ข่าว

 จากกาแฟต้นแรกสู่พืชตัวใหม่"วานิลลา"ที่ศูนย์ฯ"ดอยมูเซอ"    

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 จากกาแฟต้นแรกสู่พืชตัวใหม่"วานิลลา" ดูงานวิจัยพืชเด่นที่ศูนย์ฯ"ดอยมูเซอ"    

            ตามบันทึกของพระสารศาสตร์พลขันธุ์ (นายเจริณี ชาวอิตาเลียน) ในปี 2454 ระบุว่า กาแฟพันธุ์อราบิก้าได้เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้มีการทดลองปลูกในฐานะพืชเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2393 โดยครั้งแรกได้นำไปปลูกที่ จ.จันทบุรี จึงมีชื่อเรียกว่า กาแฟจันทบูร ส่วนพันธุ์โรบัสต้าปลูกที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ก่อนแพร่กระจายสู่หลายจังหวัดทางภาคใต้ในปัจจุบัน 

 จากกาแฟต้นแรกสู่พืชตัวใหม่"วานิลลา"ที่ศูนย์ฯ"ดอยมูเซอ"    

               ต่อมาปี 2500 นายสมบูรณ์ ณ ถลาง อดีตผู้อำนวยการกองการยาง กรมกสิกรรม (กรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำเมล็ดกาแฟอราบิก้าจำนวน 4 สายพันธุ์ คือ ทิปิก้า (Typica), เบอร์บอน (Bourbon), แคททูรา (Caturra) และมุนดู นูวู (Mundo Novo) จากประเทศบราซิล มายังประเทศไทย โดยปลูกไว้ที่สถานีทดลองพืชสวนมูเซอ จ.ตาก เป็นแห่งแรก พร้อมกับสถานีทดลองพืชไร่แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ และสถานีทดลองพืชสวนฝาง จ.เชียงใหม่ ก่อนแพร่กระจายไปสู่เกษตรกรชาวไทยภูเขาและพื้นราบในปัจจุบัน

 จากกาแฟต้นแรกสู่พืชตัวใหม่"วานิลลา"ที่ศูนย์ฯ"ดอยมูเซอ"    

   ว่าที่ ร.ต.จตุรภัทร รัตนวิสาลนนท์(ซ้าย) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก(ดอยมูเซอ)ชมแปลงวนิลา

              “ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย (สกท.) นำสื่อในสังกัดตามหากาแฟอาราบิก้าต้นแรกที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก (ดอยมูเซอ) และเยี่ยมชมแปลงทดลองวิจัยพืชเศรษฐกิจอีกหลาหหลายชนิดที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่เกษตรกรเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นอะโวคาโด แมกคาเดเมียนัท หรือวานิลลา ที่ว่ากันว่าตอนนี้มีพื้นที่ปลูกใหญ่ที่สุดของหน่วยงานราชการ โดยการเดินทางครั้งนี้ได้พาหนะคู่ใจในการเดินทางอย่าง “ฟอร์ด เอเวอร์เรส” เอสยูวีพันธุ์แกร่งเพื่องานเกษตร 

           ระยะทาง 460 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ถึงสถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก (ดอยมูเซอ) สังกัดกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งอยู่ริมสายตาก-แม่สอด หลักกิโลเมตรที่ 27 หมู่บ้านมูเซอ ต.แม่ท้อ อ.เมือง จ.ตาก โดยศูนย์แห่งนี้ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2502 โดยหลวงสำรวจพร้อมคณะ เป็นผู้มาสำรวจเพื่อหาพื้นที่ทดลองปลูกกาแฟทางภาคเหนือ และเห็นว่าพื้นที่นี้เหมาะสมที่จะปลูกกาแฟ จึงได้เริ่มจัดตั้งเป็นสถานีกาแฟดอยมูเซอ เป็นครั้งแรก

 จากกาแฟต้นแรกสู่พืชตัวใหม่"วานิลลา"ที่ศูนย์ฯ"ดอยมูเซอ"    

กาแฟดอยมูเซอ

               ต่อมาได้นำชาขึ้นมาปลูกและมีการเปลี่ยนแปลงชื่อสถานีหลายครั้ง จากสถานีกาแฟดอยมูเซอ เป็นสถานีกสิกรรมดอยมูเซอ สถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตตาก และมาสิ้นสุดที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตากในปัจจุบัน

           “ศูนย์แห่งนี้มีพื้นที่รับผิดชอบ 2 แห่งคือ ที่นี่ ต.แม่ท้อ มีทั้งหมด 3,000 กว่าไร่ และอีกที่คือสถานีพืชสวนพบพระ พื้นที่ตรงนั้นอีกประมาณ 300 ไร่” 

             ว่าที่ ร.ต.จตุรภัทร รัตนวิสาลนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก(ดอยมูเซอ) เผย พร้อมแจงรายละเอียดการใช้พื้นที่ โดยพื้นที่ 3,000 ไร่ใน ต.แม่ท้อ นั้น จำแนกเนื้อที่ออกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้ บริเวณอาคารและที่อยู่อาศัยประมาณ 70 ไร่ แปลงทดลองปลูกพืชผัก ไม้ผล ไม้ดอก พืชสมุนไพร ประมาณ 1,000 ไร่ และบริเวณที่ใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นประมาณ 1,900 ไร่เศษ  โดยพื้นที่มีสภาพเป็นเขาลูกเนินสลับกับแอ่งเขา มีส่วนลาดเทมากกว่า 15% ระดับความสูงของพื้นที่เฉลี่ยปานกลาง ระหว่าง 850-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล

 จากกาแฟต้นแรกสู่พืชตัวใหม่"วานิลลา"ที่ศูนย์ฯ"ดอยมูเซอ"    

ดอกวนิลลา

            สำหรับงานวิจัยเด่นของศูนย์ในปัจจุบันได้แก่ วิจัยการผลิตกาแฟอาราบิก้าให้ได้คุณภาพ การผลิตพืชผักปลอดภัยจากสารพิษ การปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้สกุลซิมบิเดียม เอื้องพร้าว และหน้าวัว ในเชิงธุรกิจ การพัฒนาพันธุ์มะคาเดเมียนัท อะโวคาโด พลับ ชาโยเต้ และผักเมืองหนาว และการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร นอกจากนี้ยังมีพืชวานิลลาที่ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกใหญ่ที่สุดของหน่วยงานราชการทั้งหมด และขณะนี้กำลังให้ดอก ซึ่งคาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 

           “โดยภาพรวมของที่นี่คืองานวิจัยด้านพืช การปรับปรุงพันธุ์ การแก้ปัญหาพืชพื้นถิ่นและพืชเชิงเดี่ยว  ที่นี่พืชที่เป็นไฮไลท์เลยคือกาแฟ เนื่องจากที่นี่เป็นแหล่งกำเนิดกาแฟต้นแรกของประเทศไทย และความสูงของพื้นที่ ที่นี่สูง 846 เมตร เหมาะปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า นอกจากนี้ยังมีอะโวคาโด ซึ่งที่นี่มีการทดลองวิจัยอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์แฮทและปีเตอร์สัน ซึ่งให้ผลผลิตดีมากๆ” 

          ไม่เพียงกาแฟและอะโวคาโดที่สร้างชื่อให้แก่ศูนย์วิจัยแห่งนี้ แต่พืชตัวใหม่อย่าง “วานิลลา” ซึ่ง ว่าที่ร.ต.จตุรภัทร บอกว่า เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่กำลังมาแรงในขณะนี้ที่ทางศูนย์เร่งขยายพันธุ์เพื่อนำไปให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูก  เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูงมากและจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ในอนาคตด้วย

 จากกาแฟต้นแรกสู่พืชตัวใหม่"วานิลลา"ที่ศูนย์ฯ"ดอยมูเซอ"    

              “เรานำเข้าวานิลลาจากต่างประเทศปีหนึ่งเป็นมูลค่าหลายร้อยล้าน แต่วานิลลาที่เราทำการทดสอบอยู่นี่จะให้ผลผลิตตอบแทนที่พอเหมาะสม เกษตรกรมีรายได้เลี้ยงตัวและจะสามารถทดแทนการนำเข้าได้ในอนาคต” ผอ.ศูนย์วิจัยดอยยมูเซอผยระหว่างนำชมแปลงปลูกพืชวานิลลา พร้อมย้ำว่าหน้าที่หลักของศูนย์ไม่ได้มีแค่กิจกรรมภายในศูนย์อย่างเดียว แต่จะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามผลงานของเกษตรกรที่ได้รับต้นพันธุ์ไปปลูกและแก้ปัญหาเรื่องโรคและแมลงให้แก่เกษตรกรด้วย

             “กิจกรรมภายในศูนย์จะเป็นการทดสอบงานวิจัยอย่างเช่นกาแฟ ทดสอบว่าพันธุ์ไหนดีที่สุด เหมาะกับพื้นที่ปลูกที่สุด ระยะปลูกหรือว่าการจัดการดูแล ตั้งแต่ตัดแต่งทรงพุ่ม ดูแลให้น้ำให้ปุ๋ยตลอดจนการเก็บเกี่ยว ส่วนอะโวคาโดเป็นการตัดแต่งเหมือนกัน แต่เน้นการเปลี่ยนยอดพันธุ์ ซึ่งเราพยายามทำให้ชาวบ้านที่นำต้นพันธุ์ไปจากที่นี่สามารถเปลี่ยนยอดได้เอง เพราะสามารถลดต้นทุนได้ถึง 80-90% จากการซื้อต้นพันธุ์ต้นละ 200-300 บาท ถ้าเขาเพียงซื้อต้นตอ ตอละ 20-30 บาทแล้วไปเสียบยอดเองต้นทุนก็จะถูกลงมาก”

 จากกาแฟต้นแรกสู่พืชตัวใหม่"วานิลลา"ที่ศูนย์ฯ"ดอยมูเซอ"    

แปลงวนิลลา

    

 

         นี่เป็นส่วนหนึ่งของงานทดลองวิจัยพืชสวนที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก(ดอยมูเซอ) ได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ และยังมีงานวิจัยอีกมากมาย มีพืชมืองหนาวที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกหลากหลายที่รอรับผู้มาเยือน และระหว่างวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์นี้ สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย(สกท.)จัดทริปพิเศษแก่ผู้สนใจในโครงการ “ท่องโลกเกษตรดอยมูเซอ” สอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่สมาคมฯโทร.02-9405425-6,08-6340-1713 ในวันและเวลาราชการ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ