ข่าว

พัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน"ลุ่มน้ำยม"คำตอบสุดท้ายแก้ภัยแล้ง..? 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน"ลุ่มน้ำยม"คำตอบสุดท้ายแก้ภัยแล้ง..? 

           พระราชดำรัสความตอนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแก่กรมชลประทานเมื่อวันที่ 23 กุมภาพพันธ์ 2525 ว่า

     “.....ควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาต่าง ๆ ของแม่น้ำยม เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตอำเภอสอง และอำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ สามารถมีน้ำทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝน-ฤดูแล้ง และมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคตลอดทั้งปี.....”    

   

             ที่ผ่านมากรมชลประทานได้นำแนวพระราชดำริดังกล่าว มาดำเนินการศึกษาที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำยม พบว่าลุ่มน้ำยมมีจุดที่เหมาะสมมีศักยภาพที่จะสามารถก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้ 22 แห่ง มีความจุในระดับกักเก็บน้ำรวมกันได้ประมาณ 380 ล้าน ลบ.ม. โดยล่าสุดกรมชลประทานกำลังดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

           ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง สร้างกั้นลำน้ำปี้ ที่บ้านปิน ต.เชียงม่วน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา มีความจุที่ระดับเก็บกัก 90.50 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ ที่มี พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานฯ ได้ติดตามขับเคลื่อน เร่งรัด และบูรณาการให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดแล้วเสร็จในปี 2564

พัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน"ลุ่มน้ำยม"คำตอบสุดท้ายแก้ภัยแล้ง..? 

ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน

        ต้องยอมรับความจริงว่า พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาในฤดูแล้งปีนี้ต้องเผชิญปัญหากับภัยแล้งอย่างรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี  มีการรณรงค์ให้งดทำนาปรัง เพราะน้ำต้นทุนมีจำกัด แต่เพียงพอเฉพาะการอุปโภคบริโภค และการรักษาระบบนิเวศน์ ทำให้การบริหารจัดการน้ำจึงต้องคุมเข้มเพื่อให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้

        “ยืนยันว่าปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่จะเพียงใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2563 อย่างแน่นอน แต่จะต้องบริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้ และประชาชนก็ควรจะใช้น้ำอย่างประหยัด คุ้มค่า ใช่้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด"ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวถึงมาตการรับมือภัยแล้งที่กำลังมาเยือน

          พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยานั้นประกอบด้วยลุ่มน้ำ 4 สาขาสำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำน่าน แต่ปัญหาไม่ว่าจะเป็น อุทกภัย หรือ ภัยแล้ง ลุ่มน้ำที่จะถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือ “ลุ่มน้ำยม” เนื่องจากยังไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ไว้รองรับ ส่วนลุ่มน้ำสาขาอื่น ๆ ล้วนแต่มีโครงการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ด้วยกันทั้งสิ้น

          ลุ่มน้ำปิง มีเขื่อนภูมิพล ในลำน้ำสาขายังมีเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล  ส่วนลุ่มน้ำวัง มีเขื่อนกิ่วลม และเขื่อนกิ่วคอหมา ขณะลุ่มน้ำน่านมีเขื่อนสิริกิติ์ ในลำน้ำสาขา ยังมีเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จึงมีเพียงลุ่มน้ำยมที่ยังไม่มีโครงการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่

               ผลกระทบที่ตามมาของลุ่มน้ำนี้ก็คือช่วงหน้าแล้งก็จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำซ้ำซาก พอมาช่วงหน้าฝนน้ำก็จะเกิดน้ำป่าไหลหลากท่วมเป็นประจำทุกปี และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วย ฤดูแล้งปีนี้ก็เช่นกัน หากลุ่มน้ำยมมีแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่แล้ว ก็จะทำให้มีน้ำต้นทุนส่งมาหล่อเลี้ยงพื้นที่สองฟากฝั่งลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำเจ้าพระยาอีกไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) จะสามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้

พัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน"ลุ่มน้ำยม"คำตอบสุดท้ายแก้ภัยแล้ง..? 

สภาพน้ำแห้งขอดในแม่น้ำยมช่วงหน้าแล้งทุกปี

              "ลุ่มน้ำยมมีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยในแต่ละปีมากถึง 4,129 ล้าน ลบ.ม. แต่สามารถเก็บกักไว้เพียง 406 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ที่ผ่านมาแม้จะมีความพยายามพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ต้นน้ำยม แต่ยังจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้"ทองเปลวเผยข้อมูล พร้อมย้ำถึงแนวทางการแก้ปัญหาลุ่มน้ำยมนั้นว่าที่ผ่านมากรมชลประทานได้ทำการศึกษาโครงการพัฒนาลุ่มน้ำยม จ.แพร่ ครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน โดยได้มีการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพชลประทานและการจัดการน้ำหลาก แผนการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดกลาง

            สำหรับแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพชลประทานและการจัดการน้ำหลาก ในปัจจุบันกรมชลประทานก็ได้ดำเนินโครงการหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น โครงการปรับปรุงและก่อสร้างระบบชลประทานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำแก้ไขทั้งปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลาก ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย เช่น โครงการบางระกำโมเดล เป็นต้น

             รวมทั้งยังได้ดำเนินการปรับปรุงคลอง 2 สายพร้อมกันคือ คลองหกบาท ซึ่งคลองระบายน้ำเดิมทางด้านฝั่งซ้ายของแม่น้ำยม และคลองยม-น่าน ที่รับน้ำต่อจากคลองหกบาท ตลอดจนก่อสร้างประตูระบายน้ำ 2 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 ผลประโยชน์ที่ได้รับไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลากเท่านั้น แต่ยังจะใช้คลองที่ปรับปรุงเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นประจำเกือบทุกปีอีกด้วย

พัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน"ลุ่มน้ำยม"คำตอบสุดท้ายแก้ภัยแล้ง..? 

             อย่างไรก็ตามด้วยลุ่มน้ำยมเป็นลุ่มน้ำที่มีขนาดใหญ่ แม้จะสามารถสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางได้ 22 แห่ง แต่ปริมาณน้ำที่กักเก็บได้เมื่อนำมารวมกับปริมาณน้ำของอ่างเก็บน้ำของเก่าที่มีอยู่แล้ว จะสามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นแค่19% ของปริมาณน้ำท่าทั้งลุ่มน้ำยมและะสามารถแก้ไขปัญหาได้เฉพาะปัญหาภายในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาที่ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเท่านั้น 

               แต่ถ้าหากจะให้แก้ไขปัญหาทั้งลุ่มน้ำ รวมถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย รัฐบาลจึงจำเป็นจะต้องดำเนินงานตามแผนการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ควบคู่ไปด้วย จะใช้โอกาสวิกฤตภัยแล้ง ชี้แจงทำความเข้าใจถึงความจำเป็น เพื่อขับเคลื่อนโครงการแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ต่อไปหรือจะหยุดโครงการไว้แค่นี้ แต่อยู่ที่รัฐบาลที่ต้องตัดสินใจในเร็ววัน  

 

  "ธนาคารน้ำใต้ดิน"ทางเลือกสู่ทางรอดชาวบ้านทับเกวียนทอง

พัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน"ลุ่มน้ำยม"คำตอบสุดท้ายแก้ภัยแล้ง..? 

           จ.พิจิตร ถือเป็นพื้นที่อยู่ทางท้ายน้ำของลุ่มน้ำยมที่ต้องประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงฤดูแล้งและน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนเป็นประจำทุกปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากยังไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่เหมือนลุ่มน้ำอื่น ๆ ดังนั้นช่วงฤดูน้ำหลากปริมาณน้ำไหลมาเท่าไหร่ก็ลงสู่พื้นที่ด้านล่างทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวบ้านทับเกวียนทอง ต.บึงบัว อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร จึงได้หาวิธีเก็บกักน้ำในชุมชน ผ่านโครงการธนาคารน้ำใต้ดินและสระน้ำประจำหมู่บ้าน

          "ธนาคารน้ำใต้ดินจะช่วยให้ชุมชนผ่านวิกฤติภัยแล้งทุกปี เพราะเมื่อเรามีธนาคารน้ำใต้ดิน  บ่อน้ำในหมู่บ้านก็จะไม่แห้ง มีน้ำอยู่ตลอด การขุดบ่อน้ำไม่ลึกมากก็เจอตาน้ำแล้ว สิ่งเหล่านี้มันเป็นผลพวงมาจากธนาคารน้ำใต้ดิน"

          สุภัทร จันทรวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านม.13 ประธานศูนย์เรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง บ้านทับเกวียนทอง ต.บึงบัว อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร กล่าวถึงธนาคารน้ำใต้ดินชุมชนและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในแนวคิดนี้เพื่อจะได้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ปัจจุบันบ้านทับเกวียนทองเกือบทุกครัวเรือนจะทำธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อสร้างความชุ่มชื่นให้แก่ผืนดินและต้นไม้ ตลอดจนพืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้ตามริมรั้วบ้าน

         “ที่จริงบ้านทับเกวียนทองเป็นพื้นที่ดอน แห้งแล้งมากในฤดูแล้ง ไม่มีอยู่ในพื้นที่เขตชลประทาน แต่เราก็ไม่กังวลเรื่องขาดแคลนน้ำ เพราะเรามีธนาคารน้ำใต้ดินเป็นแหล่งน้ำสำรอง”สุภัทรกล่าว

         วุฒิชัย ภู่สุวรรณ  ชาวบ้านบ้านทับเกวียนทอง มีอาชีพหลักคือทำนาปลูกข้าวควบคู่ไปกับการเลี้ยงโคเนื้อ โดยใช้พื้นที่ประมาณ 2 ไร่ สำหรับปลูกหญ้าแพงโกล่าไว้สำหรับเป็นอาหารโคที่เลี้ยงไว้จำนวน 5 ตัวที่ได้รับจากธนาคารโค-กระบือของหมู่บ้าน แม้ว่าเขาทำนาได้ปีละครั้งเท่านั้น เนื่องจากมีปัญหาขาดแคลนน้ำแต่ช่วงว่างเว้นจากการทำนาก็จะปลูกพืชผักใช้น้ำน้อยเพื่อเป็นรายได้เสริม ขณะเดียวกันก็ยังนำมูลโคมาทำปุ๋ยใส่นาข้าวและพืชผักเพื่อลดต้นทุน

        “วันนี้ถึงจะไม่มีรายได้ แต่ก็ไม่มีรายจ่าย เพราะบ้านเรามีทุกอย่าง ข้าวก็มีกิน มีพืชผักที่ปลูก มีปลาที่เลี้ยงไว้ ส่วนโคที่ยืมมาจากธนาคารโค-กระบือ เมื่อมีลูกตัวแรกก็นำไปคืนธนาคาร ลูกตัวต่อไปก็จะเป็นของเรา”วุฒิชัยเผยวิถีทำกิน พร้อมย้ำว่าน้ำคือชีวิต ขอให้มีน้ำอย่างเดียวทุกอย่างสามารถทำได้หมด ธนาคารน้ำใต้ดินก็เเป็นอีกทางเลือกสำหรับพื้นที่แหล้งแล้งกันดาร

        

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ