ข่าว

อลงกรณ์ ยันรัฐบาลห่วงใยชาวประมง เร่งแก้กม.ล้าหลัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อลงกรณ์" เผยเกษตรฯ เร่งแก้ปัญหาประมงทั้งระบบ ปล่อยสินเชื่อเสริมสภาพคล่องทุ่มงบกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท เดินหน้าเต็มสูบพร้อมแก้กฎหมายล้าหลังไม่เป็นธรรม

 

 

“อลงกรณ์” ยืนยันรัฐบาลห่วงใยชาวประมง เร่งรัดแก้ไขปัญหาประมงคืบหน้า ทั้งเรื่องสินเชื่อประมงและการซื้อเรือออกนอกระบบใช้งบเกือบ 2 หมื่นล้าน รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายล้าหลังไม่เป็นธรรม


          เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 62 - นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยระบุว่า รัฐบาลไม่มีมาตรการในการช่วยเหลือและไม่ได้รับการเหลียวแลและมีการดำเนินการที่ล่าช้ามาก ว่า นายกสมาคมการประมงได้ร่วมประชุมกับทุกสมาคมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอด 3 เดือนถึง 8 ครั้งและมีการประชุมย่อยอื่นๆ กว่า 10 ครั้ง ย่อมทราบถึงความใส่ใจของรัฐบาลที่มีต่อชาวประมงและความก้าวหน้าในแต่ละข้อเรียกร้องซึ่งมีถึง 34 เรื่อง จึงไม่เข้าใจว่าทำไมถึงออกมาพูดราวกับว่ารัฐบาลไม่เหลียวแล

 

           จึงต้องชี้แจงว่าปัญหาประมงที่สะสมหมักหมมมานานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการร่วมกับสมาคมประมงทุกสมาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหาและฟื้นฟูศักยภาพประมง เช่น โครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูศักยภาพทั้งประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ และประมงนอกน่านน้ำ 1 หมื่นล้าน โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยกว่า 2 พันล้าน และโครงการซื้อเรือที่ประสงค์จะนำออกนอกระบบกว่า 2 พันลำ วงเงิน 7 พันล้าน เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนเป็นวงเงินรวมกันกว่า 17,000 ล้าน ซึ่งรัฐมนตรีเกษตรฯได้ลงนามไปตั้งแต่เดือนที่แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป โดยเฉพาะโครงการสินเชื่อจากธกส.นั้น ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ ธกส.จะให้สินเชื่ออาชีพประมงและไม่เคยมีรัฐบาลใดเคยดำเนินการมาก่อน


           สำหรับข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ไขกฎระเบียบและกฎหมายประมงนั้น กระทรวงเกษตรฯได้ตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานทั้งยกร่างกฎหมายใหม่เช่น พ.ร.บ.กองทุนประมง และพ.ร.บ.สภาการประมงแห่งชาติ ให้แล้วเสร็จใน 90 วัน รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบ กฎหมายที่มีบทบัญญัติโทษรุนแรงเกินมาตรฐานสากลและกฎไอยูยู (IUU) ซึ่งหลายฉบับอยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกาและเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ส่วนการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานตามมาตรา 83 ของ พ.ร.ก.ประมงนั้น กรมประมงได้ส่งเรื่องให้กระทรวงแรงงานแล้วเพื่อนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อดำเนินการจัดหาแรงงานประมงต่อไป      

 

            “หลังจากประชุมร่วมกับทุกสมาคมประมง 6 ครั้งใน 6 สัปดาห์แรกจนมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทยและคณะอนุกรรมการ 4 คณะได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพื้นบ้าน 2.คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพาณิชย์ และการประมงนอกน่านน้าไทย 3.คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้า และ 4.คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประมงตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาการประมงของไทยแบบยั่งยืน โดยมีการประชุมทันทีหลังมีการแต่งตั้งอย่างน้อย 2 ครั้งในเดือนตุลาคม รวมทั้งสร้างโอกาสให้กับชาวประมงและผู้ประกอบการประมงด้วยการขยายความร่วมมือไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนกลุ่มประเทศแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งองค์การสากลเช่นยูเอ็นและองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO)" นายอลงกรณ์ กล่าว

 

          สำหรับปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ เป็นผลเนื่องมาจากการนำเข้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศนั้น ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดการบังคับใช้กฎหมายและมีมาตรการในการควบคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำให้เป็นไปตามมาตรฐานการแก้ไขการทำการประมงผิดกฎหมาย รวมถึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างเข้มข้นและจับกุมไปแล้วหลายกรณีเพื่อป้องกันการทะลักเข้ามาของสินค้าสัตว์น้ำที่ผิดสุขอนามัยสัตว์น้ำและได้จากการทำการประมงผิดกฎหมาย
 ◦

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ