ข่าว

แล้งหนัก...กรมชลฯหวังพายุร้อนช่วย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยา -ทุ่งบางระกำ สำรองน้ำไว้กินใช้อีก 3เดือน หวังพายุฤดูร้อนช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.ช่วยภัยแล้ง กรมชลฯยังเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง 24-26 ม.ค.นี้

 

23 มกราคม 2563 ทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยา -ทุ่งบางระกำ  สำรองน้ำไว้กินใช้อีก 3เดือน หวังพายุฤดูร้อนช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.ช่วยภัยแล้ง กรมชลฯยังเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง 24-26 ม.ค.นี้ 

 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่านายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯให้นโยบายระดมความช่วยเหลือเต็มความสามารถทุกหน่วยงานในการเข้าถึงแก้ไขบรรเทาปัญหาประชาชนประสบสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งสถานการณ์น้ำปีนี้มีน้อยกว่าปีที่แล้วกว่า 7 พันล้าน ลบ.ม.

 

โดยเราสามารถบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งนี้เข้าสู่เดือนที่ 3 มีการใช้น้ำทั่วประเทศไปแล้ว 43% ได้ใช้น้ำไปแล้ว 7 พันล้านลบ.ม.จากน้ำต้นทุนที่จัดสรรไว้ช่วงหน้าแล้งตั้งแต่ 1พ.ย.62-30 เม.ย.63 ในส่วน22จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำแล้ว51% จาก 4 เขื่อนหลัก(ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อย ป่าสัก) ซึ่งยืนยันว่าสำหรับน้ำดิบป้อนการประปานครหลวง มีเพียงพอแน่นอนให้กับประชาชน กรุงเทพฯและปริมณฑล กว่า10ล้านคน ที่เป็นความทุ่มเทและตั้งใจของกระทรวงเกษตรฯ

 

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน กรมชลประทาน กล่าวว่าการจัดสรรน้ำทั่วประเทศ เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะสิ้นสุดฤดูแล้ง 30 เม.ย. 63 และได้วางแผนสำรองน้ำไว้ อุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ จนถึงเดือนก.ค.63 เผื่อกรณีเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าปริมาณฝนปีนี้ มาช้าและตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 เปอร์เซ็นต์

 

ทั้งนี้ล่าสุด ปริมาณน้ำใช้การได้ทั่วประเทศ มีประมาณ 2.3หมื่นล้านลบ.ม. หรือ45% ได้ใช้มาจากเดือน พ.ย.62  ซึ่งยังไม่เกินแผน โดยดูภาพรวมทั้งประเทศ จะมีน้ำสำรอง ไว้ใช้จนถึงเดือนก.ค.อีก1.1หมื่นล้านลบ.ม. ขณะนี้ระบายไปแล้ว 7 พันล้านลบ.ม.

 

ส่วนสถานการณ์พายุ ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน นายสัญญา กล่าวว่าอาจมีพายุฤดูร้อน เข้ามาช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ได้ฝนมาช่วยคลี่คลาย สถานการณ์ภัยแล้ง ส่วนพายุจร ยังค่อนข้างไกล ทั้งนี้ตามปกติ จะมีพายุเข้ามาทุกปี ส่วนฝนตกล่าช้า ต่ำกว่าเกณฑ์ อาจกระทบพื้นที่นาปรังกว่า 1.71ล้านไร่ ที่เกษตรกร ทราบดีถึงสถานการณ์น้ำ ว่าจะต้องช่วยเหลือตัวเอง และปัญหาระหว่างรายทางมีการสูบ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด กองทัพภาค ลงพื้นที่ทุกจุด ขอความร่วมมืองดสูบน้ำ และพื้นที่เก็บเกี่ยวไปแล้ว อย่าปลูกต่อเนื่อง ซึ่งวิกฤติภัยแล้งปีนี้ยังเป็นอันดับ2 เทียบจากปริมาณฝนตกต่ำจากเกิดวิกฤติแล้งที่สุดของประเทศไทยปี22 ในรอบ60ปี

 

“เฝ้าระวังวันที่24-26 ม.ค.น้ำทะเลหนุนสูงอีกรอบ ที่ผ่านมาดึงน้ำแม่กลอง ไปแล้ว มาเสริมผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา 300ล้านลบ.ม. เหลืออีก 500ล้านลบ.ม. ซึ่ง รมว.เกษตรฯได้ให้นโยบายไปแล้วว่าสามารถดึงน้ำแม่กลอง มาเพิ่มได้อีกเพราะมีการ วิเคราะห์แล้วว่าถ้าดึงมาได้ไม่มีผลกระทบกับประชาชน เกษตรกร ลุ่มน้ำแม่กลอง”นายสัญญา กล่าว

 

นายสัญญา กล่าวว่าจะประชุมกับทุกหน่วยงานภายในเดือนก.พ.นี้ หารือในเรื่องแผนการปลูกข้าวนาปี เนื่องจากปริมาณฝนตกต่ำกว่า ค่าเฉลี่ย ในเดือนพ.ค.- มิ.ย. ประมาณ 5% ส่วนการเพาะปลูกข้าวนาปี ลุ่มเจ้าพระยา อาจเริ่มตามฤดูกาลเดือนระหว่างเดือน พ.ค. -มิ.ย.เช่นกัน ทั้งนี้พื้นที่22จังหวัดเจ้าพระยา ต้องสำรองน้ำไว้ใช้อีก3เดือน ให้ถึงเดือน กรกฎาคม 2563

 

 

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ