ข่าว

หวั่นซ้ำรอยวิกฤติแย่งน้ำจี้ภาครัฐบอกความจริงปริมาณน้ำคงเหลือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประธานสภาเกษตรกรฯ วอนภาครัฐ เปิดเผยปริมาณน้ำที่เหลืออยู่จริง บอกความจริงเพาะปลูกได้หรือไม่ในวิกฤติน้ำครั้งนี้ 

 

8 พฤศจิกายน 2562 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้กล่าวด้วยความเป็นห่วงเกษตรกรว่า ต้องขอแจ้งเตือนไปยังพี่น้องเกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศ 

 

ทั้งนี้ในปีนี้เป็นปีที่สถานการณ์น้ำวิกฤติมากกว่าปีที่แล้ว โดยดูจากตัวเลขน้ำในอ่างเก็บน้ำโดยเฉลี่ยเหลือ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ บางอ่างเก็บน้ำต้องใช้ Dead Storage หรือน้ำก้นอ่างแล้ว เชื่อว่าฤดูแล้งปีนี้จะส่งผลทำให้เกิดปัญหาตามมาเยอะมาก อยากให้ผู้เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่าง ๆ รีบทำแผนรองรับวิกฤตินี้โดยด่วนซึ่งยังพอมีเวลาเหลืออีก 2-3 เดือน และต้องบอกความจริงกับเกษตรกรที่ได้เตรียมการเพาะปลูกอยู่ว่าสถานการณ์น้ำวิกฤติแบบนี้ยังจะสามารถเพาะปลูกต่อไปได้หรือไม่ ยังพอแบ่งปันน้ำลงในพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกรได้หรือไม่  เพื่อเกษตรกรจะได้เตรียมแผนรับมือสถานการณ์วิกฤตินี้ด้วยตนเองได้

               

“อย่าปล่อยให้สถานการณ์น้ำวิกฤติลุกลาม เกษตรกรไม่มีข้อมูลลงมือเพาะปลูก หว่านไถ แล้วจึงรู้ว่าไม่ได้น้ำเพื่อการเพาะปลูก หรือบางคนลงทุนลงแรงไปแล้วก็จะมีปัญหาทำให้เสียทรัพย์ ที่สุดจะเกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจตามมาแน่นอน” นายประพัฒน์ กล่าว

 

 

หวั่นซ้ำรอยวิกฤติแย่งน้ำจี้ภาครัฐบอกความจริงปริมาณน้ำคงเหลือ

 

 

ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่า พื้นที่ชลประทานเชื่อมั่นว่าต้องมีปัญหาการจัดการน้ำแน่ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานขณะนี้แล้งจริงจัง โดยเฉพาะไร่นาเริ่มแห้งขอด ขณะนี้อยู่ในช่วงนี้ปลายฝนยังพอมีน้ำตามผิวดินเก็บอยู่ แต่หากถึงเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม อาจจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ น้ำในพื้นที่ต่าง ๆ จะเริ่มแห้งขอด หากมีการเพาะปลูกไปแล้วไม่มีน้ำผลผลิตก็จะเสียหาย

 

เกษตรกรต้องตั้งสติ ตั้งรับ ทำแผน วิธีการในสถานการณ์อย่างนี้คือต้องไม่ลงทุน อย่าเสี่ยงลงทุนเพาะปลูกโดยที่ไม่เห็นอนาคต ใช้จ่ายเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ควรนำเม็ดเงินที่เหลืออยู่น้อยไปลงทุนเพิ่มจนกว่าจะมั่นใจว่ามีน้ำให้กิจกรรมเพาะปลูกได้ หรือหากิจกรรมอื่นที่ไม่ใช้น้ำหรือใช้น้ำน้อยที่สุด กิจกรรมเดิมที่ต้องใช้น้ำเยอะควรระงับ เช่น การทำนาปรังในพื้นที่ปลายท้ายน้ำเพราะการส่งน้ำอาจมาไม่ถึง ท้ายที่สุดชาวนาก็ต้องแย่งน้ำกันเอง

 

อย่างไรก็ตาม สภาเกษตรกรฯ ได้เรียกร้องและเสนอไปยังรัฐบาลนานแล้วว่าควรมีกองทุนเพื่อการปรับเปลี่ยนการผลิตปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำมาก เพื่อให้เกษตรกรสามารถเอาเม็ดเงินต่าง ๆ ที่ต้นทุนต่ำมาเริ่มปรับโครงสร้างการผลิต เช่น การปลูกไผ่ การทำปศุสัตว์ การปลูกไม้ยืนต้นอายุยืนยาว การทำสวนผลไม้ ซึ่งต้องใช้เวลา 5-6 ปี จึงจะได้เม็ดเงินคืนมา หากเกษตรกรรายใดมีขีดความสามารถจะปรับเปลี่ยนการผลิตของตัวเองได้ให้ลงมือทำได้เลย

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ