ข่าว

อดีตบิ๊กกรมวิชาการเกษตรแฉขั้นตอนแบนสารเคมีไม่โปร่งใส  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

2​ อดีตอธิบดี​กรมวิชา​การเกษตร​ เป็นพยานไต่สวนฉุกเฉิน​ศาลปกครอง หลังเกษตรกร ยื่นคำร้องให้เพิกถอนคำสั่งแบน​ 3​ สารเคมี แฉขั้นตอนไม่โปร่งใส ไร้ตัวแทนเกษตรกร

 

30  ตุลาคม 2562 นายอนันต์​ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย​ อดีตอธิบดี​กรมวิชา​การเกษตร​ ที่ลาออกจากตำแหน่งไปลงสมัครเป็น​ สว.สุราษฎร์ธานี​ เมื่อปี​ 2544 เปิดเผยว่า​ ผลกระทบจากการมีมติแบนสารเคมี​การเกษตร​ ของคณะกรรมการ​วัตถุอันตราย​ เมื่อวันที่​ 22​ ตุลาคม​ ที่ผ่านมา​ ทำให้ไม่อาจนิ่งเฉยเห็นเกษตรกรเดือดร้อน​  

 

ทั้งนี้ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น​ สารทดแทนก็เป็นสารเคมีที่มีราคาสูงกว่า จึงตัดสินใจมาเป็นพยานในการไต่สวนฉุกเฉินของศาลปกครอง​ กรณีคำสั่งแบนสารเคมี​ หลังกลุ่มเกษตรกร​ 6​ จังหวัด​ 1,011  คน​ ยื่นร้องต่อศาลไปเมื่อวันที่​ 28​ ตุลาคม​ ที่ผ่านมา​

 

นายอนันต์​ บอกว่า​ เหตุผลและขั้นตอนการแบนสารเคมี​ของคณะกรรม​การวัตถุอันตราย​ ไม่โปร่งใส​ โดยเห็นว่า​ 1. สารเคมีดังกล่าวไม่ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง​ต่อสังคม​ ตามที่กลุ่มเอ็นจีโอกล่าวอ้าง​ 2.​กรรมาธิการ​ปัญหาสารเคมี​ภาคการเกษตร​ ของสภาผู้แทนราษฎร​ ไม่มีตัวแทนเกษตร​กรร่วมเป็นกรรมการ​ และ​ 3. คณะกรรมการ​ 4​ ฝ่าย​ ที่ตั้งขึ้นตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี​ ไม่มีตัวแทนเกษตร​ที่ใช้สารเคมี​  มีแต่นักวิชาการ​ และกลุ่มเกษตรอินทรีย์​ 

 

"จะเห็นได้ว่า​ไม่มีตัวแทนเกษตรกร​ ในคณะกรรมการใดๆเลยที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณา​แบน​ จนต้องพึ่งอำนาจศาล​ ซึ่งศาลก็เมตตาไต่สวน​ ให้ผู้ถูกร้อง​มาพบด้วย​ ให้ผู้ร้องได้พูดถึงผลกระทบ​ ศาลจึงเป็นเวทีเดียวที่เกษตรกรได้พูด"

 

มติของคณะกรรมการ​วัตถุ​อันตราย​ เป็นการประชุมที่รวบรัดตัดความไม่มีข้อมูลใหม่  การเอาผลการมติ​ 4​ ฝ่าย​ กระทรวง​เกษตรฯ​ ที่มี​ นส.มนัญญา​ ไทย​เศรษฐ์​ รมช.เกษตร​ฯ​ เป็นประธาน​ เป็นการชี้นำจากฝ่ายการเมือง โดยคณะกรรมการ​วัตถุ​อันตราย​ อ้างเหตุผลการแบนจากมติที่ประชุม​ 4​ ฝ่าย​ กระทรวง​เกษตรฯ เข้าไปประกอบการพิจารณา นับว่าขาดความชอบธรรม​ เพราะไม่มีอะไรใหม่เลย​ เป็นเพียงการรวมเล่ม​เอกสารเท่านั้น 

 

ตนสงสัยว่าทำไมไม่แบน​ กลูโฟสิเนต​ ซึ่งกำลังกล่าวถึงในฐานะสารทดแทนพารา​ควอต​ ซึ่งสารตัวนี้​ สภาพยุโรปก็แบนไปแล้ว​ นอกจากจะเพิ่มต้นทุนเกษตร​กร​แล้ว ยังอาจทำมีการลักลอบซื้อสารเคใต้ดิน​ ที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน​ และมียาปลอมระบาดมากขึ้น​ 

 

การแบนสารเคมีเกษตรไม่เพียงจะส่งผลกระทบ เกษตรกรเท่านั้น​ แต่ยังส่งผลกระทบต่อการนำเข้า​ เนื่องจากหากมีการแบนสารเคมี สินค้านำเข้าที่ใช้สารเคมีก็จะถูกแบนไปด้วย​ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก​ คือการนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลี​ จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ใช้สารเคมีในการปลูก ก็จะไม่สามารถนำเข้าประเทศไทยได้ ปัญหาจะยิ่งบานปลาย จากการตัดสินใจที่ไม่รอบคอบ 


 "รัฐมนตรีบางคน สร้างกระแส ใช้สื่อช่วยกระพือ​ กำหนดนโยบายโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ จึงอยากขอวอนสื่อว่าอย่าไปสอนให้เกษตรกรถอนหญ้า เพราะคำนวณเรื่องค่าแรงแล้วไม่คุ้มทุน" นายอนันต์​ กล่าว
       

นาย​อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดี​กรมวิชาการเกษตร​  ที่เกษียณ​ไปเมื่อปี​ 2550​ บอกว่ากระบวนการแบนสารเคมี​ ไร้สาเหตุที่มาเพียงพอ​ โดยหากอ้างการตรวจพบสารเคมีตกค้างในพืชผักของไทยแพน  ก็จะพบแต่เพียงยาฆ่าแมลง​ คลอไพลิฟอส​ แต่ไม่พบยาฆ่าหญ้า ที่เป็นไกลโฟเสต และพาราควอต  จะพบก็แต่อาทาซีน​ ไม่เห็นด้วยกับการแบน​ ไกลโฟเซต​ และพาราควอตซึ่งเป็นสารเคมีจำเป็นที่เกษตรกร​จำเป็นต้องใช้ ซึ่งก็ไม่พบการตกค้างในพืชผักที่กินเป็นอาหารด้วย

 

อย่างไรก็ตามสำหรับการยื่นคำฟ้องศาลปกครอง ของกลุ่มเครือข่ายคนรักแม่กลอง ในคำขอท้ายฟ้องนั้นผู้ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฯ ที่สั่งระงับ การผลิต - จำหน่าย -นำเข้า-ครอบครอง หรือการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ให้กลับไปเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 และขอให้ รมว.เกษตรฯ สั่งกรมวิชาการเกษตร หรือหน่วยงานในสังกัด กำหนดแผนรองรับแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกษตรกร ได้รับผลกระทบจากการออกมติดังกล่าว เช่น การกำหนดสารทดแทน ที่มีราคาใกล้เคียง กับสารเคมีทั้ง 3 , ขอให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดกำหนดแนวทางบริหารจัดการสารเคมีทั้ง 3 ชนิดในทางการเกษตร ในประเทศไทยเพื่อไม่ก่อให้เกิด ผลกระทบ ต่อเกษตรกร และผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ