ข่าว

ไตรภาคียาง ITRC เห็นพ้องลดผลิต ร่วมเฝ้าระวังโรคใบร่วง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เวทีสภาไตรภาคียาง ITRC เห็นพ้อง ลดการผลิต เพิ่มการใช้ในประเทศ ย้ำ ร่วมกันเฝ้าระวังโรคใบร่วง


16 ธันวาคม 2562 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประชุมสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (International Tripartite Rubber Council : ITRC) ครั้งที่ 33 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย  

 

 

โดยกล่าวว่า การประชุมดังกล่าว มีประเทศสมาชิก (Thailand, Indonesia, Malaysia: TIM) ITRC ทั้ง 3 ประเทศเข้าร่วมประชุม  โดยมี Mr. Antonius Yudi Triantoro, the Director for APEC and International Organization Negotiation, Ministry of Trade เป็นประธาน ซึ่งฝ่ายไทย มีนายวราวุธ ชูธรรมธัช รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าคณะ ร่วมด้วยผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร และ สศก. เข้าร่วม

 

ในการนี้ ประเทศสมาชิกสภาไตรภาคีฯ ทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ได้บรรลุเป้าหมาย ในประเด็นการลดปริมาณผลผลิตยางพาราซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์ยางพาราในระยะ 20 ปีของไทย รวมทั้งประเทศสมาชิกสามารถบรรลุเป้าหมายของมาตรการการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในแต่ละประเทศ โดยแต่ละประเทศมีสัดส่วนการใช้ยางต่อปริมาณผลผลิตในประเทศ

 

 

ไตรภาคียาง ITRC เห็นพ้องลดผลิต ร่วมเฝ้าระวังโรคใบร่วง

 

 

ทั้งนี้ดังนี้คือ ประเทศมาเลเซีย มีสัดส่วนร้อยละ 78.36 (ข้อมูลระหว่าง ม.ค.- ก.ย. 62) ประเทศอินโดนีเซีย มีสัดส่วนร้อยละ 19.37 (ข้อมูลระหว่าง ม.ค. - พ.ย. 62) และประเทศไทย มีสัดส่วนร้อยละ 18.93 (ข้อมูลระหว่าง ม.ค.-ต.ค. 62) อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงอัตราการขยายตัวของการใช้ยางในประเทศ ประเทศไทยมีการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 18.53 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเป็นผลมาจากมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐได้ดำเนินการ เช่น การทำถนนที่มียางพาราเป็นส่วนผสมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นต้น 

 

 

ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซียมีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.55 และประเทศมาเลเซียมีอัตราการใช้ลดลงร้อยละ 2.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยทั้ง 3 ประเทศ เห็นด้วยกับมาตรการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ รวมถึงมาตรการส่งเสริม/สนับสนุนแหล่งเงินทุนอย่างต่อเนื่องแก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการ เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมยางพารา

 

 

ไตรภาคียาง ITRC เห็นพ้องลดผลิต ร่วมเฝ้าระวังโรคใบร่วง

 

 

โอกาสนี้ ผู้แทน สศก. ได้เสนอประเด็นเกี่ยวกับการระบาดของโรคใบร่วงยาง (Pestalotiopsis disease) เพื่อขอความเห็นให้ประเทศสมาชิกร่วมมือหาแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้ผลผลิตของประเทศสมาชิกที่เป็นแหล่งผลิตหลักของโลก โดยอินโดนีเซียได้รับผลกระทบมากที่สุด จำนวน 2.38 ล้านไร่ ไทยได้รับผลกระทบกว่า 300,000 ไร่ และมาเลเซียกว่า 30,000 ไร่

 

คาดว่าผลกระทบจากโรคดังกล่าวในกรณีรุนแรงที่สุดทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 70 – 90 และในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบปานกลางทำให้ผลผลิตลดลงประมาณร้อยละ 30 – 50   โดยในปี 2562 ประเทศสมาชิก ITRC ได้คาดการณ์ผลผลิตยางพาราลดลงถึง 800,000 ตัน จากการระบาดของโรคใบยางร่วงดังกล่าว รวมถึง ปัจจัยสภาพอากาศ เศรษฐกิจโลก และมาตรการทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐเอมริกา ซึ่งคาดว่าจะมีผลต่อราคายางในตลาดโลก

 

 

ไตรภาคียาง ITRC เห็นพ้องลดผลิต ร่วมเฝ้าระวังโรคใบร่วง

 

 

เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า มติที่ประชุม ITRC จึงได้มอบหมายให้ บริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (International Rubber Consortium, Ltd: IRCo) ในฐานะฝ่ายเลขาของ ITRC เผยแพร่ข่าวให้ทั่วโลกรับรู้ถึงผลกระทบ ซึ่งส่งผลต่อการลดลงของผลผลิตยางพารา และคาดว่าจะมีผลต่อราคายางในตลาดโลก นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความสำคัญในประเด็นความยั่งยืนของอุตสาหกรรมยางพารา เพื่อจะได้ดำเนินมาตรการให้เกิดความยั่งยืนในระยะต่อไป

 

ทั้งนี้ ในส่วนของการเฝ้าระวังการระบาดของโรคใบร่วงยาง ทั้ง 3 ประเทศ ได้มีมาตรการในการเฝ้าระวัง ควบคุม กำจัดอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศมาเลเซียจัดทีมเฉพาะกิจ (task force team) เข้าควบคุม ฉีดพ่นสารควบคุมในพื้นที่ของเกษตรกรที่ได้รับการระบาดของโรค ในขณะที่ประเทศไทย กระทรวงเกษตรฯ โดยสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย และกรมวิชาการเกษตร ได้เผยแพร่ข้อมูล ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการระบาด ย้ำเตือนอาการของโรคที่มีลักษณะ 1) ใต้ใบมีรอยช้ำค่อนข้างกลม ผิวใบด้านบนบริเวณเดียวกันสีเหลืองกลม  

 

 

ไตรภาคียาง ITRC เห็นพ้องลดผลิต ร่วมเฝ้าระวังโรคใบร่วง

 

 

2) เนื้อเยื่อสีเหลืองใหญ่ขึ้นเป็นขอบแผลดำเปลี่ยนเป็นเนื้อเยื่อแห้งสีน้ำตาลจนถึงขาวซีด 3) จำนวนจุดแผลบนใบมีมากกว่า 1 แผล อาจลุกลามซ้อนกันจนเป็นแผลขนาดใหญ่ และ 4) ใบเหลืองและร่วงในที่สุด รวมทั้ง ได้ประชาสัมพันธ์แนวทางในการป้องกัน โดยให้ใส่ปุ๋ยบำรุงสม่ำเสมอ หากพบอาการของโรคดังกล่าวให้รีบใช้สารป้องกันฉีดพ่นพุ่มใบให้ทั่วแปลง

 

โดยเครื่องฉีดพ่นสารเคมีแรงดันสูงอย่างน้อย 2 ครั้ง ฉีดพ่นซ้ำ 7-15 วัน โดย สศก. จะร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสถานการณ์และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อเตือนภัยอย่างเต็มที่ ซึ่งหากเกษตรกรพบข้อสงสัยว่าจะมีการระบาดของโรคในพื้นที่ หรือต้องการสอบถามข้อมูลรายละเอียดการระบาดและคำแนะนำสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทยใกล้บ้าน

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ