ข่าว

ส่องทิศทางประมงไทยในปี 63 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ส่งเสริมปลาเลี้ยงง่ายใช้"ตลาดนำการผลิต" "มีศักดิ์ ภักดีคง"ชูทิศทางประมงไทยปี 63 

               การบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืน ถือเป็น 1 ใน 8 แผนงานในการขับเคลื่อนนโยบายภาคเกษตรปี 2563 ตามที่รัฐมนตีรว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” แถลงไว้เมื่อวันที่ 3 มกราคม ที่ผ่านมา 

                 ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาไอยูยูที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งประเทศไทยได้รับการปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรป หรืออียู หลังมีการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายตามหลักสากล การกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดสรรใบอนุญาตทำการประมงเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีการทำประมงมากขึ้น การจัดตั้งกองทุนประมงแห่งชาติ การขึ้นทะเบียนเรือประมง ตลอดจนการส่งเสริมตลาดนำการผลิต เป็นต้น โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำนั่นเอง

ส่องทิศทางประมงไทยในปี 63 

     มีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง

 

               มีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง แถลงทิศทางประมงไทยในปี 2563 โดยระบุว่าสิ่งที่ตนได้รับมอบนโยบายจาก รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อมาดำเนินการมีอยู่ 7-8 เรื่องสำคัญเพื่อขับเคลื่อนให้กรมประมงตอบโจทย์ในการดูแลพี่น้องชาวประมงทั้งหมด ทั้งประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน ประมงน้ำจืด ตลอดจนแหล่งน้ำปิด แหล่งน้ำเปิดทั่วไป บางครั้งภาวะทางธรรมชาติก็มีผลกระทบกับประเทศไทยเช่นกัน อย่างภัยแล้ง น้ำท่วม แล้วก็มีการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายเร่งด่วนและลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรด้วย

                  “หลักสำคัญเราจะสนองงานสถาบันพระมหากษัตริย์ตามพระราชดำริในหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการทางภาคเหนือ เช่น โครงการเลี้ยงปลาสเตอร์เจี้ยนหรือปลาเทราต์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ตอนนี้เราสามารถขยายพันธุ์ได้กว่า 5,000 ตัว ที่พระองค์ท่านทรงพระราชดำริไว้แล้วเรามาสร้างต่อ”

                   อธิบดีกรมประมงเผยต่อว่า ส่วนอีกโครงการเป็นโครงการตชด.ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค โดยจะมีการขยายไปสู่ชุมชนใกล้เคียงได้เข้าถึงทรัพยากรปลาน้ำจืดมากขึ้น กรมประมงจะมุ่งเน้นสัตว์น้ำที่เป็นโครงการพระราชดำริ อย่างเช่นปลานวลจันทร์ทะเล ปลาบู่ ปลาพลวงชมพู ที่กรมประมงได้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันสามารถขยายพันธุ์ได้แล้วที่ จ.ยะลา เห็นได้ชัดคุณภาพของสัตว์น้ำ อย่างปลาบู่กิโลละพันกว่าบาท ปลาพลวงชมพูกิโลหนึ่งถึงสองพันบาท หรือปลานวลจรันทร์ทะเลก็มีราคาสูงเช่นกัน

                    “ปัจจุบันเราจะส่งเสริมปลาที่เลี้ยงง่ายเป็นหลัก เพราะจะไม่เป็นภาระแก่เกษตรกรแล้วก็พยายามหาสัตว์น้ำที่มีราคาสูง อย่างปลาบู่ ตลาดจีน ฮ่องกงต้องการมาก ส่วนปลาพลวงชมพูนักท่องเที่ยวมาเลย์ต้องการมากเช่นกัน”

ส่องทิศทางประมงไทยในปี 63 

                    มีศักดิ์ ระบุอีกว่า นอกจากนี้กรมประมงยังได้ส่งเสริมการผลิตปลาที่บริโภคด้วยเช่นกัน อาทิ ปลานิล ปลาช่อน ปลาดุก ปลาตะเพียน โดยปีนี้ทางกลุ่มน้ำจืดยืนยันว่าจะสามารถเพาะปลาบู่ให้ได้ 1 ล้านตัวเพื่อนำร่องให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงในพื้นที่ปิด  เนื่องจากถ้าเป็นปลากินเนื้อหากปล่อยลงแหล่งน้ำจะมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำในธรรมชาติ และเป็นสินค้าตัวใหม่ที่ตอบโจทย์รายได้ของเกษตรกร ส่วนปลานวลจันทร์ ซึ่งขณะนี้มีความต้องการของตลาดสูงมาก พร้อมกับได้มีการแปรรูปเพิ่มมูลค่าด้วย 

                “หลักการก็คือเราพยายามมองตลาดที่มีความต้องการแล้วส่งเสริมการเลี้ยงเพื่อตอบโจทย์ด้านรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น  ตอนนี้เราเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามได้ปีละกว่า 3 แสนตัน เราจะคงไว้ในปริมาณนี้แต่มุ่งไปที่มาตรฐานและคุณภาพของกุ้งให้เป็นพรีเมียม ปัจจุบันเราสามารถพัฒนาการเลี้ยงร่วมกับเอกชน ซึ่งกุ้งทุกบ่อได้รับจีเอ็มพีหมด”

                ส่วนการจัดการประมงอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานทางวิชาการ ซึ่งอธิบดีกรมประมงยอมรับว่าที่ผ่านมามีอุปสรรคในการขับเคลื่อนของภาคทะเลเป็นหลัก  โดยเฉพาะการเราก้าวข้ามไอยูยูซึ่งนับตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมาจนปัจจุบัน กรมประมงได้ออกมาตรการเพื่อให้ภาคการประมงทะเลมีการทำประมงที่ถูกต้องตามกฎหมายตามมาตรฐานสากล หลังจากเปิดกว้างให้ชาวประมงในการหาทรัพยากร ซึ่งบางครั้งบางเครื่องมือไม่มีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด 

               อย่างเช่น อวนลอย อวนจับ ช่องตาอวนต้องไม่ต่ำกว่า 2.5 เซนติเมตรเท่านั้นเพื่อจะได้ไม่ทำลายปลาตัวเล็กตัวน้อย ขณะที่บางเครื่องมือต้องห้ามเด็ดขาดอย่างเช่น อวนรุน อวนลาก และอวนล้อมปลากะตัก แต่หลังจากมีไอยูยูเข้ามาทำให้มีการปรับเปลี่ยนการทำประมงเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ความอยู่รอดของทรัพยากรทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการทำประมง ซึ่งปัจจุบันได้มีการแบ่งทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลตามค่าเอ็มเอสวาย บนพื้นฐานเครื่องมือที่เรามี อย่างฝั่งอ่าวไทย อวนลากใช้ได้ 220 วันต่อปี ขณะที่ฝั่งอันดามัน 240 วันต่อปี

                 ขณะที่การทำประมงที่ไม่มีมาตรฐานนั้น แต่เดิมกรมประมงใช้เจ้าหน้าที่ในการควบคุม แต่ขณะนี้ได้มีการพัฒนาระบบวีเอ็มเอสในการติดตามาเรือเพื่อควบคุมการทำประมงที่มีขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป แต่หากต่ำกว่า 30 ตันกรอสยังคงควบคุมโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งจากการที่ใช้ระบบติดตามเรือในช่วงที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าตัวเลขของการกระทำความผิดในทะเลของเรือประมงพาณิชย์เท่ากับศูนย์ในปัจจุบัน แต่ปัญหากลับเกิดกับพี่น้องที่ทำการประมงชายฝั่งเป็นหลัก 

                 “ตัวเลขปัจจุบัน มี 300 กว่าคดีเป็นประมงชายฝั่งเกือบทั้งหมด เพราะประมงชายฝั่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทราบการรับรู้ความเข้าใจ สองการควบคุมเครื่องมืออุปกรณ์การจับอาจจะมีช่องว่าง ซึ่งต่างระบบวีเอ็มเอสที่ควบคุมโดยตัวมันเอง ตอนนี้เรารู้จำนวนเรือชัดเจนว่ามีจำนวน 10,417 ลำที่เป็นเรือพาณิชย์ ส่วนเรือที่ขนาดต่ำกว่า 30 ตันกรอสมีประมาณ 5 พันกว่าลำ ท่านสามารถนั่งดูหน้าจอเลยว่าเรือแต่ละลำมีมีพฤติกาารณ์อย่างไร ได้สัตว์น้ำเท่าไร นั่นคือวิวัฒนาการที่กรมประมงพัฒนาไปสู่เป้าหมายและเกิดการยกระดับสู่สากล ปัจจุบันชาวประมงส่วนใหญ่ยอมรับแล้วว่าสิ่งที่เราควบคุมเขา เพราะต้องการให้ทรัพยากรสัตว์น้ำยั่งยืน มีการแบ่งปันภายใต้ค่าเอ็มเอสวายในทุกภาคส่วน”

                 สำหรับงานวิชาการนั้น มีศักดิ์ย้ำว่า กรมประมงได้เข้ามาสนับสนุนการเพาะเลี้ยงในทุกโครงการ ซึ่งปีนี้มีงานวิจัยกว่า 6 หมื่นโครงการจะนำมาต่อยอดการบริหารจัดการและการเพาะเลี้ยงให้กรมประมงขับเคลื่อนไปสู่เกษตรกรมากขึ้น ส่วนการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่เป็นผลมาจากเหตุอุทกภัย 19 จังหวัดภาคอีสานเมื่อปลายปีที่แล้ว กรมประมงได้มอบปลานิลแปลงเพศแก่เกษตรกรจำนวน 5 หมื่นรายเพื่อนำไปเลี้ยงสร้างรายได้ พร้อมกับฟื้นฟูแหล่งน้ำปิดทั้ง 19 จังหวัดที่ประสบอุทกภัยดังกล่าว

         

 

       “กรมประมงได้นำกุ้งก้ามกรามไปปล่อยในแหล่งน้ำชุมชน โดยให้กรรมการชุมชนดูแลกันเองและรับผลประโยชน์กันเอง ผมเชื่อว่าเป็นสัตว์น้ำที่สร้างมูลค่าแก่ชุมชนได้อย่างคุ่มค่า และสิ่งที่ตามมาก็คือความสุขของคนในชุมชน อย่างน้อยพอมีกิจกรรมร่วมและได้รับประโยชน์ร่วมกันสังคมก็จะมีความสุข โดยโครงการนี้สำนักงานประมงจังหวัด ประมงอำเภอที่อยู่ในพื้นที่เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบจำนวน 432 แหล่งใน 19 จังหวัดที่มีผลกระทบจากน้ำท่วมภาคอีสาน” อธิบดีกรมประมงกล่าวย้ำทิ้งท้าย

         นับเป็นอีกก้าวในการพัฒนาภาคประมงไทยเพื่อไปสู่ความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อความอยู่ดีกินดีของพี่น้องเกษตรกรไทยในทุกกลุ่มอาชีพ 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ