ข่าว

ฟางข้าวอัดก้อนทำอาหารสัตว์ลดโลกร้อน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกษตรนครพนม แนะเกษตรกรนำฟางข้าวนำมาอัดก้อนทำอาหารสัตว์ ลดภาวะโลกร้อน

 

9 ธันวาคม 2562 หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีแล้วเสร็จ จะมีฟางข้าวที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวจำนวนมากในพื้นที่การเกษตร ซึ่งหากเกษตรกรปล่อยทิ้งไว้ฟางข้าวก็จะย่อยสลายกลายเป็นอินทรียวัตถุ เพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้แก่ดิน 

 

นอกจากนี้ฟางข้าวยังสามารถนำมาทำอาหารสัตว์ เช่น การอัดก้อน และการหมักโดยวิธีต่างๆ เพื่อลดต้นทุนในการผลิตให้กับเกษตร อีกทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น สำหรับการนำฟางข้าวมาอัดเป็นก้อนเพื่อเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญให้กับ โค - กระบือ ในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง ซึ่งเป็นช่วงที่หญ้าสดในธรรมชาติขาดแคลน จึงต้องมีการเตรียมการสะสมอาหาร และเก็บไว้จำหน่ายเพื่อสร้างรายได้เสริมอีกทาง


นายร่มไม้ นวลตา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ในช่วงของเดือนพฤศจิกายนของทุกปีนั้น เป็นช่วงที่เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีในพื้นที่ และเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จเกษตรกรบางรายจะทำการเผาฟางข้าว เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปรังหรือทำการเพาะปลูกพืชอื่น ส่งผลให้เกิดฝุ่น ควัน และก๊าซพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต

 

 

ฟางข้าวอัดก้อนทำอาหารสัตว์ลดโลกร้อน

 

 

รวมทั้งยังเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ปัญหาฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง และน้ำท่วมขัง และที่สำคัญการเผายังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรตรา 220 คือ หากผู้ใดที่กระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้จะเป็นของตนเองจนน่าจะก่อให้เกิดอันตรายกับบุคคลอื่น หรือทรัพย์สินของผู้อื่น จะต้องระวางจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท จะเห็นว่าแม้จะเป็นพื้นที่ของตนเองก็ตาม สำหรับเกษตรกรบางรายแล้วฟางข้าวถือว่ามีประโยชน์มาก สามารถนำมาอัดเป็นก้อน เพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารของสัตว์เลี้ยง ทำให้ลดต้นทุนในการผลิตลงได้มาก 

 

 

เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ฟางข้าว หรือวัสดุทางการเกษตรอื่นๆ เกษตรกรสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น การทำปุ๋ยหมัก หมักเป็นอาหารสัตว์ ใช้คลุมดิน เป็นวัสดุเพาะเห็ด เพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุ และความชุ่มชื้นให้กับดิน เป็นต้น

 

 

ฟางข้าวอัดก้อนทำอาหารสัตว์ลดโลกร้อน

 

 

สำหรับประโยชน์ของฟางข้าว มีประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร ได้แก่ โปรตีน 3.44% ไขมัน 1.88% เยื่อใย 37.48% ปริมาณเถ้า 12.30% ฟอสฟอรัส (P2O5) 0.11% (กองอาหารสัตว์, 2548) การนำฟางข้าว มาเลี้ยง โค - กระบือ เพียงอย่างเดียวอาจจะทำให้สัตว์เลี้ยงได้รับสารอาหารต่างๆ ไม่เพียงพอ และมีผลทำให้น้ำหนักของสัตว์ลดลง จึงควรนำฟางข้าวมาปรุงแต่ง ร่วมกับวัสดุอื่น หรือ การทำฟางหมักยูเรีย เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหารที่เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนในการผลิตให้กับเกษตรกร และเป็นการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น ช่วยรักษาและลดมลภาวะของสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

 

สำหรับฟางข้าวเมื่อมีการอัดก้อนแล้ว จะมีการจำหน่ายในราคา 25 บาท/ก้อน ทำให้เกษตรกรบางรายนิยมอัดฟางก้อนไว้เพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยง โค - กระบือ เป็นการสร้างรายได้เสริมหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี และเพื่อใช้ประโยชน์จากฟางข้าว จากเดิมที่เผาทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีร้านค้าปลีก ร้านอาหารหรือแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมมักจะซื้อมาตกแต่งร้านให้สวยงาม นับเป็นการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

 

ฟางข้าวอัดก้อนทำอาหารสัตว์ลดโลกร้อน

 

 

ภาพ ข่าว  ว่าที่ ร.ต.อาทิตย์ อุ่นนาแซง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม

 

 

 

 

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ