ข่าว

กรมชลฯปวดหัวหนักชาวนาลุ่มเจ้าพระยาไม่หยุดปลูกนาปรัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เฉลิมชัย ติดตามฝายคลองท่ากระจายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สุราษฎร์ แก้ภัยแล้ง ด้านกรมชลฯปวดหัวหนัก ชาวนาลุ่มเจ้าพระยา ไม่หยุดปลูกข้าวนาปรัง

         

24 ธันวาคม 2562 เฉลิมชัย ติดตามฝายคลองท่ากระจายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สุราษฎร์ แก้ภัยแล้ง ด้านกรมชลฯปวดหัวหนัก ชาวนาลุ่มเจ้าพระยา ไม่หยุดปลูกข้าวนาปรัง ยังขยายพื้นที่ปลูกอีกกว่า 2.7 แสนไร่ เร่งลงทำความเข้าใจน้ำต้นทุนน้อยมาก  

 

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ตรวจเยี่ยมโครงการฝายคลองท่ากระจายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.คลองพา อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี โดยการก่อสร้างโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ในการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค สนับสนุนระบบประปาหมู่บ้าน ม.1 ต.คลองพา ม.2 ต.สมอทอง อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ประมาณ 581 ครัวเรือน และจัดหาแหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตร พื้นที่ประมาณ 700 ไร่

 


สำหรับลักษณะโครงการเป็นการก่อสร้างฝายชนิดกล่องหิน (Gabion Mattress) สูง 3.00 เมตร ยาวประมาณ 45.00 เมตร สามารถระบายน้ำหลากได้มากกว่า 569.68 ลบ.ม./วินาที ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคบรรเทาอุทกภัยแล้ว ยังสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 100,000 ลบ.ม.(ที่ระดับเก็บกัก) ได้อีกด้วย
         


นอกจากนี้ ได้รับฟังการบรรยายสรุปของโครงการประตูระบายน้ำคลองท่ากระจาย ต.ท่าชนะ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มในคลองท่าชนะและคลองท่ากระจายในช่วงฤดูแล้ง พื้นที่ ต.สมอทอง ต.คลองพา ต.ท่าชนะ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี และเก็บกักน้ำจืดสำหรับการอุปโภค-บริโภค ราษฎรประมาณ 1,500 ครัวเรือน และเพื่อทำการเกษตร พื้นที่ประมาณ 11,600 ไร่ ซึ่งกรมชลประทานจะเร่งดำเนินการศึกษาแผนของโครงการ และของบประมาณในการดำเนินการให้เร็วที่สุดต่อไป
         

 

 

กรมชลฯปวดหัวหนักชาวนาลุ่มเจ้าพระยาไม่หยุดปลูกนาปรัง

 


"ขอยืนยันว่ารัฐบาลเข้าไปดูแลและแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนทุก ๆ คน และทุกพื้นที่ ซึ่งปัญหาเรื่องน้ำและราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ถือเป็นปัญหาที่พี่น้องเกษตรกรประสบปัญหากันเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเข้ามาเป็นรัฐบาลนั้น พร้อมจะเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้มีความยั่งยืน ต้องการให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้และมีราคาพืชผลทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงถาวรด้วย" นายเฉลิมชัย กล่าว 

 

 

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(23 ธ.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 47,694 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุเก็บกักรวมกัน

 

โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 23,846 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,264 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 4,568 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน

 

 

กรมชลฯปวดหัวหนักชาวนาลุ่มเจ้าพระยาไม่หยุดปลูกนาปรัง

 


สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 (ระหว่าง 1 พ.ย. 62 – 30 เม.ย. 63) เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทาน มีปริมาณน้ำจัดสรรจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 17,620 ล้าน ลบ.ม.(น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 7,000 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำจัดสรรรวมทั้งสิ้น 4,000 ล้าน ลบ.ม.(น้อยกว่าปีที่แล้ว 3,700 ล้าน ลบ.ม.)

 

ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน (23 ธ.ค. 62) มีการระบายน้ำตามแผนฯ ไปแล้วจำนวน 4,651 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการระบายน้ำตามแผนฯไปแล้วจำนวน 1,344 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 34 ของแผนจัดสรรน้ำฯ


สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562 ได้วางแผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 2.83 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่ ปัจจุบัน(ข้อมูล ณ วันที่ 18 ธ.ค. 62) ได้ทำการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 1.92 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 67 ของแผนฯ แยกเป็นข้าวนาปรัง 1.83 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 79 ของแผนฯ และพืชไร่-พืชผัก 0.10 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 18 ของแผนฯ

 

 

กรมชลฯปวดหัวหนักชาวนาลุ่มเจ้าพระยาไม่หยุดปลูกนาปรัง

 

 

เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด ไม่มีแผนการเพาะปลูกพืชเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนด้านการเกษตร แต่จากการสำรวจพบว่าบางพื้นที่ได้ทำการเพาะปลูกพืชนอกแผนฯ รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 1.39 ล้านไร่(เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.27 ล้านไร่) ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองในการเพาะปลูก


กรมชลประทาน ได้ให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา และคลองสายหลักต่างๆ ตั้งแต่คลองชัยนาท-ป่าสัก คลองระพีพัฒน์ ตั้งแต่ประตูระบายน้ำช่องแค ตำบลพรหมนิมิต อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ประตูระบายน้ำพระศรีเสาวภา อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี

 

ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลมาสนับสนุนการวางแผนบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค ในเขตพื้นที่ลุ่มร้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ได้อย่างเพียงพอ ตลอดจนสามารถสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้าได้อย่างไม่ขาดแคลน

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ