ข่าว

เวทีประวัติศาสตร์ ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้าน ร่วมแก้ที่ดินทับซ้อน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เวทีประวัติศาสตร์ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ว. ลงพื้นที่สุราษฎร์ รับฟังปัญหาที่ดินทับซ้อน วอนรัฐช่วยเหลือ

 

 

สถาบันธรรมาภิบาลไทย เปิดรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จ.สุราษฏร์ธานี เรื่องปัญหาที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าสัมปทาน เดือดร้อนยาวนานกว่า 16 ปี โดยมี ผู้ช่วยรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภาพร่วมรับเรื่องความเดือดร้อน

 

เวทีประวัติศาสตร์ ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้าน ร่วมแก้ที่ดินทับซ้อน

 

          วันที่ 27 ต.ค.62 ที่ศาลาประชาคม ที่ว่าการอำเภอท่าชนะ จ.สุราษฏร์ธานี สถาบันธรรมาภิบาลไทยได้จัดเวทีเสวนา เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน เรื่อง “การปฏิรูปที่ดินป่าสัมปทาน 16 ปีที่รอคอย” มีวิทยากรที่มาให้ข้อมูลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรร่วมรับฟังและรับเรื่องความเดือดร้อน อาทิ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่ (พรรคร่วมรัฐบาล) ,นายอารี ไกรนรา ส.ส.พรรคเพื่อชาติ (พรรคฝ่ายค้าน) ,รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกวุฒิสภา ,นายเสถียร จันทร์เดช รองปธ.สภาเกษตรกร จ.สุราษฎร์ธานี , นายสกุล นาคบำรุง ผู้นำกลุ่มเรียกร้องที่ดิน จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีพี่น้องประชาชนเกษตรกรจากอ.ท่าชนะ อ.คีรีรัฐนิคม อ.พนม อ.พระแสง อ.วิภาวดี อ.ท่าฉาง อ.บ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี และตัวแทนเกษตรกร อ.ละอุ่น จ.ระนอง  จ.ชุมพร จ.กระบี่ รวมกว่า 5,500 คน  

 

          นายธงชัย สุวรรณวิหค ที่ปรึกษาสถาบันธรรมาภิบาลไทย กล่าวถึงที่มาของการจัดเวทีว่าเสวนาว่า เราเคลื่อนงานภาคประชาสังคมมากว่า 10 ปี ผ่านอาสาสมัครพัฒนาชุมชน ปัญหาสิทธิในที่ดินทำกิน ซึ่งพบว่ายังมีปัญหาความเดือดร้อนอยู่อีกมาก สถาบันธรรมาภิบาลไทยเชื่อว่า ที่ดินทำกินเป็นปัจจัยการอยู่รอดของภาคเกษตร ปัญหาคือ ที่ดินทำกินที่ถูกต้อง แต่เป็นปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ ถือเป็นปัญหามาก ซึ่งการแก้ปัญหาในเรื่องที่มีความเกี่ยวเนื่องมานานตั้งแต่ พวกเรายังเป็นเด็ก เราเจอปัญหามาโดยตลอด การไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินทำกิน เป็นไปได้ยากมาก 

 

เวทีประวัติศาสตร์ ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้าน ร่วมแก้ที่ดินทับซ้อน

 

          วันนี้จึงเป็นโจทย์สำคัญ ทำไมสิทธิในที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐาน ทำไมถึงออกให้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ป่าสงวน ที่ครอบครองมานานกว่า 20 ปี ป่าอนุรักษ์ ที่ประกาศตอนที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ก่อนแล้ว หรือป่าที่หมดอายุการเช่าแล้ว รัฐบาลมีมติจัดสรรให้พี่น้องประชาชน แต่ปัจจุบันนี้ ทำไมยังแก้ปัญหาไม่ได้ เกิดการปะทะกันบาดเจ็บล้มตาย ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ที่ผ่านมาจึงทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในหลายเรื่อง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น รัฐให้เงินชดเชยผลผลิตเกษตรตกต่ำ ต้องใช้เอกสารสิทธิ แค่เงินชดเชย เกษตรกรก็ไม่สามารถได้รับ  นั่นก็ถือว่าเป็นความเดือดร้อน ความเลื่อมล้ำของเกษตรกรแล้ว


          แต่รัฐบาลในอดีต รัฐบาลให้เอกชนเช่าที่ดินของรัฐแต่พอหมดสัญญาเช่าแล้ว กลับไม่ดำเนินการอะไร เมื่อชาวบ้านขอใช้สิทธิบ้าง บุกเข้าพื้นที่ก็เกิดการปะทะกัน เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการตามกฎหมาย มีปัญหาคาราคาซังมานานหลายปี ผ่านหลายรัฐบาล ก็ได้แค่รับหนังสือแล้วก็เงียบไป  แต่เราเชื่อว่า การจัดเสวนาในวันนี้ จะไม่สูญเปล่า เราต้องหาคำตอบ หาแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ได้ ก็ขอผลักดันเต็มที่

 

เวทีประวัติศาสตร์ ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้าน ร่วมแก้ที่ดินทับซ้อน

 

          ด้านนายเสถียร จันทร์เดช รองปธ.สภาเกษตรกร จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า วันนี้มีพี่น้องที่เดือดร้อนจากปัญหาที่ดินทำ ที่ผ่านมาเราได้สะท้อนความเดือดร้อน ยื่นกับมือให้นายกรัฐมนตรี ตอนมาที่สุราษฎร์ธานี ไปแล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้า และในการเสวนาในวันนี้ ขอพูดเรื่อง ปัญหาที่ดินทำกินอย่างเดียว


          ปัญหาความเดือดร้อน เริ่มจากการการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่ามาตั้งแต่ปี 2522-2525 ต่อมาปี 2534 รัฐบาลได้มีการประกาศกฤษฎีกากำหนดพื้นที่เขตอุทยาน พื้นที่ป่าต้นน้ำ ต่อมาก็มีกฤษฎีกาประกาศเขตปฏิรูปที่ดินการเกษตร ทั้งอำเภอท่าชนะ เมื่อประกาศเสร็จ กรมป่าไม้ และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ก็มาสำรวจพื้นที่ ซึ่งอยู่ติดกับ บริษัท กมลา ภูเก็ต ต่อมาได้มีบริษัท ประมงวิชิต มาขอใช้พื้นที่ ต่อมากองทัพอากาศ ก็ขอใช้พื้นที่ 19,200 ไร่ แปลงที่ 4 ตั้งแต่บ้านคลองรอก ก็มีกองทัพอากาศของใช้พื้นที่อีก 33,550 ไร่ รวมทั้ง 4 แปลง อยู่กว่า 6 หมื่นกว่าไร่เศษ

 

          ต่อมาปี 2526 ได้มีบริษัท ประมงวิชิต เริ่มเอาเครื่องจักรเข้าพื้นที่เข้ามาปรับพื้นที่ในเขตการใช้พื้นที่ของ กองทัพอากาศ แต่ชาวบ้านได้รวมตัวกันต่อต้าน จนบริษัทยอมถอยออกจากพื้นที่ มันเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับประชาชนที่ถือครองที่ดินอยู่ก่อนแล้ว จนมีปัญหาคาราคาซังอยู่ ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ในพื้นที่หรือแม้แต่กระทั่งกองทัพอากาศก็ได้หยุดเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่

 

เวทีประวัติศาสตร์ ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้าน ร่วมแก้ที่ดินทับซ้อน

 

          ข้อเท็จจริงพี่น้องประชาชนอยู่ในเขตอุทยานซึ่งเยอะมากทั้งหมู่บ้าน ปัจจุบันมีพี่น้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ประมาณ 4,600 กว่าครัวเรือน แต่เมื่อรัฐบาลออกคำสั่ง 66/57 ออกคำสั่งแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน แต่ปัญหาที่พี่น้องต้องการนี้ ปชช.ยังงงสับสน เพราะตอนนี้ มีป่าไม้ บอกรัฐจะเอาพื้นที่มาให้เกษตรกรที่สนใจเช่า แต่พวกเราไม่เอาแบบนี้ พวกเราอยากให้ที่ดินเอาที่คืนมาให้ สปก. เพื่อจัดสรรให้เกษตรกร ก็ถือเป็นการแก้ปัญหาง่ายจบเรื่องเลย

 

          ด้านนายสกุล นาคบำรุง ผู้นำกลุ่มเรียกร้องที่ดิน จ.สุราษฏร์ธานี ที่ผ่านมาชาวบ้านดือดร้อน ตั้งแต่ปี 2546 เมื่อมติครม.ออกมาว่า บริษัทเอกชน ที่ถือครองที่ดินที่ไม่ถูกต้อง ปัจจุบันที่ดินที่ถือของมีอยู่ 3 หน่วยงาน คือ ที่ดินกรมที่ดิน ที่ดินปฏิรูป และที่ดินราชพัสดุ ที่ผ่านมาเราเคยยื่นเรื่องขอ MOU กับ นายอำเภอ เพื่อขอให้ประชาชนได้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดิน ที่หมดสัญญา โดยปัญหานี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยมีแนวทางแก้ไขมาแล้ว โดยออกมติคณะรัฐมนตรี ที่แจ้งว่า ที่ดินที่บริษัทเอกชนปลูกปาล์ม เมื่อหมดอายุแล้วก็ขอให้คืนพื้นที่แล้วจะให้รัฐเอาคืนมา แล้วแบ่งพื้นที่เป็น 50/50 จัดสรรให้เกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน และบริษัทที่เช่าเดิม ได้เก็บอาสินในพื้นที่
ที่ผ่านมา เกษตรกรคนยากจนเราลำบากมาก บริษัทเอกชน เข้าใช้พื้นที่เป็นหมื่นๆไร่ ไม่มีเอกสารการเช่า ไม่เป็นไร แต่เกษตรกรเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่กลับถูกจับดำเนินคดี ดังนั้น วันนี้ถือเป็นโอกาสดี ที่พี่น้องเกษตรกรจะได้ยื่นเรื่องไปยังท่านเพื่อขอให้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนด้วย

 

          ขณะที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า การเสวนานำเสนอปัญหาในวันนี้จะไม่สูญเปล่า ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ จากปัญหาหลายอย่างเช่น ป่าสัมปทานนับตามอายุ วันที่มีมติครม. ก็นับได้ 16 ปี ที่มีปัญหาอยู่ ทั้งปัญหาชาวบ้านด้วยกันเองบุกรุกกันเอง นายทุนหมดสัญญาเช่าหมดเวลา แต่ไม่ย้ายออก จึงได้ให้คนของตัวเองเข้ามาบุกรุกยึดครอง เผชิญหน้ากับชาวบ้าน ปัญหารัฐประกาศพื้นที่ทับซ้อน นี่ก็เกิดปัญหาขึ้นมา ยาวนาน ซึ่งหลังจากรับเรื่องแล้ว นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผช.รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะนำเรื่องเสนอผ่านคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งจะนำเรื่องเข้าสู่กรรมาธิการ 

 

          ปลายทางที่ต้องการคือ 1.มีที่ดินทำกินที่ชัดเจน มีสิทธิในที่ดินทำกินที่ชัดเจน 2.ผลักดันให้มีเอกสารที่ชัดเจน โดยสรุป ในพื้นที่ป่าไม้ ออกเขตป่าสงวน ปรากฏว่าไปทับที่ดินที่ครองครองกับชาวบ้าน ต้องไปพิสูจน์สิทธิโดยยึดกับการเพาะปลูกมาก่อน แต่พื้นที่ป่าต้นน้ำ ต้องย้ายพี่น้องออกแล้วจัดสรรพื้นที่ให้ใหม่ 3.พื้นที่ป่าสัมปทานหมดอายุ อยู่ในเขตป่าธรรมดา ต้องจัดสรรให้กับชาวบ้านตามมติครม. เมื่อจัดสรรเสร็จก็ต้องออกเอกสารสิทธิให้กับชาวบ้าน ถ้าออกเอกสารสิทธิช้า ก็ขอให้จัดสรรก่อน 4.กรณีสัมปทานที่หมดอายุ หรืออยู่ในพื้นที่ สปก. ก็ต้องให้สปก. ออกกฎหมาย 5.การใช้กฎหมายที่จะแก้ไขปัญหา 

 

          ส่วนเรื่องการนำพื้นที่มาจัดสรรต้องมีหลักเกณฑ์ ให้ชัดเจน 1.การจัดสรรต้องอยู่บนพื้นที่ฐานให้กับเกษตรกรที่ยากจน กรรมการต้องมีคำจำกัดความที่ชัดเจน 2.ต้องจัดสรรให้ผู้ที่เข้ามาทำกิน เช่น ที่ป่าท่าชนะ แต่บ้านเดิมอยู่สงขลา จะมีสิทธิเข้ามาจัดสรรหรือไม่ ถ้ามติครม.มีมติว่า การจัดสรรให้เฉพาะและพื้นที่ใกล้เคียง 3.จัดสรรให้เป็นไปตามพื้นที่สปก. กี่ไร่ ก็ต้องเอาตามประกาศนั้น การพิสูจน์สิทธิของคนที่ครอบครองก่อนป่าสงวน เมื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ แต่พี่น้องที่อยู่ในป่าต้นน้ำ คณะกรรมการต้องยอมจัดสรรพื้นที่ สำหรับคนที่ออกจากป่าต้นน้ำ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว 
 

          นายอารี ไกรนรา ส.ส.พรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราเรียกร้องกันอย่างสะเปสะปะ ไม่มีรูปธรรม แต่ครั้งนี้ถือว่ามีแนวทางที่ถูกต้องมากที่สุด ตนเชื่อว่าครั้งนี้ไม่น่าจะผิดหวัง การรับฟังปัญหาในวันนี้ เราจะนำปัญหานี้ไปเข้าที่ประชุม คณะรัฐมนตรีได้พิจารณา พร้อมทั้งจะเสนอกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาให้สำเร็จ  

 

          รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ส.ว. กล่าวว่า ขออย่าได้กังวลใจ พวกเราจะทำเรื่องนี้ทันที ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ก็เห็นร่วมกันว่าการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ 
นอกจากปัญหาที่ อ.ท่าชนะ แล้ว ยังมีตัวแทนประชาชน จาก จ.กระบี่ ซึ่งมีปัญหาความรุนแรงกว่านี้ ก็ต้องจะไปติดตามรับฟังปัญหาในพื้นที่จ.กระบี่ ต่อไป   

   
          ขณะที่ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ในวันนี้ มีทั้งส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้าน ก็จะได้นำเสนอปัญหานี้ผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร ถือเป็นเรื่องดีที่จะได้ช่วยกันผลักดันแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ตนจะรวบรวมทุกปัญหา แยกเป็นประเด็น สรุปนำเรียนนายกรัฐมนตรี ให้เร็วที่สุด และจะทำสำเนารายงานทุกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและแก้ปัญหานี้ต่อไป.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ