ข่าว

เกษตรผสมผสานทางเลือกสู่ทางรอดสวน"ตากะยาย"       

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกษตรผสมผสานทางเลือกสู่ทางรอดสวน"ตากะยาย"       

 

          แม้ติดใน 1 ใน 250 จังหวัดที่รัฐบาลประกาศเขตภัยพิบัติแห้งแล้งกรณีฉุกเฉิน แต่ก็ไม่มีปัญหาน้ำใต้ดินที่ดูดขึ้นมาใช้หล่อเลี้ยงภาคการเกษตรสำหรับอุทัยธานีที่กว่า 90% ของประชากรในจังหวัดประกอบอาชีพด้านการเกษตร โดยมีพืชเศรษฐกิจหลักอย่างอ้อย ข้าวและมันสำปะหลัง ที่เน้นปลูกเชิงเดี่ยว ใช้น้ำมาก จนเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำทั้งด้านการเกษตรและการอุปโภคบริโภค ขณะที่เกษตรกรจำนวนไม่น้อยก็หันมาทำเกษตรกรผสมผสาน โดยนำศาสตร์พระราชาเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ภายใต้รูปแบบ “โคกหนองนาโมเดล” 

 

 

เกษตรผสมผสานทางเลือกสู่ทางรอดสวน"ตากะยาย"       

 

 

 

          หนึ่งในนั้นคือ “สวนตากะยาย” ใน ต.เขากวางทอง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ที่พลิกผืนนาข้าวและไร่อ้อยกว่า 20 ไร่ สลัดทิ้งการปลูกพืชเชิงเดี่ยวหันมาทำเกษตรผสมผสานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ภายใต้โครงการโคกหนองนาโมเดลของตายาย “ศักดิ์ชัย และทองมั่น พูลศรี” เกษตรกรต้นแบบใน ต.เขากวาง อ.หนองฉาง โดยใช้เวลาเพียงปีเศษในการลองผิดลองถูกจนประสบความสำเร็จในวันนี้

 

             “ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้ตาม “ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์” เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และคณะผู้บริหาร สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการต้านภัยแล้งตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล หลังรับฟังการสรุปผลการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ เซีย ในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรังจากทีมงานบริษัทที่ปรึกษา จากนั้นเดินทางไปดูความสำเร็จของเกษตรกรที่นำศาสตร์พระราชา ภายใต้โครงการโคกหนองนาโมเดลตามหลักการอนุรักษ์ดินและน้ำมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่การเกษตรของสามีภรรยาที่พลิกพื้นที่ไร่อ้อยกว่า 20 ไร่มาทำเกษตรผสมผสานตามแนวทางพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 30:30:30:10 ในการจัดสรรพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำเกษตร  

 

 

เกษตรผสมผสานทางเลือกสู่ทางรอดสวน"ตากะยาย"       

 

 

               สภาพบ้านไม้สองชั้นเรือนทรงไทยแวดล้อมไปด้วยพืชผักสมุนไพรนานาชนิดที่ปลูกไว้โดยรอบ และทันที่ที่เลขาธิการ สทนช.และคณะ พร้อมสื่อมวลชนกว่า 20 ชีวิตเดินทางไปถึง สามีภรรยาออกมาต้อนรับพร้อมน้ำดื่มสมุนไพรและผลไม้ต่างๆ อาทิ มะละกอ แตงโม ฝรั่ง ที่เตรียมไว้ให้รับประทาน ก่อนตั้งวงเสวนาโดยเลขาธิการสทนช. “ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์” รับทำหน้าที่เป็นพิธีกรสัมภาษณ์ของตายาย มูลเหตุจุดประกายจากทำนาปลูกข้าว ทำไร่อ้อย หันมาทำเกษตรผสมผสาน

 

                 “ลูกสาวเป็นครู อยากหางานใหม่ให้พ่อแม่ทำ ทำนา ทำไร่อ้อย มีแต่หนี้ ขาดทุนทุกปี แล้วก็มีปัญหาเรื่องน้ำ หน้าแล้งอย่าว่าแต่น้ำใช้ในการเกษตร  น้ำจะกินจะใช้ยังไม่มีเลย แต่โชคดีพื้นที่ตรงนี้สายน้ำใต้ดินไม่ลึกมากขุดไป 3-5 เมตรก็เจอตาน้ำแล้ว” ศักดิ์ชัย เผยหลังพิธีกรโยนคำถามถึงสาเหตุที่ต้องเปลี่ยนวิถีเกษตรเชิงเดี่ยวหันมาปลูกผสมผสาน หลังศึกษาโคกหนองนาโมเดล ตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9  

 

                 ทองมั่นเล่าว่า ใช้เวลาเกือบ 2 ปี ในการปรับเปลี่ยนพื้นที่กว่า 20 ไร่ จากที่เคยทำนาปลูกข้าวและทำไร่อ้อยมาทำเกษตรผสมผสาน มีการปลูกไล่ระดับ 7 ชั้นตั้งแต่ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย ไม้ผลไปจนถึงพืชผักสมุนไพร ทำให้ทุกวันนี้มีรายได้จากการขายผลผลิตทุกวันเฉลี่ยวันละ 300-500 บาท โดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงสวน ผลผลิตบางส่วนก็ส่งให้โรงพยาบาลหนองฉาง ซึ่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลบอกมีเท่าไหร่รับซื้อหมดเพียงแต่ตอนนี้ไม่มีผลผลิตส่งให้ตามที่เขากำหนด

 

เกษตรผสมผสานทางเลือกสู่ทางรอดสวน"ตากะยาย"       

 

 

                 “ขณะนี้ผลผลิตหลักก็จะมีมะเขือ ฟักทอง กล้วย แตงกวา ได้เงินทุกวัน วันละสี่ห้าร้อย  ส่วนรายจ่ายไม่มี เพราะของที่จำเป็นมีอยู่รอบบ้านไม่ต้องไปซื้อที่ตลาด วันไหนอยากกินปลา อยากกินไก่ก็ไปจับเอา” ทองมั่นเผย พร้อมย้ำว่าอย่าถามถึงรายได้ แต่ให้ถามรายจ่ายดีกว่า ตราบใดที่รายจ่ายไม่มี ถึงจะไม่มีรายได้เราก็อยู่ได้ ถ้าเราอยู่อย่างพอเพียง 

       

 

                  เขายอมรับว่าปัญหาใหญ่ตอนนี้ก็คือน้ำ โดยตอนนี้ยังมีน้ำในสระที่ขุดไว้ใช้ได้อีกไม่น่าจะเกิน 2 เดือน หลังจากนั้นถ้าฝนไม่ตกลงมาก็อาจมีปัญหา คงไม่มีปัญญาขุดบ่อบาดาล จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วย โดยเฉพาะบ่อบาดาล จึงอยากให้เลขาธิการ สทนช.ดูแลให้ด้วย ซึ่งไม่เฉพาะครอบครัวตนเท่านั้นที่เดือดร้อนแต่มีอีกหลายสิบครัวเรือนในหมู่บ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาขาดแคลนน้ำ

 

                   เลขาธิการ สทนช. รับปากว่าจะดำเนินการติดตั้งบ่อบาลดาลพลังแสงอาทิตย์ ซึ่งอุทัยธานีเป็นหนึ่งในจังหวัดพื้นที่เป้าหมายตามโครงการพัฒนาระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ประจำปี 2562 ด้วย

 

                   “ถ้าลุงอยากได้บ่อบาดาล เดี๋ยวผมจะให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมาดูแลให้ แต่ลุงต้องช่วยทางราชการด้วย ต้องเตรียมบ่อน้ำสำรองไว้เก็บน้ำด้วยนะ เพื่อเก็บไว้ใช้ตลอดไป ต่อไปนี้ชุมชนไหน หมู่บ้านใดอยากได้บ่อบาดาลจะต้องหาบ่อสำรองไว้เก็บกักน้ำด้วย เมื่อรัฐช่วยแล้วชาวบ้านก็ต้องช่วยด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าวพร้อมรับปากจะสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลเพราะอุทัยธานีก็เป็นหนึ่งในจังหวัดเป้าหมายตามโครงการพัฒนาระบบกระจายน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ประจำปี 2562 ด้วย

             

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ