ข่าว

แก้น้ำประปากร่อยสำเร็จ เตือนน้ำทะเลหนุนสูงอีกสองรอบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แก้น้ำประปากร่อยสำเร็จ ผลักดันน้ำเหนือ น้ำตะวันตก 130-140ลบ.ม.ต่อวินาที  ปิดเปิดประตูคลองลัดโพธิ์ กระแทกน้ำทะเล เตือนหนุนสูงอีกสองรอบ 10-16และ23-28ม.ค.

 

 

9 มกราคม 2563 นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันที่ 2 ของการเพิ่มปริมาตรน้ำที่ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท 100 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)/วินาที  

 

 

โดยจะคงการระบายในอัตรานี้ถึงวันพรุ่งนี้ 10 ม.ค.จากนั้นจะทยอยปรับลดลงจนอยู่ที่ 90 ลบ.ม./วินาที ส่วนที่เขื่อนพระราม 6 ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งรับน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์นั้น ระบาย 11 ลบ.ม./วินาที ต่อเนื่องถึงพรุ่งนี้ แล้วจะทยอยปรับลดเช่นกัน


ทั้งนี้ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ คาดการณ์ว่าน้ำทะเลจะหนุนสูงสุดระหว่างวันที่ 12-13 ม.ค. ระหว่างนี้ได้เร่งสูบน้ำจากแม่น้ำลำคลองต่างๆมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้าย เพื่อเจือจางค่าความเค็มน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเดินเครื่องสูบน้ำ 12 เครื่องที่ประตูระบายน้ำ(ปตร.) พระยาบรรลือ สูบน้ำที่ผันมาจากแม่น้ำแม่กลองผ่านแม่น้ำท่าจีน ลงสู่คลองพระยาบรรลือ ระบายผ่านประตูระบายน้ำสิงหนาท 2 ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา 36 ลบ.ม./วินาที


ปตร.พระยาบรรลือ สูบน้ำ 12 เครื่อง จาก 14 เครื่อง เครื่องละ 3 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำ 36 ลบ.ม./วินาที เดินเครื่องผลักดันน้ำ 14 จุด รวม 72 เครื่อง โดยจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ไปยังสถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นสถานีสูบน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาเลี้ยงกรุงเทพฯ และปริมณฑล


นอกจากนี้ยังสั่งให้สำนักเครื่องจักรกลเปิดเส้นทางน้ำคลองพระพิมล ซึ่งเชื่อมจากแม่น้ำท่าจีนมายังคลองบางบัวทอง ก่อนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่ ปตร.สน.พระพิมล 5 เครื่อง มีแผนระบายน้ำ 15 ลบ.ม./วินาที แต่เนื่องจากน้ำในคลองไม่ยกตัว จึงสูบออกที่ ปตร.บางบัวทองได้บางช่วงเวลาเท่านั้น


ขณะเดียวกันยังได้ขอความร่วมมือจากการประปานครหลวงเพิ่มการสูบน้ำจากคลองประปาที่เชื่อมจากแม่น้ำท่าจีนมาลงคลองปลายบางบริเวณหน้าโรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี จาก 6 ลบ.ม./วินาทีเป็น 10 ลบ.ม./วินาที เพื่อให้น้ำจืดมาเจือจางค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยให้สามารถผลิตน้ำประปาได้ตามปกติ ประกอบกับเปิดบาน ปตร. คลองลัดโพธิ์ในช่วงเวลาน้ำลง ตั้งแต่เวลา 15.30- 21.30 น. รวม 6 ชั่วโมง


นายทองเปลว กล่าวต่อว่า การเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาทำให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาลดลง จากที่เมื่อ 8 มกราคม 2563 เวลา 6.00 น. อยู่ที่ +14.10 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) เช้านี้ (9 มกราคม 2563) อยู่ที่ +14.00 เมตร รทก. และคาดว่าวันนี้ (10 มกราคม 2563) จะอยู่ที่ +13.50 เมตร รทก. แต่จะไม่ลดต่ำไปกว่านี้แล้ว เนื่องจากจะทยอยปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา  

 

ขณะนี้ขอความร่วมมือให้โครงการชลประทาน 2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดการรับน้ำเข้าระบบชลประทานให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด โดยขณะนี้น้ำยังสามารถเข้าไหลเข้าคลองชลประทานทุกสายและไหลย้อนขึ้นสู่แม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี ได้


“ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง ปี 2462/2563 กรมชลประทานจะติดตามและแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง สำหรับลุ่มเจ้าพระยาจะเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนจะเกิดอีกครั้งปลายเดือนนี้ซึ่งเตรียมส่งเครื่องจักร-เครื่องมือควบคุมค่าความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ตลอดจนพร้อมแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง” นายทองเปลว กล่าว

 

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าการรับมือน้ำทะเลรุกเข้าระบบผลิตประปา ว่าในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงกว่า1.30เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เมื่อวันที่7-9ม.ค.ได้ประสานให้การประปานครหลวง หยุดสูบน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นบางช่วง พร้อมมีมาตรการสำคัญในรับมือคือการเพิ่มปริมาณน้ำเหนือจากเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนพระรามหก และจากภาคตะวันตก ผันน้ำมาจากลุ่มน้ำแม่กลอง รวมน้ำมาดันน้ำเค็มให้ได้ไม่ต่ำกว่า 130-140 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมทั้งมาตรการปิดประตูคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้หน่วงน้ำทะเลได้กว่า 5 ชม. โดยน้ำทะเลวนอยู่ในคลองยาว 16 กม.และเมื่อน้ำทะเลลงจะใช้การเปิดประตูยกบานขึ้นให้สูงสุดเพื่อกระชากน้ำทะเลออกไปใช้เวลาเพียง 10 นาที ในระยะทาง 600 เมตร 


น้ำทะเลหนุนสูงที่ผ่านมาน้ำประปากร่อยไม่กร่อย สามารถคุมค่าความเค็มได้ที่0.5กรัมต่อลิตร และระดับเฝ้าระวังที่0.25กรัมต่อลิตร ทั้งนี้ระดับน้ำทะเลหนุนสูงอีกในวันที่ 10-16 ม.ค. ระดับ1.30-1.40ม.รทก.และช่วงปลายเดือนนี้ 23-28ม.ค.หนุนสูงอีกรอบ

 

สำหรับการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก(ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อย ป่าสักฯ) ลุ่มเจ้าพระยา คงอัตรา 18 ล้านลบ.ม.ต่อวัน เพื่อกินใช้ รักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม โดยรักษาระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ที่ 14 เมตร รทก.จะสามารถผลักดันน้ำเข้าแม่น้ำสะแกกรัง ผ่านประตูประพาสต้น จากเดิมมีระดับน้ำสูงกว่าธรณีประตู13.1ม.รทก.ทำให้น้ำไม่เข้าแม่น้ำสะแกกรัง ได้เพิ่มน้ำขึ้นที่ระดับธรณีประตูประพาสต้น 14.15ม.รทก. สูงขึ้นอีก 1 เมตร ทำให้น้ำไหลได้ดีแก้ไขปัญหาเดือดร้อนชาวบ้านเรือนแพ ต้องเกยตื้นบริเวณช่วงแม่น้ำสะแกกรังผ่าน หน้าตัวเมืองอุทัยธานี ได้ระดับหนึ่ง ซึ่งได้เร่งดำเนินการตามมที่น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯได้สั่งการแล้ว

 

นายทวีศักดิ์ กล่าวถึงการใช้น้ำก้นเขื่อนอุบลรัตน์ ยืนยันว่าสามารถมีน้ำกินใช้ ส่งระบบผลิตประปา ได้ถึงสิ้นแล้งและจนถึงเดือนก.ค.ที่จะมีฝนมา เพราะชาวบ้านให้ความร่วมมืองดทำนาปรัง ต้องขอบคุณชาวบ้านด้วยที่เข้าใจสถานการณ์ ทั้งนี้ขอให้ทุกครัวเรือน ทั้งต่างจังหวัด ในเมืองหลวง หาที่ภาชนะเก็บน้ำสำรองไว้กินใช้ ด้วยเช่นโอ่งมังกร แทงค์น้ำ จะทำให้มีน้ำใช้ในครัวเรือนไปได้

 

อย่างไรก็ตามได้ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน เราจะผ่านภัยแล้งขณะนี้ความรุนแรงยังเป็นอันดับ 2 ของประเทศไปได้ด้วยกันเพราะปัจจุบันทั้งจำนวนประชากร ปริมาณการใช้น้ำมากขึ้น เทียบจากภัยแล้งที่เคยเกิดรุนแรงมากที่สุดในรอบ 60 ปี เมื่อปี 2522 เป็นวิกฤติอันดับ 1 แต่อย่างไรในขณะนั้นประชากรน้อยกว่าและใช้น้ำไม่มากเท่ากับปัจจุบัน และตอนนี้มีพื้นที่สีแดงเสี่ยงในเรื่องน้ำประปา มี 43 จังหวัด เขื่อนใหญ่14 แห่ง น้ำใช้การได้น้อยกว่าร้อยละ 30

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ