ข่าว

ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือน พ.ย.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดราคาสินค้าเกษตรเดือนพ.ย. น้ำตาลทรายดิบ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน แนวโน้มราคาเพิ่มขี้น ข้าวเปลือกเจ้า หอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาลด

 

 

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร เดือนพฤศจิกายน ทั้งน้ำตาลทรายดิบ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพาราแผ่นดิบ มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง

 

          นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่จัดทำโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม  ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ น้ำตาลทรายดิบ ตลาดนิวยอร์ก คาดว่าราคาขายอยู่ที่ 12.44-12.57 เซนต์/ปอนด์ (8.32-8.41 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.00-2.00 เนื่องจากการเข้าซื้อน้ำตาลทรายคืนจากตลาดของกลุ่มกองทุน (short-covering) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์ของจีนที่กำลังจะอนุญาตให้บริษัทเอกชนนำเข้าน้ำตาลที่มีอัตราภาษีต่ำ เพื่อจัดสรรโควตาให้กับบริษัทของรัฐบาลถึงร้อยละ 70 ซึ่งจะกระตุ้นให้ประเทศจีนยังคงโควตานำเข้าน้ำตาลในปี 2563

 

           มันสำปะหลัง ราคาขายอยู่ที่ 1.71 -1.79 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.18 – 5.92 เนื่องจากมีมาตรการดูแลเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจากภาครัฐเพิ่มเติม อาทิ การส่งเสริมการใช้มันสำปะหลังในประเทศเพิ่มขึ้น เร่งรัดการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ประเทศจีน อินเดีย ตุรกี และนิวซีแลนด์ เป็นต้น มาตรการชะลอการขุดกรณีผลผลิตออกเป็นจำนวนมาก และชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกร มาตรการควบคุมการขนย้ายและคุมเข้มการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้แก่ราคามันสำปะหลัง  

 

          ปาล์มน้ำมัน ราคาขายอยู่ที่ 2.91-3.01 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.75 – 5.24 เนื่องจากมาตรการต่อเนื่องของภาครัฐในการส่งเสริมให้รถยนต์ใช้น้ำมันดีเซล B10 และ B20 โดยสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภค ด้วยการลดราคาน้ำมัน B10 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซล B7 และได้มีการขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันให้เพิ่มปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 ในสถานีบริการ มาตรการดังกล่าวถือเป็นการปรับสมดุลปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน และช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบในตลาดเพิ่มมากขึ้น  

 

          สุกร ราคาขายอยู่ที่ 61.25 - 62.50 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.40 – 2.40 เนื่องจากเป็นช่วงเปิดภาคเรียน ซึ่งโดยปกติมีความต้องการบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มขึ้น แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงยังมีความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) จึงทำให้เกษตรกรบางส่วนเร่งระบายผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก        

 

          กุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัว/กก. ราคาขายอยู่ที่ 124.50 – 126.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.40 – 3.30 เนื่องจากอากาศเริ่มเย็นลง ทำให้กุ้งเจริญเติบโตช้า และเกษตรกรมีการปรับตัวในการเลี้ยงกุ้ง โดยลดปริมาณการปล่อยลูกกุ้งและทยอยจับสลับกับการลงกุ้งก้ามกราม แต่ยังคงมีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำจากสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับจีน และค่าเงินบาทที่แข็งกว่าประเทศคู่แข่งขัน
    

          ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% คาดว่าราคาขาย อยู่ที่ 7,868-7,920 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.10-0.76 เนื่องจากค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย ปรับลดการนำเข้าข้าวจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาขายอยู่ที่ 16,087-16,172 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.77-1.29 เนื่องจากผลผลิตข้าวหอมมะลิออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยข้าวหอมมะลิ 105 เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2562  

 

           ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาขายอยู่ที่ 14,050-14,158 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.58-1.34 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาขายอยู่ที่ 7.32-7.36   บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.50-2.00 เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดมากในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกชุก ทำให้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีความชื้นสูง ผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์จึงไม่นิยมซื้อเก็บสต็อกไว้ ส่งผลให้ความต้องการใช้ภายในประเทศทรงตัว  

 

           ยางพาราแผ่นดิบ ราคาขายอยู่ที่ 35.08-35.37 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.25-1.06 เนื่องจากค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และความต้องการจากประเทศจีนลดลง เนื่องจาก บริษัท ฉงชิ่ง จำกัด รัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้รับซื้อยางพารารายใหญ่ของประเทศจีนปิดกิจการ ประกอบกับบริษัทต่างประเทศเริ่มมีการเคลื่อนไหว หยุดใช้ยางพาราและไม้ยางพาราที่ไม่ผ่านมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-"มณัญญา" บุกกรมวิชาการเกษตร ทวงถามเอกสารสต๊อกสารพิษ
-แฉ ! กระทรวงเกษตรฯยังนำเข้าพาราควอต
-เฉลิมชัย ชงแต่งตั้งซี 10 เข้าครม. 4 ตำแหน่ง
-โยกย้าย ล็อตแรก เขย่าแรงบิ๊กเกษตร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ