ข่าว

กฎหมายลูก11ฉบับกับบริบทใหม่"สทนช."

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กฎหมายลูก11ฉบับกับบริบทใหม่"สทนช."

          แม้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561  ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 เป็นต้นมา ซึ่งนับเป็นกฎหมายน้ำฉบับแรกของประเทศไทย ประกอบด้วย 9 หมวด และบทเฉพาะกาล คือ หมวดทรัพยากรน้ำ หมวดสิทธิในน้ำ หมวดองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หมวดการจัดสรรและการใช้น้ำ หมวดภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม หมวดการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ หมวดพนักงานเจ้าหน้าที่ หมวดความรับผิดทางแพ่งในกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ และหมวดบทกำหนดโทษและบทเฉพาะกาลแล้วก็ตาม

กฎหมายลูก11ฉบับกับบริบทใหม่"สทนช."  ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสทนช.

 

 

        แต่เพื่อให้การแก้ไขปัญหาน้ำของประเทศทั้งระบบ ตั้งแต่การใช้น้ำ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟูอนุรักษ์ และการรวมทุกหน่วยงานตลอดจนภาคประชาชนมาบูรณาการการทำงานเพื่อให้ขับเคลื่อนภารกิจด้านน้ำไปในทิศทางเดียว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมในทุกมิติ มีความสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งสะท้อนกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงนั้น จำเป็นจะต้องมีกฎหมายลำดับรอง หรือกฎหมายลูกรองรับด้วย

กฎหมายลูก11ฉบับกับบริบทใหม่"สทนช."

         ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรอง 11 ฉบับ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่ง ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า 

        "กฎหมายลำดับรองหรือกฎหมายลูกนั้น จะช่วยสร้างกลไกการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ สทนช.ก็จะเร่งขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำ ให้สามารถจัดสรรน้ำได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม"

        สทนช.ได้จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 46/2560 เพื่อต้องการให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว ลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานด้านน้ำที่มีอยู่กว่า 38 หน่วยงานใน 7 กระทรวง ดังนั้นในช่วงปีแรกจึงเป็นปียังทำงานมาทำเฉพาะส่วนกลาง ซึ่งประกอบด้วย 6 สำนัก (กอง/ศูนย์) ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กองนโยบายและยุทธศาสตร์ กองวิเคราะห์โครงการและงบประมาณ กองบริหารจัดการลุ่มน้ำ และศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ

        ในปีต่อมา สทนช.ได้ขับเคลื่อนการทำงานระดับภูมิภาคกับพื้นที่ท้องถิ่นมากขึ้น มีแผนหลัก แผนปฏิบัติการลุ่มน้ำ และได้ประสานงานกับประชาชนที่อยู่ที่ชนบท แผนการต่างๆเริ่มกระจายไปในท้องถิ่น มีการจัดสรรงบบูรณาการที่มาจากส่วนกลางและท้องถิ่น โดยได้มีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนการทำงานไปพร้อมๆกัน ทั้งระบบ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

        ขณะเมื่อย่างขึ้นสู่ปีที่ 3 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองตามที่ สทนช. เสนอ ซึ่งจะทำให้เห็นบทบาท อำนาจ และหน้าที่ของ สทนช.จัดเจน และสามารถแก้ไขปัญหาน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุด เห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยในเบื้องต้นคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเฉพาะมาตราเร่งด่วนมีทั้งหมด 11 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคัดเลือกองค์กรด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้ง 3 ระดับ คือ ระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ ที่ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการคัดเลือก วิธีการได้มา การพ้นจากตำแหน่ง รวมทั้งอำนาจ หน้าที่และการดำเนินงานขององค์กรผู้ใช้น้ำ สะท้อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ รวมทั้งการบริหารจัดการความเสี่ยงและการดำเนินการในภาวะน้ำแล้งหรือภาวะน้ำท่วม ที่ประกอบด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดค่าทดแทนการใช้น้ำ หรือค่าชดเชยความเสียหายต่อทรัพย์สิน จากการใช้ที่ดินหรือสิ่งก่อสร้าง เพื่อการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม

         สำหรับร่างกฎหมายลำดับรองทั้ง 11 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำในคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. .... 2.ร่างกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ. .... 3.ร่างกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ อันเนื่องมาจากเหตุบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ พ.ศ. .... 4.ร่างกฎกระทรวง กำหนดวัตถุประสงค์ หน้าที่และอำนาจ และการดำเนินงานขององค์กรผู้ใช้น้ำ รวมทั้งหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ พ.ศ. .... 5.ร่างกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดค่าทดแทนแก่บุคคลซึ่งกักเก็บน้ำไว้ ต้องสูญเสียน้ำที่กักเก็บไว้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ พ.ศ. ....

         6.ร่างกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการชดเชยความเสียหายแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือสิ่งก่อสร้าง จากการดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม พ.ศ. .... 7.ร่างกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดค่าทดแทนการใช้ที่ดินหรือสิ่งก่อสร้าง และชดเชยความเสียหายแก่ทรัพย์สินของเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือสิ่งก่อสร้าง จากการใช้ที่ดินหรือสิ่งก่อสร้าง เพื่อการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม พ.ศ. .... 8.ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการนำเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์ หรือฝากไว้กับธนาคารออมสิน และวิธีการรับเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหาย พ.ศ. .... 

           9.ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสั่งให้บุคคลซึ่งกักเก็บน้ำไว้ ต้องเฉลี่ยน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ พ.ศ. .... 10.ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดแบบบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และ 11.ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบ พ.ศ. ....

            เลขาธิการสทนช. เผยต่อว่า การออกกฎหมายลำดับรอง ได้แก่ กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เป็นการสะท้อนนโยบายสำคัญของรัฐ เพื่อให้การบังคับใช้บรรลุเจตนารมณ์ ทำให้กระบวนการทางปกครองดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และยุติธรรม โดยเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างกฎหมายลำดับรองดังกล่าวแล้ว จะส่งร่างกฎกระทรวงให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ส่วนร่างระเบียบ/ประกาศ จะส่งให้คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา และเมื่อการตรวจพิจารณาแล้วเสร็จ จะเสนอคณะรัฐมนตรีก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป

              “การดำเนินการต่อจากนี้สทนช. และสทนช.ภาคที่ได้จัดตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้ทั้ง 4 ภูมิภาค จะเร่งขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายลำดับรอง ในการจัดเตรียมการคัดเลือกคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้การบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในภาวะปกติและในกรณีเกิดน้ำท่วมหรือภัยแล้งในระดับพื้นที่ลุ่มน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน สะท้อนกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงตรงตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี” เลขาธิการสทนช.ย้ำชัด

  

         การก้าวสู่ปีที่ 3 ของ สทนช. จะทำให้เห็นบทบาทของสทนช.ที่ชัดเจนยิ่งชึ้นและอีกประมาณ 2-3 เดือนหลังจากกฎหมายลำดับรองหรือกฎหมายลูกมีผลบังคับใช้ สทนช.เร่งแต่งตั้งและคัดเลือกคณะกรรมการลุ่มน้ำให้ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำหลัก(ลุ่มน้ำใหม่) โดยในระดับลุ่มน้ำนั้น จะประกอบด้วย กรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มน้ำ โดยทุกลุ่มน้ำกฎหมายยังเปิดทางให้สามารถจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง-น้ำท่วม และครอบคลุมไปถึงการแก้ปัญหาคุณภาพน้ำได้อีกด้วย

         ดังนั้นปีที่ 3 ของ สทนช. จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การปรับบริบทเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทยใหม่ในการเป็นศูนย์กลางการบูรณาการขับเคลื่อนภารกิจ และกำกับดูแลทรัพยากรน้ำของประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็น “ศูนย์กลางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ