ข่าว

รัฐปล่อยกู้ 5 หมื่นล้านดอกเบี้ย 0.01% ช่วยกลุ่มผู้ค้าโค

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอระวี" เผย คุยแก้ปัญหาผู้ประกอบการค้าเนื้อชำแหละ เห็นพ้องทุกฝ่าย รัฐ ปล่อยกู้วงเงิน 5 หมื่นล้าน ดอกเบี้ย 0.01% เผยมีมาตรการคุมนำเข้า-ส่งออก ให้เกิดสมดุลรายได้คนเลี้ยง-ราคาต่อผู้บริโภค

 

 

          เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2563 - นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงปัญหาโคกระบือ ที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกอบอาชีพค้าเนื้อชำแหละและฟาร์มโคขุนว่า เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรมที่มีนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ เป็นประธานได้เชิญตนนายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค ตัวแทนกลุ่มพ่อค้าชำแหละเนื้อขายเข้าร่วมปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน สุดท้ายได้ข้อสรุปที่เห็นด้วยกันทุกฝ่าย คือ รัฐบาลสนับสนุนเกษตรไทยให้หันมาเลี้ยงโค โดยรัฐบาลจะให้งบ 50,000 ล้านบาท ผ่าน  ธ.ก.ส. ซึ่ง ธ.ก.ส.จะให้เกษตรกรกู้อัตราดอกเบี้ย 0.01% เท่านั้น

 

          นพ.ระวี กล่าวว่า เกษตรกรที่จะเลี้ยงโคขุน จะมีบริษัทที่จะมาเซ็นสัญญาซื้อล่วงหน้าในราคามากกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม ราคาปัจจุบัน  105 -107 บาทต่อกิโลกรัม ประมาณรายได้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุน 8,000 - 10,000 บาทต่อตัว ระยะเวลาขุนโคประมาณ 4 เดือน และจะมีระบบประกันชีวิตโคขุนทุกตัว อัตรา 200 กว่าบาทต่อตัว ถ้าโคขุนเกิดตาย เกษตรกรจะได้รับการชดเชยไม่ขาดทุน รัฐบาลจะคอยควบคุมการนำเข้าและส่งออก โค กระบือให้เหมาะสม อาจจะมีการปิดเปิด เป็นระยะๆ ให้เกิดความสมดุลระหว่างรายได้ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโค และราคาเนื้อสำหรับบริโภคของคนไทยทั่วประเทศ โดยห้ามส่งออกวัวตัวเมียและลูกวัว ,ห้ามส่งออกโคขุนที่น้ำหนักน้อยกว่า 450 กิโลกรัมต่อตัว เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรไทยมากที่สุดก่อนส่งออก ในขั้นต้นรัฐบาลเจรจาส่งโคขุนไปจีน 250,000 ตัว ผ่านพรมแดนลาว ในส่วนของการควบคุมการนำเข้าส่วนมากจะมีการนำเข้าผ่านทางพรมแดนไทย-พม่า โดยวัวนำเข้าส่วนมากจะผอม น้ำหนักประมาณ 250 กิโลกรัมต่อตัว ซึ่งเหมาะที่จะนำเข้ามาให้เกษตรกรไทย มาขุนในประเทศให้ได้น้ำหนักเป็น 450 กิโลกรัมต่อตัว ก่อนส่งออก
 

          “รัฐบาลควบคุม ราคาโค กระบือ ทั้งระบบ โดยให้เป็นการซื้อขายด้วยการชั่งน้ำหนักไม่ใช่วิธีประเมินด้วยสายตาของพ่อค้า เพราะเกษตรกร มักจะเสียเปรียบ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1.ราคานำเข้าโค จากพม่า ประมาณ 80- 90 บาทต่อกิโลกรัม ราคาส่ง 2.ราคาโคขุนที่จะขายในประเทศและส่งออกอย่างน้อย 100 บาทต่อกิโลกรัม 3.ราคาเนื้อชำแหละ ในตลาดสำหรับผู้บริโภคอยู่ในระดับ  250 - 300 บาทต่อกิโลกรัม ในส่วนปัญหา FTA ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่ปีหน้า ภาษีนำเข้าจาก 0% อาจจะมีผลกระทบต่อการเกษตรไทย ที่เลี้ยงโค หน่วยงานต่างๆ ได้เตรียมมาตรการป้องกันผลกระทบ เรียบร้อยแล้วและกระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมให้เกษตรกรไทย เลี้ยงโคเนื้อพรีเมี่ยม เพื่อเข้าแข่งขัน กับการนำเข้าเนื้อ จากต่างประเทศ ไว้แล้ว มาตรการทั้งหมดนี้ ทุกฝ่ายที่ร่วมประชุมเห็นชอบร่วมกันที่จะทำให้เกษตรกรไทยมีอาชีพที่มั่นคงโดยจะไม่มีผลกระทบในราคาเนื้อบริโภคของคนไทยทั่วประเทศ” นพ.ระวี กล่าว


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ