ข่าว

โรคใบร่วงในยางพาราระบาดหนักทำสูญรายได้แล้วกว่า 200 ล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุ โรคใบร่วงในยางพาราที่ระบาดหนักในจังหวัดนราธิวาสและตรัง รวมพื้นที่กว่า 300,000 ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ถึง 253 ล้าน

 

27 พฤศจิกายน 2562 นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)  กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลาร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตรวจสอบและประเมินสถานการณ์

 

 

โดยพบว่า ขณะนี้มีการระบาดของโรคดังกล่าว ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและตรัง รวม 365,883 ไร่  คิดเป็นร้อยละ 17 ของเนื้อที่กรีดได้ (ข้อมูลวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562) แบ่งเป็นจังหวัดนราธิวาส  12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ยี่งอ รือเสาะ เจาะไอร้อง จะแนะ สุคิริน แว้ง ระแงะ สุไหงปาดี สุไหงโก-ลก ศรีสาคร และตากใบ เนื้อที่ 365,483 ไร่ ส่วนจังหวัดตรังพบการระบาดเฉพาะพื้นที่อำเภอเมืองตรัง  400 ไร่

 

ทั้งนี้สศก.วิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากพื้นที่ระบาดของทั้ง 2 จังหวัด ปกติแล้วปริมาณผลผลิตทั้งปีรวม 93,305 ตัน แต่เมื่อเกิดโรคทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 30 - 50 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2562 จะส่งผลให้เกษตรกรสูญเสียรายได้มูลค่า 253 - 423 ล้านบาทหรือ เฉลี่ยเดือนละ 126 – 211  ล้านบาท

 

หากไม่สามารถควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคได้จะทำให้ผลผลิตของทั้ง 2 จังหวัด ลดลงอีก โดยจากการคาดการณ์ผลผลิตปี 2563 ลดลงประมาณ 27,991 - 46,652 ตัน และอาจส่งผลให้เกษตรกรสูญเสียรายได้มูลค่า 1,255 - 2,093 ล้านบาทต่อปีหรือเฉลี่ยเดือนละ 104 - 174 ล้านบาท

 

เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการให้กยท. กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตรเฝ้าระวัง พร้อมจัดทำคำแนะนำการป้องกันการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการในพื้นที่ ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างออกสำรวจ ติดตามพื้นที่การระบาด พร้อมให้คำแนะนำ ป้องกัน ให้ความรู้ พร้อมรายงานข้อมูลให้รับทราบต่อเนื่อง  

 

นอกจากนี้กยท.และกรมวิชาการเกษตรได้นำร่องทดสอบการใช้โดรนพ่นสารกำจัดเชื้อราเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของโรคใบร่วงดังกล่าวซึ่งกำลังติดตามผลสัมฤทธิ์ แต่เนื่องจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. แพร่ระบาดโดยลมและฝนจึงยากต่อการป้องกันและควบคุม ดังนั้น ขอให้เกษตรกรระมัดระวังหรืองดการเคลื่อนย้ายวัสดุปลูกและใบยางพาราโดยเฉพาะจากพื้นที่ชายแดนภาคใต้ไปสู่พื้นที่อื่น

 

สำหรับต้นยางพาราที่พบว่าเป็นโรคใบร่วงระยะรุนแรงให้เกษตรกรใช้สารเคมีโดยวิธีฉีดพ่นลงดินด้วยสาร thiophanate methyl และพ่นทรงพุ่มยางด้วยสาร benomyl hexaconazole thiophanate methyl triadimefon และ difenoconazole เพื่อกำจัดเชื้อ รวมทั้งบริหารจัดการพื้นที่ป้องกันการระบาดเพิ่มโดยกันพื้นที่เป็นแนวป้องกัน (Buffer Zone)

 

ทั้งนี้ สศก. จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ติดตามสถานการณ์และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อเตือนภัยอย่างเต็มที่ ซึ่งหากเกษตรกรพบข้อสงสัยว่าจะมีการระบาดของโรคในพื้นที่ หรือต้องการสอบถามข้อมูลรายละเอียดการระบาดและคำแนะนำสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทยประจำจังหวัด

 

 

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ