ข่าว

โรคฉี่หนู (Leptospirosis)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง โดย - น.สพ.วิรัช ธนพัฒน์เจริญหรือหมอเล็ก  [email protected] 

             สวัสดีครับ วันนี้อยากเตือนเรื่องของโรคฉี่หนู (Leptospirosis) ซึ่งเป็นโรคของสัตว์ที่สามารถติดต่อมาสู่คนได้ (Zoonosis) และมักจะระบาดในช่วงฤดูฝนที่มีน้ำท่วมขัง แม้ว่าในช่วงนี้จะไม่ใช่ฤดูฝนที่มักจะเป็นช่วงที่มีการระบาดก็ตามครับ เพราะมีเพื่อนมาปรึกษาถึงอาการเจ็บป่วยของสุนัขที่เลี้ยงไว้ว่า สัตวแพทย์ที่รักษาสงสัยว่าสุนัขของเพื่อนจะเป็นโรคฉี่หนู เพื่อนจึงสงสัยอย่างมากว่าจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะที่บ้านของเพื่อนไม่มีน้ำท่วมและอยู่ในเมือง

 

             เพราะฉะนั้นโรคฉี่หนูที่อยากคุยถึงวันนี้เป็นเรื่องโรคฉี่หนูในสุนัข ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงใกล้ชิดกับคนมาก โดยเฉพาะบ้านไหนที่มีการเลี้ยงสุนัขนอกบริเวณบ้าน ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือชนบทสุนัขก็สามารถเป็นโรคฉี่หนูได้ ที่หมอห่วงคือ เมื่อสุนัขซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดกับคนมาก โอกาสที่คนจะติดเชื้อฉี่หนูก็สูงตามไปด้วยครับ

           เราจะมารู้จักโรคฉี่หนูกันนะครับ โรคฉี่หนูเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งกับคนและสัตว์ การติดเชื้อในคนมีสาเหตุมาจากการสัมผัสดิน น้ำ อาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะ เลือด หรือเนื้อเยื่อของของสัตว์ที่ติดเชื้อชนิดนี้ เช่น สุนัข วัว ควาย หนู หมู ม้า เป็นต้น

           ส่วนอาการมีหลากหลายขึ้นกับชนิดของเชื้อ และปริมาณของเชื้อที่ได้รับ บางรายไม่แสดงอาการ แต่บางรายอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตก็มี ส่วนชนิดของเชื้อเราไม่จำเป็นต้องรู้จักก็ได้ครับเพราะมีหลายชนิดปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสัตวแพทย์ในการวินิจฉัยเพื่อรักษา

           แต่เราจำเป็นต้องทราบว่าโรคฉี่หนูมีการติดต่ออย่างไรเพื่อจะได้สามารถป้องกันได้

           เชื้อฉี่หนูจะออกมากับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ และอยู่ตามน้ำ ดินที่แฉะ หรืออาหาร โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลรวมถึงรอยขีดข่วน หรือเยื่อบุต่างๆ เช่นปาก ตา จมูก หรือผิวหนังปกติแต่แช่น้ำนานๆ ทำให้ผิวอ่อนนิ่ม ในคนมักติดเชื้อเพราะเหตุนี้ล่ะครับ คือเหยียบดินที่เปียกแฉะ หรือต้องเดินในน้ำท่วมขัง หรืออาจจะติดโรคจากการสัมผัสเชื้อในปัสสาวะสัตว์หรือเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ และเชื้อก็อาจจะเข้าสู่ร่างกายโดยการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป แต่ก็พบได้น้อย

         ส่วนอาการที่ปรากฏคือ มีไข้ ป่วยเฉียบพลัน ปวดกล้ามเนื้อ สังเกตจากสุนัขจะไม่อยากขยับตัว อ่อนแรง ซึม เบื่ออาหาร กินน้ำเยอะ ตับและม้ามโต ปัสสาวะมีสีเข้มมาก ซึ่งหากสัตวแพทย์สงสัยก็จะส่งตรวจหาเชื้อ

         ซึ่งหากสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงเป็นโรคฉี่หนู หากคนเลี้ยงหรือคนที่สัมผัสสุนัขนั้นรู้สึกไม่ค่อยสบาย รู้สึกปวดเมื่อย ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพราะโรคฉี่หนูถ้าทราบเร็วจะสามารถรักษาให้หายได้ไม่น่ากังวล แต่ถ้าปล่อยจนอาการแสดงออกมากนั่นคือสิ่งที่น่าเป็นห่วงครับ

          วันนี้หมอเลยอยากทำความเข้าใจว่าโรคฉี่หนูสามารถพบได้ แม้ว่าจะไม่ใช่ฤดูฝน ไม่มีน้ำท่วมขัง และอยู่ในเมือง เพียงแต่พบได้น้อยเท่านั้นครับ

   

      ที่สำคัญ.. อย่าลืมดูแลความสะอาด จัดบ้านให้โปร่ง และกำจัดแหล่งอาหารของหนูนะครับ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ