ข่าว

นายกฯนั่งหัวโต๊ะติดตามแผนแก้แล้ง'63

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นายกฯนั่งหัวโต๊ะติดตามแผนแก้แล้ง'63

            6 ก.พ.63 - พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและรับทราบผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งของหน่วยงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้กล่าวรายงานถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมในปัจจุบัน

นายกฯนั่งหัวโต๊ะติดตามแผนแก้แล้ง'63

               พร้อมความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาสถานการณ์แล้ง โดยได้มอบหมายสั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ บูรณาการติดตาม สถานการณ์ อย่างใกล้ชิด และระดมเจ้าหน้าที่ พร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รวมถึงการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา การขาดแคลนน้ำในทุกพื้นที่ของประเทศ จะไม่มีการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งปีนี้ รวมถึงต้องมีการเตรียมการหาพื้นที่เก็บกักน้ำในฤดูฝนที่จะถึงเพื่อให้เพียงพอใช้ในฤดูแล้งปีถัดไป โดยให้ สทนช.รวบรวมและกลั่นกรองแผนงานโครงการเร่งด่วน ประเภทเก็บกักน้ำที่สามารถดำเนินการได้เสร็จทันรับน้ำในฤดูฝนปีนี้

นายกฯนั่งหัวโต๊ะติดตามแผนแก้แล้ง'63

 

              ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อสถานการณ์แล้งที่อาจส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชน จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน และร่วมบูรณาการลงพื้นที่ติดตามสำรวจให้ความช่วยเหลือทุกพื้นที่ประสบภัยให้ครอบคลุม ทั่วถึง และเกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด รวมถึงเร่งจัดหาน้ำ จูงน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนนี้ เพื่อใช้ในฤดูแล้งถัดไปด้วย

นายกฯนั่งหัวโต๊ะติดตามแผนแก้แล้ง'63

               ซึ่งการประชุมในวันนี้นอกจากนายกรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาน้ำแล้งปี2562/63หน่วยงานต่าง ๆ บูรณาการการทำงานร่วมกันภายในกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ20ปีแล้ว สทนช. ยังได้เสนอต่อที่ประชุมพิจารณาแผนงาน/โครงการที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี2563ซึ่ง สทนช. ได้ดำเนินการคัดกรองโครงการตามลำดับความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนที่มีความพร้อม และสามารถจะดำเนินการได้ภายในปีงบประมาณ2563ตามมติคณะรัฐมนตรี7ม.ค.ที่ผ่านมา

                ทั้งนี้ จากผลการรวบรวมเบื้องต้น พบว่ามีโครงการที่ตรงตามหลักเกณฑ์ จำนวนกว่า3,000โครงการ สามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้781ล้าน ลบ.ม. และในจำนวนนี้แบ่งเป็นโครงการเร่งด่วนในพื้นที่ประกาศภัยแล้ง18จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน511โครงการ เพิ่มน้ำต้นทุนได้129ล้าน ลบ.ม. ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการแล้ว

                  สำหรับโครงการเร่งด่วนที่ผ่านการคัดกรองเป็นโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากภัยแล้ง มุ่งเน้นการเก็บกักน้ำเพื่อเตรียมรับมือช่วงฤดูฝนที่จะมาถึง ส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ รายได้ และการจ้างแรงงานให้กับประชาชนในท้องถิ่นเป็นหลัก แบ่งประเภทโครงการออกเป็น4ประเภท ประกอบด้วย1)ขุดลอกและปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม ได้แก่ บึง กุด หนองน้ำธรรมชาติ อาคารแหล่งน้ำขนาดเล็กที่มีอยู่เดิม งานปรับปรุงอาคารและองค์ประกอบ หรือโครงการที่มีผลสัมฤทธิ์ในการเก็บกักน้ำ2)ขุดแหล่งเก็บน้ำใหม่ ได้แก่ การขุดสระน้ำหรือแหล่งเก็บน้ำในพื้นที่สาธารณะ หรือแก้มลิง ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันในส่วนรวม3)ฝายชะลอน้ำ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำหรือป่าเสื่อมโทรม และ4)ขุดบ่อบาดาล

     

          “ขณะนี้ สทนช. ได้ประสานงานผ่านกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ส่วนราชการระดับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำเสนอแผนงานโครงการที่เป็นความต้องการของชุมชนเสนอเข้ามาเพิ่มเติมภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนด ภายในวันที่11กุมภาพันธ์ นี้ เพื่อรวมรวบแผนงานโครงการทั้งหมดเสนอต่อ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงาน/โครงการ แล้วจึงเสนอสำนักงบประมาณพิจารณาในระเบียบที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้ขั้นตอนการดำเนินงานโครงการข้างต้นแล้วเสร็จภายใน30มิถุนายนนี้ตามเป้าหมาย” ดร.สมเกียรติ กล่าว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ