ข่าว

"เกษตร"ระทึก พายุฤดูร้อนจ่อถล่ม กระทบผลผลิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กระทรวงเกษตรฯ เตือนระวังพายุฤดูร้อนกระทบผลผลิต โดยเฉพาะไม้ผลซึ่งใกล้ออกสู่ตลาด ชลประทานตอนบนเตรียมรับฝนเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก ประสานผู้ว่าฯเตือนประชาชนติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

 

5 มีนาคม 2563 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนว่า ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบ่อยขึ้น 

อ่านข่าว-อีสานหนัก พายุฤดูร้อนถล่ม

 

ทั้งนี้เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ดังนั้นเกษตรกรควรป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะสวนไม้ผลซึ่งเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นานหลายปี ภาคเหนือมีลำไยและลิ้นจี่ที่กำลังใกล้ออกสู่ตลาด ส่วนภาคตะวันออกได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง

 

ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงแนะนำวิธีการดูแลสวนไม้ผลในระยะก่อนและหลังการเกิดพายุฤดูร้อนเพื่อบรรเทาความเสียหายหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยระยะก่อนเกิดพายุฤดูร้อน ควรปลูกต้นไม้บังลมเช่น ไม้ไผ่ กระถินณรงค์ ขี้เหล็กบ้าน และสะเดาอินเดียเพื่อลดความรุนแรงของลมก่อนที่จะเข้าถึงสวนผลไม้หรือพื้นที่เพาะปลูก ควรตัดแต่งกิ่งที่แน่นทึบหรือกิ่งที่ไม่ให้ผลผลิตออกเพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ไม่ต้านลม

 

สำหรับต้นไม้ผลที่อายุมากและมีลำต้นสูงอาจตัดทอนส่วนยอดให้ต่ำลง ป้องกันไม่ให้ต้นไม้โค่นล้มง่าย ขณะเดียวกันควรใช้เชือกโยงกิ่งและต้นเพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก รวมทั้งใช้ไม้ค้ำกิ่งและค้ำต้นช่วยพยุงไม่ให้โค่นลงได้ง่าย สำหรับสวนที่เริ่มให้ผลผลิตควรทยอยเก็บผลผลิตที่แก่ออกไปบ่มหรือจำหน่ายก่อนเพื่อลดความเสียหายที่อาจได้รับจากพายุ กรณีผลไม้บางชนิดที่อ่อน ไม่สมบูรณ์ รูปทรงไม่ปกติหรือมีขนาดเล็กเช่น มะม่วง อาจเก็บไปจำหน่ายก่อนได้เพื่อลดน้ำหนักบนกิ่งและต้นลง

 

ส่วนระยะหลังจากเกิดพายุฤดูร้อน เกษตรกรสามารถที่จะฟื้นฟูสวนไม้ผลที่ได้รับผลกระทบจากพายุโดยตัดแต่งกิ่งที่ฉีกหักหรือต้นไม้ที่โค่นล้มออกทันทีที่พื้นดินในบริเวณสวนแห้ง ไม่ควรนำเครื่องจักรกลเข้าไปในสวนขณะที่ดินยังเปียกชื้นอยู่เพราะจะทำให้โครงสร้างดินถูกทำลายและอัดแน่นได้ง่าย กรณีที่มีดินโคลนทับถมเข้ามาในสวน เมื่อดินแห้งให้ขุดหรือปาดเอาดินโคลนที่ทับถมออกจากบริเวณทรงพุ่มให้ลึกถึงระดับดินเดิมเพื่อให้การถ่ายเทอากาศดีขึ้น หากต้นไม้เอนลงให้ใช้เชือกหรือลวดดึงลำต้นให้ตั้งตรง

 

โดยยึดไว้กับหลักหรือไม้ผลต้นอื่น พร้อมตัดแต่งกิ่งออก 1 ใน 3 ของที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ต้นไม้ฟื้นตัวเร็วขึ้น จากนั้นควรฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ เมื่อดินแห้งควรพรวนดินเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืชซึ่งจะทำให้รากแตกใหม่ได้ดีขึ้น รวมถึงใส่ปุ๋ยบำรุงต้นด้วย หากใบเหี่ยวเฉาควรให้น้ำอย่างน้อย 7-10 วันต่อครั้งหรือให้ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของพืชเพื่อช่วยให้ผ่านช่วงแล้งไปได้ 

 

 

นายเข้มแข็งกล่าวต่อว่า กรณีพื้นที่เกษตรเสียหาย กรมส่งเสริมการเกษตรจะช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ทั้งนี้ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรต่อกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนเกิดภัย ตามจำนวนพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย รายละไม่เกิน 30 ไร่ได้แก่ ข้าวได้รับอัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ได้รับอัตราไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่นๆ ได้รับอัตราไร่ละ 1,690 บาท

 

ทั้งนี้เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดจะประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เกษตรกรต้องยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) โดยให้ผู้นำท้องถิ่นรับรอง ก่อนจะมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกร และสำรวจพื้นที่เสียหายจริงเพื่อพิจารณาช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป

 

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า พายุฤดูร้อนจะส่งผลให้บริเวณภาคเหนือ 
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีลมแรง ฝนฟ้าคะนองซึ่งหากตกลงมาเหนืออ่างเก็บน้ำ ตลอดจนตกลงในลำน้ำ และคูคลองต่างๆ จะช่วยให้สถานการณ์น้ำในพื้นที่ดังกล่าวดีขึ้นเนื่องจากปัจจุบันน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ทั้งนี้กรมชลประทาน จะงบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งการจัดจราจรน้ เพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด


นอกจากนี้จะแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมให้เตรียมรับมือและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

 

พร้อมสั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเจ้าหน้าที่ไว้คอยช่วยเหลือประชาชนที่อาจจะประสบปัญหาน้ำท่วม หากประชาชนต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ทางสายด่วนกรมชลประทาน หมายเลข 1460 หรือติดตามสถานการณ์น้ำได้ทาง http://water.rid.go.th/ และ www.rid.go.th

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ