ข่าว

เปิดแผนธุรกิจ"เมืองสุขสยาม"ปี2563

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดแผนธุรกิจ"เมืองสุขสยาม"ปี2563 สร้าง"อะคาเดมี"สานฝันผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่ต่างแดน     

           “สุขสยามไม่ได้เป็นห้าง แต่เป็นเมืองที่สร้างความสุข เป็นแพลตฟอร์มใหม่ในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน” 

เปิดแผนธุรกิจ"เมืองสุขสยาม"ปี2563

  ลักขณา นะวิโรจน์(กลาง)

        บางช่วงบางตอนที่“ลักขณา นะวิโรจน์”ประธานโครงการเมืองสุขสยาม กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวในโอกาสครบรอบ 1 ปีโครงการ“เมืองสุขสยาม”หนึ่งในโซนแห่งความภาคภูมิใจ ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นหนึ่งในแม่เหล็กสำคัญของไอคอนสยาม ภายใต้แนวคิดให้การสนับสนุนและส่งเสริมผู้ผลิตสินค้าชุมชนในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้มีความรู้ทางด้านการขายและการทำการตลาด รวมทั้งการประกอบธุรกิจรูปแบบใหม่ ให้เข้าถึงความต้องการของลูกค้าชาวต่างชาติ สนับสนุนให้สินค้าเหล่านั้นสามารถเจาะตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ ต่อยอดไปสู่การทำ e-Commerce ได้ในอนาคต รองรับการเข้าสู่ความเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นการช่วยสืบสานมรดกทางภูมิปัญญา รักษางานศิลปะและงานฝีมือดั้งเดิมของไทยให้คงอยู่แบบยั่งยืน

    เปิดแผนธุรกิจ"เมืองสุขสยาม"ปี2563

    การประกาศความสำเร็จโอกาสครบรอบ 1 ปี“เมืองสุขสยาม” หนึ่งในแม่เหล็กหลักของไอคอนสยาม ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญของการสร้างเมืองในห้างสรรพสินค้า เพื่อโชว์ความมหัศจรรย์วิถีไทยอวดสายตาชาวโลก  หลังนักท่องเที่ยวไทย-เทศเทใจให้ เกิดกระแส กิน ช้อป จบ ครบ โดนใจ “สัมผัสเสน่ห์วิถีไทย ให้สุขใจ ต้องไปสุขสยาม” สร้างสีสันความคึกคักตลอดทั้งปีด้วยนักท่องเที่ยวหมุนเวียนมาเยือนกว่า 60,000 คนต่อวัน ยอดเงินสะพัดรวมกว่า 1,000 ล้านบาท

เปิดแผนธุรกิจ"เมืองสุขสยาม"ปี2563

      จากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้มีการเตรียมต่อยอดไอเดีย “เมืองสุขสยามอะคาเดมี”ในปีที่2 โดยผนึกสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)ร่วมคัดเลือกพัฒนา 10 ร้านค้าเด่นทั่วไทยเป็นโลคอบ ฮีโร่(Local Heroes)เพื่อเสริมความแกร่งด้านการตลาด ก่อนส่งต่อไปสู่การค้าระดับโลก ภายใต้โครงการ"จากโลคอลไปโกลบอล”

      บนพื้นที่ประมาณ 15,000 ตารางเมตร คัดสรร ของกิน ของใช้ ของแท้ ต้นตำรับไทยมาไว้ในที่เดียวกัน ภายใต้บรรยากาศแห่งความสุขและการสร้างสรรค์ที่เรียกว่า“เมืองสุขสบาย” หนึ่งในแลนด์มาร์ค“ไอคอนสยาม” แลนด์มาร์คทำเลทองของไอคอนสยาม ศูนย์การค้าอันดับหนึ่งของประเทศไทยที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการร้านค้าชุมชนเปิดให้บริการทุกวันกว่า 300 ร้านค้าจากทั่วทุกจังหวัดทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งร้านค้าที่หมุนเวียนเข้ามาสร้างความสุขกว่า 1,000 ร้าน 

เปิดแผนธุรกิจ"เมืองสุขสยาม"ปี2563

        โดยในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจ เกิดกระแส “สัมผัสเสน่ห์วิถีไทย ให้สุขใจ ต้องไปเมืองสุขสยาม” ขึ้นแท่นสุดยอดแหล่งกินแหล่งช้อปของไทยครบครัน ที่ต้องห้ามพลาด ขานรับนโยบายรัฐบาลสู่การกระจายรายได้สู่ชุมชน สืบสานภูมิปัญญาวิถีไทยอย่างยั่งยืน 

       “จากการส่งเสริมด้านการตลาด และสร้างองค์ความรู้อย่างรอบด้านให้กับผู้ประกอบการจากชุมชนต่างๆ ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลต่อความสำเร็จในการทำธุรกิจในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่มาค้าขายในเมืองสุขสยามต่างมีรายได้ที่ดีขึ้น ส่งผลต่อจำนวนเงินทุนที่ใช้ทำธุรกิจและพัฒนาสินค้าต่อไป ขณะที่ลูกหลานของผู้ประกอบการสินค้าชุมชนก็ได้เห็นช่องทางและยินดีที่จะมาต่อยอด เพื่อสืบสานกิจการค้าขาย หรือ งานฝีมือของครอบครัวให้มีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน เพราะได้เห็นโอกาสและความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริง นับเป็นการสืบสานรักษาภูมิปัญญา ศิลปะและงานฝีมือดั้งเดิมของไทย โดยมีความพร้อมที่จะนำสินค้าก้าวสู่เวทีโลกต่อไป”ลักขณาเผย

เปิดแผนธุรกิจ"เมืองสุขสยาม"ปี2563

        “เมืองสุขสยาม” คือพื้นที่นำเสนอมหัศจรรย์วิถีไทย มรดกทางวัฒนธรรมจาก 4 ภูมิภาคหลักของประเทศ ได้แก่ อาหาร งานศิลปะ หัตถกรรมงานฝีมือ เวชศาสตร์ การแสดงการละเล่นพื้นบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการผนึกกำลังระหว่างพันธมิตรทางธุรกิจ ศิลปิน วิสาหกิจท้องถิ่น ชุมชนวิถีไทย และผู้ประกอบการรายย่อยระดับท้องถิ่นทั้ง 77 จังหวัด โดย “เมืองสุขสยาม” จะทำหน้าที่เสมือน “เวที” ในการนำเสนอสุดยอดผลิตภัณฑ์จากทั้ง 4 ภูมิภาค แบ่งพื้นที่เป็น 4 โซนหลัก คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคอีสาน 

         ปัจจุบันผู้ประกอบการท้องถิ่นใน “เมืองสุขสยาม” มีร้านค้าประจำ มากกว่า 300 ร้าน และร้านค้าที่หมุนเวียนเข้ามาเปิดให้บริการในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จำนวนมากกว่า 1,000 ร้าน แบ่งเป็นร้านอาหาร 600 ร้านค้า และร้านค้าที่ไม่ใช่อาหาร 400 ร้านค้า เมื่อรวมจำนวนร้านค้าต่างๆ ที่เข้ามาเปิดพื้นที่จำหน่ายและร่วมงานอีเว้นท์ต่างๆ ใน “เมืองสุขสยาม” ตลอดช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา มีจำนวนกว่า 2,500 ร้านค้า

     ประธานโครงการเมืองสุขสยามเผยต่อว่าปัจจุบัน“เมืองสุขสยาม”ได้เปิดพื้นที่แห่งความสุขต้อนรับนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 50,000-60,000 คนต่อวัน โดยภาพรวมที่ผ่านมาเติบโตขึ้น มีทั้ง G.I.T (Group Individual Travelers) ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มาเป็นกลุ่ม รวมไปถึงกรุ๊ปทัวร์ต่าง ๆ และ เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางเป็นกลุ่มด้วยตัวเอง หรือเรียกสั้นๆ ว่า FIT (Free and Independent Traveler) หรือ การท่องเที่ยวแบบอิสระ(Foreign Individual Tourism) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงอย่างต่อเนื่อง จะคิดเป็น 30% จากยอดรวมทั้งหมด

เปิดแผนธุรกิจ"เมืองสุขสยาม"ปี2563

       "ช่วง 1 ปีที่เปิดให้บริการ ชาวต่างชาติที่มาเที่ยวสุขสยามมากที่สุดจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน รองลงมาชาวไต้หวัน และนักท่องเที่ยวจากอาเซียน รวมถึงจากรัสเซีย อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรป และตะวันออกกลาง และนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอาเซียนเริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะชาวเวียดนาม"

      ลักขณาระบุว่าความโดดเด่นของ “เมืองสุขสยาม” คือ การเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นเข้ามานำเสนอสินค้าได้ตลอด 365 วัน อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ การผสมผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัย เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้แก่เกษตรกรและชาวบ้าน รวมถึงการสนับสนุนในการเรียนรู้กลไกการค้าปลีก และค้าส่งสู่ต่างประเทศ และการตลาดในรูปแบบใหม่อย่างครบวงจร ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจในกลไกของระบบนิเวศน์ทางการค้าที่มีการบริหารจัดการสินค้าอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์นโยบาย ‘ประเทศไทย 4.0’ (Thailand 4.0) ของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น

เปิดแผนธุรกิจ"เมืองสุขสยาม"ปี2563

       นอกจากนี้ยังตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าชีวิตคนเมือง ที่ต้องการความสะดวกสบาย โดยการคัดสรรสินค้าที่มีคุณค่าจากท้องถิ่นมาไว้ในที่เดียวกัน นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะได้พบกับของกินของใช้ที่มาจากความพิถีพิถัน สะท้อนความงดงามของศิลปะและภูมิปัญญาดั้งเดิม ภายใต้บรรยากาศแห่งความสุข ได้สัมผัสกับเสน่ห์แห่งวิถีไทยแบบ “ครบจบในที่เดียว” อันประกอบด้วยพื้นฐานความเป็นไทยครบใน 7 สุข ประกอบด้วย“สุขแซ่บ” นำเสนอความหลากหลายของอาหารเลิศรสในแบบฉบับที่ไม่เหมือนใคร 

       “สุขเสน่ห์” นำเสนอเสน่ห์ของคนไทยที่ยากจะลอกเลียน รวมไปถึงความสวยงามของของสถาปัตยกรรมต่างๆ “สุขสร้างสรรค์” การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ของความเป็นไทยให้เกิดขึ้น “สุขสืบสาน” การสืบสานและสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของคนไทยภาคต่างๆ “สุขสัมพันธ์” การสร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนเรื่องราวทางวัฒนธรรมระหว่างชุมชน และ ”สุขสนุก” นำเสนอความสนุกสนานร่าเริงของคนไทย เมื่อรวมทุกสุขแล้ว จึงหมายรวมถึง“สุขสยาม” 

         "สุขสยาม”เป็นการรวม 7 สุขเข้าด้วยกัน โดยทุกอย่างต้องเป็นของแท้และเป็นต้นตำรับดั้งเดิมที่แท้จริง เพื่อประกาศความภาคภูมิใจให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศและระดับโลก"

       อย่างไรก็ตามสำหรับแผนการพัฒนาและขยายธุรกิจ “เมืองสุขสยาม” ณ ไอคอนสยาม ในปี2563 มีการเตรียมแผนเปิดตัวโครงการ “เมืองสุขสยามอะคาเดมี” เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่นของไทยให้ก้าวสู่สากลอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนแผนในระยะยาว “เมืองสุขสยาม” ยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการและสินค้าชุมชนของไทยสู่เวทีระดับนานาชาติต่อไป

                                                           

 "บ้านฝ้ายย้อมคราม"แหล่งรวมผลิตภัณฑ์เด่นผ้าฝ้ายอีสาน  

เปิดแผนธุรกิจ"เมืองสุขสยาม"ปี2563

       วารี เลาหดิลก พนักงานประจำร้านบ้านฝ้ายย้อมคราม หนึ่งในร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติบอกว่าได้นำผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายมาจำหน่ายในเมืองสุขสยามตั้งแต่เริ่มต้นเปิดห้างไอคอนสยาม จนถึงวันนี้ครบ 1 ปีพอดี สินค้าที่จำหน่ายในร้านเป็นผลิตภัณฑ์เด่นจากร้านดังของแต่ละจังหวัดในภาคอีสาน  ซึ่งมีอยู่ 4 ร้านประกอบด้วย บุญล้อม จุฑาทิพย์ ท้ายไทและเจษฎา โดยแต่ละร้านจะส่งพนักงานขายมาประจำร้านละ 1 คนและมีสินค้าให้เลือกหลากหลายสนนราคาต่อชิ้นตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักหมื่น 

        "ของเราเป็นร้านบ้านฝ้าย จะมีเฉพาะผ้าฝ้าย ถัดไปเป็นร้านบ้านไหมก็จะมีเฉพาะผ้าไหม อย่างของร้านจะนำสินค้าเด่นแต่ละประเภท เราก็เอารวบมารวมไว้ด้วยกัน อย่างเช่นชุมชนนี้เด่นผ้าฝ้ายทอมือ ชุมชนนั้นเก่งเรื่องการย้อม  เราก็รวบรวมสินค้าจากแต่ละชุมชนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สนนราคราตั้งแต่หลักร้อยยันหลักหมื่น อย่างเช่นราคาสูงสุดชุดผ้่าฝ้ายย้อมครามตัวละหมื่นสอง หรือถูกที่สุดเป็นผ้าพันคอผืนละ 380 บาท ผ้าฝ้ายยอมครามคนญี่ปุ่นจะชอบมาก และขายดีมาก มียอดขายเกือบล้านทุกเ้ดือน"วารีย้ำทิ้งท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ