ข่าว

 เปิดศูนย์ปฏิบัติการแก้แล้งใต้ปีกฝนหลวง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิดศูนย์ปฏิบัติการแก้แล้งใต้ปีกฝนหลวง

           กว่า 120 ล้านไร่ พื้นที่การเกษตรนอกเขตพื้นที่ชลประทาน พันธกิจสำคัญที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงเป็นหน่วยงานสำคัญในการดูแลความเดือดร้อนเชิงพื้นที่เพื่อให้ศูนย์สามารถช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน 120 ล้านไร่ได้อย่างครอบคลุม เนื่องจากปัจจุบันฤดูแล้งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ

 เปิดศูนย์ปฏิบัติการแก้แล้งใต้ปีกฝนหลวง

    สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร

         “ในปี 2563 กรมฯเตรียมเปิดศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มอีก 2 แห่งคือที่จ.พิษณุโลกและจ.บุรีรัมย์ และอีก 1 แห่งที่จ.เพชรบุรี รวมเป็น 8 ศูนย์ ภายในปี 2566 รวมเป็น 8 ศูนย์จากที่มีอยู่ 5 ศูนย์ในปัจจุบัน โดยศูนย์ฯบุรีรัมย์จะช่วยดูแลพื้นที่อีสานใต้ ส่วนพิษณุโลกดูแลภาคเหนือตอนล่าง ขณะเดียวกันในเร็วๆนี้กรมฯจะทำการย้ายศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจากจังหวัดเชียงใหม่มาตั้งที่จังหวัดตาก เนื่องจากปัจจุบันการจราจรทางอากาศของเชียงใหม่หนาแน่น”

          สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เผยต่อว่าสำหรับศูนย์ฯที่จ.เพชรบุรีนั้นจะเน้นเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีฝนหลวงเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 ตามศาสตร์พระราชาฝนหลวง และเพื่อยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการดัดแปรสภาพอากาศระดับนานาชาติตามแผนแม่บทการดัดแปรสภาพอากาศ 20 ปี ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการโอนที่ดินจากกรมวิชาการเกษตรมาให้กับกรมฝนหลวงฯ การเตรียมออกแบบและการจัดหางบประมาณสำหรับก่อสร้าง

 เปิดศูนย์ปฏิบัติการแก้แล้งใต้ปีกฝนหลวง

         สำหรับภารกิจของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงนั้น ประกอบด้วย 1. กำกับ ดูแลและบริหารจัดการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ 2. ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ภาคการเกษตร ป่าไม้ และเขื่อนกักเก็บน้ำ รวมทั้งบรรเทา แก้ไขปัญหาภัยแล้งและภัยพิบัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 3. กำกับ ดูแล และพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ 4. กำกับ ดูแล และพัฒนางานวิจัยการปฏิบัติการฝนหลวงเชิงพื้นที่ให้เหมาะสมกับลักษณะสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของพื้นที่รับผิดชอบ 5.ประสานงานและดำเนินการเกี่ยวการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับพื้นที่และระดับภูมิภาคและ6. ปฏิบัติงานร่วมหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

       โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ มีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่จ.พิษณุโลกและตาก ดูแล 15 จังหวัดและลุ่มน้ำสาละวิน โขง กก ปิง วัง ยม น่าน ส่วนศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง มีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงอยู่ที่จ.นครสวรรค์ ลพบุรีและกาญจนบุรี พื้นที่เป้าหมาย 14 จังหวัดและดูแลลุ่มน้ำเจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก ท่าจีนและแม่กลอง

        ขณะศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงอยู่ที่จ.ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานีและอุดรธานี ดูแลพื้นที่ 20 จังหวัด และดูแลลุ่มน้ำโขง ชี และมูล ส่วนศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก มีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงอยู่ที่จ.ระยอง จันทบุรีและสระแก้ว ดูแลพื้นที่ 8 จังหวัดและดูแลลุ่มน้ำปราจีนบุรี บางปะกง โตนเลสาบ ชายฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย

       สุดท้ายศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ มีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงอยู่ที่จ.สุราษฎร์ธานี อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์และอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ดูแลพื้นที่ 20 จังหวัด และลุ่มน้ำเพชรบุรี ชายฝั่งทะเลตะวันตกของอ่าวไทย ฝั่งตะวันออกของภาคใต้ ลุ่มน้ำตาปี ทะเลสาบสงขลา ปัตตานี ชายฝั่งทะเลตะวันตกของภาคใต้

 

   

 

           อย่างไรก็ตามในอนาคตเมื่อกรมฯมีหน่วยปฎิบัติการฝนหลวงครบ 8 แห่ง จะเป็นการเชื่อมโยงการทำงานของเจ้าหน้าที่ของกรมฯกับประชาชนเชิงพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น อันจะเป็นผลให้การทำงานได้ผลสัมฤทธิ ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้มากที่สุด ตามพันธกิจที่ได้วางไว้ 

 เปิดศูนย์ปฏิบัติการแก้แล้งใต้ปีกฝนหลวง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ