุมจึงได้ร่วมหารือกับกรมชลประทานและอีสท์ วอเตอร์ ถึงมาตรการในการเร่งหาแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มเติมจากแหล่งน้ำเอกชนอีก 14 ล้านลูกบาศก์เมตร เข้ามาในระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำเพื่อทดแทนกับปริมาณน้ำที่ไม่สามารถสูบใช้ได้จากอ่างเก็บน้ำบางพระของกรมชลประทาน ส่วนจ.ฉะเชิงเทรา ได้ใช้น้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาเข้ามาเสริมในระบบประปาฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง ส่วนฝั่งซ้ายของแม่น้ำนั้นใช้น้ำจากอ่างคลองสียัดและอ่างคลองระบมเป็นหลัก 

            ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563รัฐบาลได้อนุมัติงบกลางเพิ่มเติมในการดำเนินการวางระบบประปาหนองกลางดง-พัทยา จังหวัดชลบุรี ใช้เวลาในการดำเนินการ 120 วัน ประกอบกับ ทุกภาคส่วนได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการดำเนินงานต่าง ๆ โดยเฉพาะทางจังหวัด ซึ่งทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการประสานงาน รวมไปถึงความร่วมมือในการลดการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรม ทำให้ทุกมาตรการดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ