ข่าว

เกษตรฯชงครม. 8,900 ล้านกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกษตรฯชงครม. จัดสรรงบ 8,900 ล้าน บูรณาการ 7 กระทรวงดำเนิน 114 โครงการพัฒนาส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ตามยุทธศาสตร์ชาติ

 

 

21 มกราคม 2563 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯกล่าวว่า จะนำเสนอกรอบแนวทางการจัดทำแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากจากการประชุมคณะกรรมการการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เสนอที่ประชุมครม. วันนี้เพื่อพิจารณาเห็นชอบ

 

 

ทั้งนี้วงเงินงบประมาณรวม 8,900 ล้านบาท ขับเคลื่อนภารกิจ 114 โครงการ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบมี 8 หน่วยงานคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบหลัก กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข

 

กระทรวงการอุดมศึกษา กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานอื่นของรัฐ คือ สภาเกษตรกรแห่งชาติ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยงบบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีวงเงินเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2563 ถึง 5,900 ล้านบาท  

 

สำหรับแผนงานบูรณาการการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากมีเป้าหมายคือ ชุมชนและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ต่อปี ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกรรายย่อย สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน  ผู้ผลิตผู้ประกอบการชุมชน พื้นที่ดำเนินการครอบคลุม 7,255 ตำบลทั่วประเทศ

 

โดยแนวทางการทำงาน ให้ความสําคัญแก่การบริหารจัดการที่ดินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส ให้มีที่ดินทำกินอย่างถูกกฎหมาย ไม่มีการบุกรุกป่าเพิ่ม ผ่านกระบวนการของกลไกต่างๆ เช่น ส.ป.ก. โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน นิคมสหกรณ์ นิคมสร้างตนเอง อีกทั้งให้ความสําคัญกับการคัดเลือกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพการผลิตสินค้า ควบคู่กับการทำการตลาด สินค้าที่ผลิตต้องขายได้ 

 

 

สำหรับแผนบูรณาการปีงบประมาณพ.ศ. 2564 แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ต้นทางจะมุ่งเป้าการพัฒนาศักยภาพประชาชนตามกลุ่มเป้าหมาย สนับสนุนการเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต (ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 2.4 แสนราย) และส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ (ไม่น้อยกว่า 3 แสนราย) กลางทางจะมุ่งเป้าพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์และการให้บริการชุมชน พัฒนาผู้ประกอบการชุมชน/วิสาหกิจชุมชน/เกษตรกรรุ่นใหม่ (ตั้งเป้าไม่ต่ำจะกว่า 4,300 กลุ่ม)

 

ส่วนปลายทางพัฒนาระบบบริหารจัดการและกลไกตลาด สนับสนุนให้เข้าถึงตลาด รวมถึงขยายสู่ตลาดออนไลน์ด้วย (เป้ารายได้จากการจำหน่ายสินค้าชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ10) โครงการตัวอย่างได้แก่ โครงการบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส วงเงิน 1,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 1,100 ล้านบาท โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร วงเงิน 1,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 873 ล้านบาท โครงการ Smart Farmer วงเงิน 635 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 434 ล้านบาท


โครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตร วงเงิน 352 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 266 ล้านบาท โครงการพัฒนาสินค้าชุมชน วงเงิน 1,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 711 ล้านบาทเช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนซึ่งเกษตรกรฐานะยากจนในพื้นที่ 20 จังหวัด ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม วงเงิน 80 ล้านบาท เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณพ.ศ. 2564 เป็นครั้งแรก

 

โครงการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และธุรกิจชุมชน วงเงิน 503 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 423 ล้านบาท และโครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร วงเงิน 538 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 459 ล้านบาท เช่น การพัฒนาระบบเก็บข้อมูลการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดของสหกรณ์ ด้วยเทคโนโลยี Blockchain วงเงิน 73 ล้านบาท ซึ่งเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณพ.ศ.2564 เป็นครั้งแรกๆ กลุ่มเป้าหมาย คือ สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 30 แห่ง ในสินค้าเกษตร 4 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน


“กรอบแนวทางการทำงานบูรณาการดังกล่าว เป็นอีกกลไกสำคัญหนึ่งที่จะเข้าไปสร้างความเข้มแข็งแก่กลุ่มเกษตรกรและชาวบ้านในชุมชน อีกทั้งแก้ไขปัญหาการบริหารราชการจากแบบต่างคนต่างทำระหว่างกรมและกระทรวง นำไปสู่การใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและสามารถปฏิบัติภารกิจให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ได้” นายเฉลิมชัย กล่าว

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ