Lifestyle

งง 3 สารยิ่งแบนยิ่งโผล่พรวดเดียวเกือบสี่หมื่นตัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มนัญญา ลั่นพร้อมเซ็นส่งออก 3 สารพิษทันที งง ยิ่งแบนยิ่งโผล่พรวดเดียวเกือบสี่หมื่นตัน โบ้ยเอกชนรับภาระส่งกลับหรือทำลาย

 

22 พฤศจิกายน 2562  น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวในประชุมรับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการนำเข้า ส่งออก สารเคมี 3 ชนิด พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส ก่อนที่จะยกเลิกใช้ 3 สารวันที่ 1 ธ.ค.นี้

 


อ่านข่าว - ตั้งทีมช่วยเกษตรกร ได้รับผลกระทบยกเลิก 3 สาร

 

โดยบอกว่า จนถึงขณะนี้กระทรวงเกษตรฯดำเนินการหารือกับเอกชน ผู้นำเข้า ส่งออก 4 สมาคม คือสมาคมธุรกิจเกษตร สมาคมอารักขาพืช สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย และวันนี้ (22 พ.ย.) จะประชุมสารวัตรเกษตรทั่วประเทศ 300 กว่าคน

 

ทั้งนี้เพื่อซักซ้อมแนวทางดูแลประชาชนและเกษตรกร ในการคืน 3 สารอันตราย เพื่อให้ไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้แบน 3 สารในวันที่ 1 ธ.ค.62 ดังนั้นการที่มีข่าวว่าในวันที่ 27 พ.ย.คณะกรรมการวัตถุอันตราย จะประชุมอาจมีการทบทวนสารบางตัว เป็นเรื่องที่คณะกรรมการ กอ.ต้องตอบคำถามให้กับประชาชนทุกข้อ ในฐานะที่ตนกำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร จะต้องทำให้ถึงที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบประชาชนและเกษตรกร เนื่องจากมีโทษตามกฎหมายสูงหาก3สารมีอยู่ในครอบครองหลังวันที่1ธ.ค.
 
 
น.ส.มนัญญา กล่าวว่าในส่วนภาคเอกชน ตนยืนยันว่าหากต้องการส่งออก พร้อมเซ็นอนุมัติให้ทันทีในเวลาทำการ 1-3วัน ขณะนี้มีเอกชน ยื่นขอส่งออก3สาร700กว่าตัน พร้อมส่งไปประเทศที่สาม แต่ในส่วนสารที่มีคงเหลืออยู่ประมาณกว่า 3.8หมื่นตัน ตามกฎหมายเป็นหน้าที่ของบริษัทผู้นำเข้า ต้องรับผิดชอบในการทำลาย เป็นเรื่องที่แปลกทั้งที่รู้ว่ารัฐบาลจะห้ามการใช้สารเคมี 3 สาร ก็ยังมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่อง เพราะเอกชนต่างก็มั่นใจว่ายังงัยไม่มีทางแบนได้

 

ในขณะที่ฝ่ายการตลาดของบริษัท ไปขายแบบลดแลกแจกแถมซื้อ1ลิตรแถม3ลิตร เพื่อให้ไปอยู่มือเกษตรกร ไว้เยอะๆ จริงๆแล้วในเรื่องส่งออก นำเข้าสารเคมี มีกฎหมายแรงมาก ขนาดต้องปิดบริษัท ตนได้ให้กรมวิชาการเกษตร ดึงกฎหมายนี้ กลับมาก่อน เพื่อมาหารือกันก่อน มิฉะนั้นเจ๊งกันหมด ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลนี้ทำงานทุกอย่างอยู่บนโต๊ะ ไม่มีใต้โต๊ะ ต่อไปการส่งออกต้องมีการเสียภาษี จะน้อยจะมากต้องเสียภาษีและเอาเรื่องเหล่านี้มาอยู่บนโต๊ะ ต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยให้นำเข้าสารเคมี ภาษีเป็นศูนย์ เพราะต้องการทำให้สินค้าถึงมือเกษตรกรในราคาที่ถูก แต่กลายเป็นช่องทางนำเข้า ไปส่งออก 

 

“ไม่ว่าไปทางซ้ายหรือขวา ต้องมาคุยกันเราเป็นพี่น้องคนไทยด้วยกัน ซึ่งขอถามว่าทำไมที่ผ่านมาเอาเข้ามาเป็นแสนตันต่อปี ก็ขายได้หมด แต่ปีนี้เอาเข้ามาน้อยกลับยังมีสารเหลือ ถึงเวลาที่ทุกคนควรพูดความจริง ยึดประโยชน์สูงสุดคือเกษตรกร ประชาชน และประเทศชาติ ที่เราจะเดินหน้าไปด้วยกันได้ ดิฉันลงพื้นที่ถามเกษตรกร สหกรณ์ต่างๆทุกวันนี้เลิกใช้สารเคมีกันไปมากแล้ว ซึ่งทางสหกรณ์บอกว่าเขาต้องการเครื่องตัดหญ้า นี่คือความต้องการของเกษตรกร จะประชุมสารวัตรเกษตร เพื่อย้ำว่าประเทศไทยจะต้องไม่มีการจับเกษตรกร ไม่ทำร้ายเกษตรกร หากพื้นที่ไหนเกษตรกรถูกจับเพราะครอบครอง 3 สาร แสดงว่าหน่วยงานล้มเหลวในการทำความเข้าใจกับเกษตรกร” น.ส.มนัญญา กล่าว
 
 
ทั้งนี้ในการลงพื้นที่ไปตรวจบริษัท พบว่าแม้ว่าบริษัทนำเข้าอาจมีมาตรฐานของโรงงาน แต่บริษัทที่ซื้อนำไปผลิตในยี่ห้ออื่น ๆ ต้องยอมรับมีการนำไปผสมในสัดส่วนต่างกันไปตรงนี้ไม่มีใครคุม แต่เกษตรกรรับกรรม จากใช้สารไม่ตรงตามคุณภาพ เรื่องนี้ต่อไปจะเข้มงวดคุมตั้งแต่ต้นน้ำ และยืนยันว่าไม่มีการยกเลิกสาร 3 ตัวนี้เพื่อให้มีการนำเข้าสารตัวใหม่ เพราะดิฉันไม่เคยแทรกแซงกรมวิชาการเกษตร

 

ถ้าในอนาคตจะมีการนำเข้าเป็นเรื่องว่ากันไปตามหลักวิชาการ เรื่องพวกนี้ก็แปลกเวลาเชิญประชุมไม่มา กันแต่ไปให้เงินทำเสื้อมาด่า จ้างมาด่า ทั้งที่เราทำเพื่อประชาชน ลงพื้นที่ร้านค้า ก็บอกว่าบริษัทใหญ่ จ่ายตังรัฐมนตรีเกษตรแล้ว ยังงัยก็ไม่มีทางแบน จึงทำให้ไม่มีการเตรียมการอะไรกันเลย ทั้งที่ดิฉัน เข้ามารับตำแหน่งวันแรกก็มีนโยบายแบน3สาร เพราะได้มีข้อมูลหนักแน่น ในเรื่องผลกระทบเป็นพิษภัยต่อร่างกายมนุษย์เป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข เสนอแบน3สารมาตั้งแต่ปี2560
 

นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงษ์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และประธานคณะทำงานตรวจสอบสต๊อก 3 สาร กล่าวว่าผลการตรวจสอบพบว่า ณ วันที่ 30 มิ.ย.62 มีผู้นำเข้า 103 บริษัท จำนวน 36,343 ตัน หลังจากนั้นมีการตรวจสอบรายงานสต๊อกครั้งที่ 1 วันที่ 5 ก.ค.พบว่ามีการนำเข้าจริง 34,688 ตัน และการตรวจสต๊อกครั้งที่สอง วันที่ 30 ก.ย.มีจำนวน 39,689 ตัน ตรวจครั้งที่สาม วันที่ 30 ต.ค.สต๊อกเหลือ 23,263 ตัน ตรวจครั้งที่สี่ วันที่ 12 พ.ย.พบว่าสต๊อกมีอยู่ 38,885 ตัน คำถามทำไมสตอกของกรมวิชาการเกษตร จึงดิ้นได้

 

ส่วนที่บอกว่าข้อมูลของเราเป็นวิทยาศาสตร์เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ไม่ได้มโน จะพบว่าปี 58 นำเข้า 91,000 ตัน ปี 59 นำเข้า 96,000ตัน ปี 2560 นำเข้าแสนกว่าตัน และปี 2561 นำเข้า 8.1 หมื่นตัน พอปี 2562 นำเข้า 3.6 หมื่นตัน เพราะมีการห้ามนำเข้าเมื่อเดือนมิ.ย. ดังนั้นจะเห็นว่าปี 2560 ทำไมนำเข้าถึงแสนกว่าตัน ทั้งที่มีนโยบายจะแบนสารมาแล้ว ซึ่งสต๊อกมีชีวิตตลอดเวลาหรือสต๊อกที่แจ้งเป็นของตนหรือของสตอกคนอื่นด้วย แม้กระทั่งตนเป็นอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร จะขอตัวเลขสตอก แต่ทางกรมบอกว่าต้องขอเป็นทางการ จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสต๊อก


 
นอกจากนี้จากที่มีมาตรการจำกัดการใช้ และมาตรอบรมเกษตรกร เป้าหมายอบรม1ล้านราย แต่มีเกษตรกรมาแจ้งอบรมใช้สาร 4 แสนราย ณ วันที่ 13 พ.ย.2562 ผ่านอบรมแล้ว 3 แสนราย ยกตัวอย่างกรณี จ.นครราชสีมา  มีเกษตรกร ผ่านอบรม 3 หมื่นคน พื้นที่ปลูกพืช 7 แสนไร่ ที่ใช้สารเคมี ในข้าวโพด อ้อย มัน มีความต้องการใช้3สาร 675 ตัน เท่ากับไร่ละไม่ถึง 1 ลิตร

 

ดังนั้นขณะนี้กำลังให้ทุกจังหวัดทำรายละเอียดเข้ามาว่าผลการอบรมและการผ่านอบรมทั้งหมดเท่าไหร่ และปริมาณสารต้องการใช้จริง เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการใช้จริงเท่าไหร่  ทั้งนี้ยืนยันว่าความเดือดร้อนทุกภาคส่วนไม่ได้ละเลย แต่กฎหมายมาตรา 52 กำหนดว่าค่าใช้จ่ายในการทำลายเป็นภาระของเอกชนผู้นำเข้า ในส่วนราชกิจจาฯที่กำหนดระยะเวลาส่งเก็บคืน3สารทั้งหมดภายใน30วัน แบ่งเป็นแจ้งเตือน ส่งมอบ คราวละ15วัน ทั้งนี้มีผลต่อเมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีประกาศในราชกิจจาฯแล้ว


 
ด้านนายสกล มงคลธรรมากุล ที่ปรึกษาสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่าการดำเนินการเรื่องนี้มีระยะเวลาให้เอกชนเก็บคืนสาร ให้เวลาน้อยเกินไปเพราะได้กระจายจำหน่ายสารไปแล้ว ต้องมีขบวนการเรียกคืน นำส่ง ร่วมถึงติดตามที่ไปของสาร ขณะเดียวกันหากให้ส่งคืนประเทศต้นทาง คงเป็นเรื่องยากบริษัทต้นทางจะรับกลับ เพราะได้ซื้อจ่ายขาด และการเผาทำลายต้องทำถึง 2 ครั้งคือเผาสารและเผาควัน เป็นสารพิษร้ายแรง เกิดสารไดอ๊อกซินทางอากาศมหาศาล ใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะเผาหมด เพราะฉะนั้นควรชะลอการบังคับกฎหมายแบน3สาร ออกไปอีก2ปีหรือสองรอบการเพาะปลูก จะทำให้ใช้ในภาคเกษตรหมด ถ้าหากแบนจริงวันที่1 ธ.ค.นี้จะฟ้องศาลในเรื่องความเสียหายของ 3 สารไปเจอกันที่ศาล

 

 


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ