ข่าว

สร้าง GovTech สู่เกษตร 4.0 เชื่อม"บิ๊กดาต้า"สู่การค้าโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สร้าง GovTech สู่เกษตร 4.0 เชื่อม"บิ๊กดาต้า"สู่การค้าโลก

       นับเป็นก้าวย่างสำคัญของภาคการเกษตรไทย เมื่อรัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งเดินหน้าภาคเกษตรไทยก้าวไปสู่ผู้นำเกษตรโลก โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ พร้อมวางระบบบิ๊กดาต้าในการเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกภาคส่วนทั้งภาคการผลิต การแปรรูปและการตลาดเข้าด้วยกันเพื่อง่ายต่อการวางนโยบายการเกษตรประเทศไทย

 

            บางช่วงบางตอนในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “สร้าง GovTech สู่เกษตร 4.0” โดย อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ “12 ปีสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย (สกท.)” และ “20 ปีรวมพลคนข่าวเกษตร” ณ อาคารจักรพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เมื่อเร็วๆ นี้ 

           โดยเขากล่าวว่าสิ่งที่จะพูดในวันนี้เป็นเรื่องอนาคตข้างหน้าของภาคการเกษตรไทย มีเป้าหมายสำคัญก็คือการทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้คนไทยมีรายได้ต่อหัว 5 พันดอลลาร์ต่อคนต่อปี หรือ 4.5 แสนบาทต่อคนต่อปีนั้น เป็นเป้าหมายที่เราจะต้องนำพาประเทศไปสู่จุดนั้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีภารกิจหน้าที่โดยตรงในการขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมไปสู่มิติใหม่ เป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ที่เต็มไปด้วยความก้าวหน้าทันสมัยสามารถสร้างรายได้ให้เป็นเศรษฐกิจฐานหลักของประเทศ

          ไม่ว่าจะในรูปของไบโอเทคโนโลยีหรือเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ไม่ว่าในรูปของเศรษฐกิจดิจิทัลหรือการผสมผสานของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งทั้งสามประเภทดังกล่าวเป็นแนวทางของกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นกระทรวงที่ทันสมัยล้ำหน้ามากที่สุดภายใน 6 เดือนจากนี้ไปและจะทำให้กระทรวงเกษตรฯ สามารถเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของประเทศเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้มีชีวิตที่มีความมั่งคั่ง มั่นคงอย่างยั่งยืน 

          ภารกิจที่กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการในขณะนี้คือการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ครบทั้ง 77 จังหวัด โดยจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทุกแห่งทั้งประเทศ ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถือเป็นสถาบันการศึกษาหลักของภาคการเกษตรกรรมมาโดยตลอด จะเป็นครั้งแรกในประเทศที่เราจะมีศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรมในทุกจังหวัดและจะเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี ศูนย์กลางต้นแบบสตาร์ทอัพทางการเกษตร จะเป็นศูนย์กลางความร่วมมือการถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ของส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่อยู่ในทุกจังหวัด รวมทั้งภาคีเครื่อข่ายต่างๆ นี่เป็นการเริ่มต้นวางรากฐานเชิงโครงสร้างเพื่อนำประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศเกษตร 4.0 

             นโยบายของการขับเคลื่อนเทคโนโลยีการเกษตรนั้น  ท่านรัฐมนตรีได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ที่ตนเองเป็นประธาน โดยได้วางแนวทางไว้ 3 แนวทาง แนวทางแรก คือ การทำให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นกระทรวงเทคโนโลยีที่ทันสมัยภายในอีก 2 เดือนข้างหน้าหรือในวันที่ 1 มกราคม 2563 กระทรวงเกษตรฯ จะเป็นกระทรวงแรกใน 20 กระทรวง มีหน่วยงาน 20 กว่าหน่วยงานจะให้บริการทางออนไลน์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทยหลังจากได้ดำเนินการมาอย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลาสองเดือนเศษที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 70-80% 

             และเพื่อให้มั่นใจว่ากรมต่างๆ สำนักงานต่างๆ องค์การมหาชน ตลอดจนรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทั้งหมดจะเริ่มต้นอย่างน้อย “1 โครงการ 1 ควิกวิน” ที่จะนำเทคโนโลยีมาให้บริการแก่พี่น้องเกษตรกร นั่นคือก้าวแรกที่สำคัญที่ให้ทุกคนตระหนักว่าบัดนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังก้าวสู่มิติใหม่ของยุคแห่งดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น  

                แนวทางที่สองคือการปฏิรูปกระทรวงเกษตรฯ โดยใช้บิ๊กดาต้าและปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ในการรวบรวมข้อมูลทางด้านการเกษตรทั้งหมดเพื่อนำไปสู่การบริหารงานของกระทรวงที่ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด  สำนักงานเกษตรในต่างประเทศ 11 แห่ง 8 ประเทศเชื่อมโยงกับกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีสถานทูตและสำนักงานพาณิชย์ซึ่งมีอยู่ทั่วโลก  โดยใช้ฐานข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์โดยปัญญาประดิษฐ์ในการวางแผนโครงการและงบประมาณตลอดจนการส่งเสริมเกษตรกรในการผลิตพืชเกษตรหรืิอปศุสัตว์หรือการประมง โดยการเชื่อมโยงของบิ๊กดาต้ากระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลัง โดยกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะต้นน้ำทางการผลิตไปสู่การแปรรูปกลางน้ำของกระทรวงอุตสาหกรรมไปสู่ปลายน้ำคือกระทรวงพาณิชย์ทั้งการค้าในประเทศและการส่งออกภายใต้การสนับสนุนในเรื่องของงบประมาณและสินเชื่อทางการเงินและการลงทุนโดยกระทรวงการคลังที่คล้องกันเพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นเกษตร 4.0 

             ซึ่งโมเดลที่ขับเคลื่อนในขณะนี้ยังไม่เคยมีการเชื่อมโยงในการบูรณาการขับเคลื่อนภายใต้การใช้เทคโนโลยีของการสื่อสารและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้เป็นประโยชน์จากการวางแผนทั้งการตลาด การผลิตมาก่อน โดยจุดเปลี่ยนที่กำลังสร้างขึ้นนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว แน่นอนที่สุดว่าภายใต้พื้นที่ 149 ล้านไร่ อันเป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีพื้นที่ชลประทานที่มีศักยภาพ 60 ล้านไร่ มีแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตร 10 กว่าล้านคน มีครอบครัวเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 7 ล้านครอบครัว มีประชากรที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม 38 ล้านคน ทำให้สัดส่วนภาคเกษตรอุตสาหกรรมมี 10% ของจีดีพี แต่สิ่งที่ต้องให้เครดิตในทุกรัฐบาล ทุกพรรคการเมือง ตลอดจนสื่อสารมวชน นั่นคือการที่ทำให้ประเทศไทยวันนี้ก้าวสู่การเป็นประเทศส่งออกอาหารเป็นอันดับ 12 ของโลก

             อลงกรณ์กล่าวต่อว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยแซงอินเดียที่มีขนาดใหญ่กว่าทั้งพื้นที่และประชาชกรจากผลการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ทำให้การส่งออกอาหารของประเทศไทยเป็นอันดับสองของเอเชีย เป็นรองแต่เฉพาะจีนเท่านั้นใน 20 อันดับของประเทศผู้ส่งออกอาหารทั่วโลก มีเพียงสองประเทศเท่านั้นที่โตแบบก้าวกระโดดขึ้นไปสองอันดับได้ภายในปีเดียวคือเม็กซิโกและประเทศไทย  

              สิ่งสำคัญคือประเทศไทยนั้นยิ่งใหญ่กว่าที่ใครๆ คิิด เพราะประเทศไทยผลิตยางพาราและส่งออกยางพาราอันดับหนึ่งของโลก แม้แต่น้ำตาลและอ้อยประเทศไทยก็ส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับสองของโลกรองจากบราซิล ส่วนมันสำปะหลังก็เป็นอันดับหนึ่งอันดับสองของโลกมาโดยตลอด เช่นเดียวกับปาล์มน้ำมัน แม้แต่สินค้าแปรรูปอย่างสับปะรดกระป๋องก็ส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก หรือปลาทูน่ากระป๋องก็เป็นอันดับหนึ่งของโลก แม้จะไม่มีปลาทูน่าแม้แต่ตัวเดียว 

              หรือผลไม้เมืองร้อนก็อันอันดับหนึ่งของโลก อย่างทุเรียนปีนี้ส่งออกเป็นมูลค่ากว่าสองหมื่นสี่พันล้านบาท การก้าวกระโดดของการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรไม่ใช่เกิดจากความฟลุกเหมือนการซื้อหวย แต่เกิดจากฝีมือของเกษตรกรไทยและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน นี่คือศักยภาพที่เรามี ขีดความสามารถในการแข่งขันที่เรามีภายใต้นโยบายปฏิรูปกระทรวงเกษตรฯและภาคเกษตรกรรมด้วยเทคโนโลยี เราจะก้าวสู่การเป็นประเทศชั้นนำของโลกเร็วกว่า 20 ปีที่วางเป้าหมายไว้อย่างแน่นอน 

 

 

           และแนวทางสุดท้ายคือการนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะมาดำเนินการกับโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบิ๊กฟาร์มหรือเกษตรแปลงใหญ่ วันนี้เกษตรแปลงใหญ่ได้รับการยกระดับขึ้นสู่เกษตรแปลงใหญ่ 4.0 เรามีเกษตรแปลงใหญ่ทั่วประเทศกว่า 6,000 แปลง มีตั้งแต่ 200 ไร่ ไปจนถึง 3,000 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมดทั่วประเทศกว่า 6 ล้านไร่ มีระบบบริหารจัดการโดยเกษตรกรและเพื่อนเกษตรกร วันนี้มีการนำเทคโนโลยีเข้าไปสู่การผลิตอย่างเต็มรูปแบบ  เกษตรกรยุคใหม่จะบริหารฟาร์มของตัวเองด้วยมือถือ นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่เราแสดงให้เห็น

             นี่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้กับภาคการเกษตรไทยผ่านมุมมองของที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “อลงกรณ์ พลบุตร”     

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ