ข่าว

64ปีน้อมรำลึก"พระบิดาแห่งฝนหลวง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 "ฝนจากฟ้า"ฝนแห่งความเมตตา 64ปีน้อมรำลึก"พระบิดาแห่งฝนหลวง"

          วันที่ 14 พ.ย. ถือเป็นวันฝนหลวง ตามคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตรให้ทรงเป็น“พระบิดาแห่งฝนหลวง” พร้อมกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวัน“พระบิดาแห่งฝนหลวง”

64ปีน้อมรำลึก"พระบิดาแห่งฝนหลวง"  อนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

               เนื่องในโอกาสครบรอบ 64 ปีแห่งการก่อเกิดโครงการพระราชดำริฝนหลวงในปีนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดใหญ่ “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง”ระหว่างวันที่ 11-15 พฤศจิกายน 2562 ณ ลานอเนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา  ถนนแจ้งวัฒนะ ภายใต้แนวคิด “สืบสาน รักษา ต่อยอด Digi Fonluang” เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาที่คุณ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงก่อให้เกิด “เทคโนโลยีฝนหลวง”

             "วันนี้ ถือเป็นวันครบรอบปีที่64 นับจากวันที่ 14 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2498  ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัส ที่จะคิดค้นวิจัยหาวิธีการทำฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ประสบภัยแล้ง รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรน้ำของประเทศ จนเกิดเป็นโครงการพระราชดำริฝนหลวงสืบมาจนปัจจุบัน"

       บางช่วงบางตอนทีี่ อนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในระหว่างเป็นประธานเปิดงาน “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ประจำปี 2562 โดยมี สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ผู้บริหารส่วนราชการ ต่าง ๆ ร่วมในพิธี  ซึ่งในปีนี้ครบปีที่ 64 แห่งการกำเนิดฝนหลวงพระราชทานนี้ กระทรวงเกษตรฯโดยกรม ฝนหลวงและการบินเกษตรได้จัดอย่างยิ่งใหญ่เพื่อร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ และจารึกไว้เป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย

64ปีน้อมรำลึก"พระบิดาแห่งฝนหลวง"

           ปลัดอนันต์กล่าวต่อว่าโครงพระราชดำริ “ฝนหลวง” นั้น ได้สร้างคุณูปการทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะความมั่นคงด้านน้ำให้แก่ประเทศไทย และด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงคิดค้นเทคโนโลยีฝนหลวงขึ้น ยังได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งได้มีการจดสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

             นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการนำเทคนิคและวิธีการทำฝนหลวง ตามตำราฝนหลวงพระราชทานไปปรับใช้แก้ปัญหาความแห้งแล้งในประเทศของตัวเอง ซึ่งถือได้ว่าโครงการพระราชดำริฝนหลวง นับเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากพระอัจฉริยภาพอย่างแท้จริง และเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยและคนทั่วโลก

            สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเสริมว่าสำหรับ กิจกรรมภายในงานปีนี้จะมี พิธีเปิดนิทรรศการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด Digi Fonluang” และมีการมอบรางวัลอาสาสมัครฝนหลวงดีเด่น ระดับประเทศและระดับภูมิภาค การมอบรางวัลโครงการประกวดภาพถ่ายและภาพจิตรกรรม “ฝนหลวง ฝนแห่งความเมตตา” พร้อมการจัดแสดงผลงานที่ได้รับรางวัล รวมถึงมีการแสดงนิทรรศการฝนหลวงจากอดีตและ ความก้าวหน้าในปัจจุบัน การสนองพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชาโครงการฝนหลวงโดย นำเสนอเทคโนโลยีและโครงการวิจัยที่ต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง ตลอดจนนิทรรศการจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานร่วมบูรณาการ

              อาทิ กองทัพอากาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สถาบันสารสนเทศ ทรัพยากรน้ำ (สสน.) และในวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2562 เวลา 09.00 น. มีพิธีถวายราชสักการะ วางพานพุ่มดอกไม้สดถวายแด่องค์พระบิดาแห่งฝนหลวง เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ โดยได้รับเกียรติจากเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี

             สำหรับกิจกรรมภายในงานปีนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้กำหนดจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 11 - 15 พฤศจิกายน 2562 ณ ลานอเนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา  ถนนแจ้งวัฒนะ ภายใต้แนวคิด “สืบสาน รักษา ต่อยอด Digi Fonluang” และมีการมอบรางวัลอาสาสมัครฝนหลวงดีเด่นระดับประเทศและระดับภูมิภาค การมอบรางวัลโครงการประกวดภาพถ่ายและภาพจิตรกรรม“ฝนหลวงฝนแห่งความเมตตา”พร้อมการจัดแสดงผลงานที่ได้รับรางวัล รวมถึงมีการแสดงนิทรรศการฝนหลวงจากอดีตและความก้าวหน้าในปัจจุบัน 

               การสนองพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชาโครงการฝนหลวงโดยนำเสนอเทคโนโลยีและโครงการวิจัยที่ต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง ตลอดจนนิทรรศการและการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอีกมากมายกว่า 100 ร้านค้า เป็นผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ซึ่งมีทั้งผัก ผลไม้ อาหารสด และอาหารแปรรูปทางการเกษตร มาจำหน่ายให้ประชาชนในราคาประหยัด รวมทั้งยังมีกิจกรรมการสาธิตเสริมสร้างอาชีพจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ สาธิตการทำอาหารแปรรูปจากปลา สาธิตการทำสเต็กคอหมูราดซอสไข่เค็ม การสาธิตการทำสบู่โปรตีนไหม การเสวนาฝนหลวง 

 

 3 ขั้นตอนการทำฝนหลวงตามแนวพระราชดำริ

ขั้นตอนที่ 1 ก่อกวน

     การทำฝนหลวงในขั้นตอนแรกนี้มุ่งใช้สารเคมีไปกระตุ้นอากาศให้เกิดการลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน เพื่อให้เกิดกระบวนการชักนำไอน้ำหรือความชื้นเข้าสู่ระดับการเกิดเมฆ ระยะเวลาที่เหมาะสมในการปฏิบัติงานของขั้นตอนแรกนี้ ควรดำเนินการในช่วงเช้าของแต่ละวัน สารเคมีที่ใช้ในขั้นตอนนี้ ได้แก่ สารแคลเซียมคลอไรด์ สารแคลเซียมคาร์ไบด์ สารแคลเซียมอ๊อกไซด์ หรือสารผสมระหว่างเกลือแกงกับสารยูเรียหรือสารผสมระหว่างสารยูเรียกับสารแอมโมเนียไนเตรท ซึ่งสารผสมดังกล่าวนี้ แม้จะมีเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำก็ตาม แต่ก็สามารถดูดซับไอน้ำจากมวลอากาศได้อันเป็นการกระตุ้นกลไกของกระบวนการกลั่นตัวของไอน้ำในมวลอากาศ อีกทั้งยังเสริมสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมโดยรอบที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเมฆทางด้านเหนือลมของพื้นที่เป้าหมายอีกด้วย 

ขั้นตอนที่ 2 เลี้ยงให้อ้วน

     เป็นขั้นตอนสำคัญมากในการปฏิบัติการฝนหลวง เนื่องจากเป็นระยะที่เมฆกำลังก่อตัวเจริญเติบโต จึงใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีและประสบการณ์ผสมผสานกลยุทธในเชิงศิลปะแห่งการทำฝนหลวงควบคู่ไปพร้อมกัน เพื่อตัดสินใจโปรยสารเคมีฝนหลวงที่ทรงค้นคว้าขึ้นมา โดยไม่มีสารอันเป็นพิษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติงานต้องพิจารณาอย่างถ่องแท้ว่าจะใช้สารเคมีชนิดใดและอัตราใดจึงจะเหมาะสมในการตัดสินใจโปรยสารเคมีฝนหลวง ณ ที่ใดของกลุ่มก้อนเมฆ เพื่อให้สัมฤทธิผลที่จะทำให้ก้อนเมฆขยายตัวหรืออ้วนขึ้นและป้องกันมิให้ก้อนเมฆสลายตัวให้จงได้  

ขั้นตอนที่ 3 โจมตี

     เมื่อกลุ่มเมฆฝนมีความหนาแน่นมากพอที่จะสามารถตกเป็นฝนได้  ดังนั้นขั้นตอนสุดท้ายจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเพราะจะต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์เป็นอย่างมากเหนือสิ่งอื่นใดต้องรู้จักใช้เทคนิคในการทำฝนหลวง ซึ่งพระองค์ท่านทรงให้ข้อคิดว่าจะต้องพิจารณาจุดมุ่งหมายของการทำฝนหลวงด้วยว่า ในการทำฝนหลวงของแต่ละพื้นที่นั้นต้องตอบสนองความต้องการอันแท้จริงของราษฎรใน 2 ประเด็น คือ เพื่อเพิ่มปริมาณฝนตกให้กับพื้นที่ และเพื่อให้เกิดการกระจายการตกของฝน ซึ่งทั้ง 2 วัตถุประสงค์นี้ได้เป็นแนวทางในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของพสกนิกรให้คลายความเด็ดร้อนยามขาดแคลนน้ำเรื่อยมาตราบเท่าทุกวันนี้ 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ