ข่าว

"คืนน้ำยางกลับสู่ต้น"เทคโนโลยีกำจัดโรคใบร่วง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กยท.จัดโครงการ"คืนน้ำยางกลับสู่ต้น"ถ่ายทอดเทคโนโลยีป้องกันกำจัดโรคใบร่วงในยางพาราซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ เริ่มนราธิวาสระบาดมากที่สุด เร่งควบคุมไม่ให้ลุกลามจากภาคใต้ขึ้นมาสู่พื้นที่ตอนบนของประเทศ

 

9 มีนาคม 2563 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 9 มีนาคมนี้  กทย.จะร่วมกับจังหวัดนราธิวาสจัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีเตรียมพร้อมรับสถานการณ์โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตามโครงการ “คืนน้ำยางกลับสู่ต้น”  

 

โดยจะแนะนำสารป้องกันกำจัดเชื้อรา สาธิตวิธีการฉีดพ่นทั้งบริเวณทรงพุ่มและพื้นสวนที่มีเชื้อราสะสมอยู่ พร้อมกันนี้จะมอบวัสดุอุปกรณ์อุดหนุนเกษตรกรและสถานบันเกษตรกรยางพาราได้แก่ เครื่องฉีดพ่นแรงดันสูงและวัสดุอุปกรณ์ป้องกันกำจัดเชื้อรา 

 

นอกจากนั้น กยท. ยังกำหนดมาตรการเฝ้าระวังโรคใบร่วงในยางพาราที่เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. Colletotrichum sp. และเชื้อราอื่นๆ ส่งใบร่วงรุนแรง ต้นโทรม ผลผลิตน้ำยางทยอยลดลง ถึงขั้นต้องหยุดกรีดยาง เชื้อรานี้แพร่ระบาดโดยลมหรือจากการเคลื่อนย้ายส่วนของต้นยางจึงป้องกันได้ยาก อาการของโรคปรากฏบนใบยางแก่ ลักษณะเป็นแผลกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางส่วนใหญ่มากกว่า 0.5 เซนติเมตร

 

ช่วงเริ่มแรกอาการบนผิวใบเป็นรอยสีเหลืองค่อนข้างกลม (chlorosis) และต่อมาเนื้อเยื่อรอยสีเหลืองจะตายแห้ง (necrosis) เป็นแผลกลมสีสนิมซีด พบอาการจุดแผลต่อใบยางมากกว่า 1 แผล จากนั้นใบจะเหลืองและร่วงในที่สุด อาการของโรคจะรุนแรงและใบร่วงมากหลังมีฝนตกหนักติดต่อกันอย่างน้อย 2 วันเพราะอากาศที่ชื้นและลมแรง นอกจากนี้ยังพบมีแผลลุกลามแห้งจากปลายยอด

 

 

"คืนน้ำยางกลับสู่ต้น"เทคโนโลยีกำจัดโรคใบร่วง

 

 

หากใบร่วงหลายครั้งอาจถึงขั้นยืนต้นแห้งตายได้ พื้นที่พบการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา มี 9 จังหวัดได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา สตูล ตรัง กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี รวมพื้นที่ 775,178.86 ไร่ มีเกษตรกรชาวสวนยาง ได้รับผลกระทบ 81,962 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563) 

 

ขณะที่มาตรการเฝ้าระวังโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ทาง กยท. ได้มีทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นที่ดำเนินการแล้วและกำลังดำเนินการคือ เร่งสำรวจและติดตามการแพร่ระบาดของโรค เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โดยการรับแจ้งและสำรวจของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่  ร่วมกับใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA)

 

ซึ่งจะมีการประเมินพื้นที่การระบาดของโรคจากการร่วงของใบในช่วงเวลาต่างๆ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคได้แก่ ข้อมูลพื้นที่การระบาด การตรวจสอบลักษณะ อาการของโรค คำแนะนำในการป้องกันกำจัดโรคเบื้องต้น การแจ้งข้อมูลการพบโรคหรือข้อสงสัยได้แก่ อบรมให้ความรู้พนักงาน เจ้าหน้าที่ ผู้นำท้องถิ่น และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง  3 ครั้ง ในจังหวัดนราธิวาส ตรัง และสุราษฎร์ธานี  ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคผ่านทางเว็ปไซต์การยางแห่งประเทศไทย ช่องทางสื่อสารออนไลน์อื่นๆ

 

 

"คืนน้ำยางกลับสู่ต้น"เทคโนโลยีกำจัดโรคใบร่วง

 

 

รวมถึงให้ความรู้อาสาสมัครเกษตรจากทั่วประเทศของกรมส่งเสริมการเกษตร สาธิตการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยการใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ในการฉีดพ่นสารเคมีควบคุมและกำจัดเชื้อราใน 5 จังหวัดได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ตรัง พังงา กระบี่ และสุราษฎร์ธานีนำร่องจังหวัดละ 300 ไร่ รวม 1,500 ไร่ ศึกษาวิจัยหาเชื้อสาเหตุและกลไกการเข้าทำลาย ทดสอบประสิทธิภาพของสารเคมีในการป้องกันกำจัดในพื้นที่เกิดโรคในสภาพแปลง ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูล มาใช้เป็นแนวทางในการ บริหารจัดการโรค ทั้งหน่วยงานในประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และองค์กรระหว่างประเทศเช่น สมาคมประเทศผู้ผลิตยาง ธรรมชาติ (ANRPC) สภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ (IRRDB) 

 

โดยล่าสุดกยท. ตั้งศูนย์บริหารจัดการโรคยางพาราประกอบด้วยพนักงานกยท. ผู้แทนกรมวิชาการเกษตร ผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัย โดยทำหน้าที่บริหารจัดการ เกี่ยวกับโรคยางพาราทั้งระบบ ควบคุม กำกับ ติดตาม ประเมินผลการระบาดและผลกระทบจากโรคยางพารา แล้วให้รายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือ กยท. จัดสรรเงินอุดหนุนกองทุนพัฒนายาง ตามมาตรา 49 (3) ใน เพื่อจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์พ่นสาร ยาป้องกันกำจัดเชื้อราให้สถาบันเกษตรกรในจังหวัดนราธิวาสและตรังเป็นเงิน 1,189,600 บาท อีกทั้งประสานกรมวิชาการเกษตรในการศึกษาเชื้อสาเหตุ และเข้มงวดในการเคลื่อนย้ายกล้ายาง และกิ่งตายางในแปลงขยายพันธุ์ยางเพื่อการค้าที่ปราศจากโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปสู่แหล่งอื่น 

 

นายณกรณ์ บอกด้วยว่า ในระยะยาวจะวิจัยและพัฒนาพันธุ์ยางต้านทานโรค กำหนดมาตรการเฝ้าระวัง เตือนภัยและประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โดยการศึกษา แนวโน้มและทิศทางการระบาดของโรค วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของพื้นที่ระบาดของโรคกับสภาพภูมิอากาศ และติดตั้งเครื่องมือดักจับสปอร์ ป้องกันการเกิดโรคในพื้นที่เสี่ยงประมาณ 2,000,000 ไร่ด้วยการดูแลรักษาแปลงให้สะอาดและใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยาง ขยายผลการป้องกันกำจัดโรคให้ครอบคลุมพื้นที่โรคระบาดเพื่อไม่ให้ลุกลามจากภาคใต้ขึ้นมาสู่ภาคอื่นๆ ทางตอนบนของประเทศ

 

 

"คืนน้ำยางกลับสู่ต้น"เทคโนโลยีกำจัดโรคใบร่วง

 

 

“โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราพบการแพร่ระบาดครั้งแรกอินโดนีเซีย เมื่อปี 2558 ต่อมาพบการระบาดในมาเลเซีย เมื่อปี 2560 การแพร่ระบาดของโรคได้ขยายวงกว้างขึ้นอย่าง รวดเร็วและต่อเนื่อง จนกระทั่งมีรายงานพบการแพร่ระบาดเข้ามายังพื้นที่ภาคใต้ของไทย ได้รับรายงานครั้งแรกเดือนกันยายน 2562 ในจังหวัดนราธิวาส จากการตรวจสอบใบยางพาราที่เป็นโรค การป้องกันกำจัด พ่นด้วยยาป้องกันกำจัดเชื้อรา แมนโคเซบ 2-3 ครั้ง สลับด้วยยาดูดซึมเช่น คาร์เบนดาซิม โพรพิเนป คลอโรธาโลนิล หรือเฮกซาโคนาโซล 1 ครั้ง ตามอัตราแนะนำ ส่วนใบที่เป็นโรคแล้วร่วงลงมาให้เก็บรวบรวมทำลายโดยฝังกลบหรือกองรวม โรยทับใบยางเป็นโรคด้วยปูนขาวหรือโดโลไมท์ให้ทั่ว หว่านตามด้วยยูเรียปริมาณร้อยละ 10 ของน้ำหนักปูนแล้วรดน้ำตาม ตลอดจนใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงต้นยางให้แข็งแรง จะทำให้ต้นยางที่เป็นโรคแตกใบใหม่และปัองกันแปลงใกล้เคียงไม่ให้ติดโรคได้” นายณกรณ์กล่าว

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ